xs
xsm
sm
md
lg

EIC SCB ปรับเป้า ศก.ยกแผง สงครามการค้ายืดเยื้อ จับตาจ้างงานลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


EIC SCB ปรับเป้าตัวเลขเศรษฐกิจยกแผง จีดีพีโตเหลือ 2.8% ระบุสงครามการค้าส่งผลในวงกว้าง จับตาการว่าจ้างงานภาคอุตสาหกรรมลดต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาทยังแข็งค่า และสินเชื่อแบงก์ยังเป็นขาลง ส่วนจีดีพีปีหน้าโตทรงตัวที่ 2.8%

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) เปิดเผยว่า EIC ได้ปรับลดประมาณจีดีพีไทยลงที่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ 3.0% และประมาณการจีดีพีปี 2563 ที่ระดับ 2.8% เช่นเดียวกัน เนื่องจากมองว่าผลจากสงครามการค้าจะยังคงมีอยู่ และยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยการปรับลดจีดีพีในปีนี้มาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ สงครามการค้าที่กระทบเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่เห็นจุด bottom ซึ่งตัวเลขล่าสุดได้กระจายไปสู่ธุรกิจในวงกว้างมากขึ้น และนำพาไปสู่ตัวเลขการว่าจ้างงานภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ที่หดลงประมาณ 3.7% และยังเป็นไปได้ที่หดตัวลงต่อเนื่อง

รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่า 30.3-30.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่มีค่าเฉลี่ยใน 5 ปีที่แข็งค่าขึ้นถึง 24% และปีนี้แข็งค่าขึ้นอีก 8% ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกแล้ว ยังกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันด้วย และก็ยังมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นโดย EIC จากเดิมที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงตามเงินบาทที่แข็งค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังเติบโตได้ดีโดยคาดการณ์นักท่องเที่ยวปีนี้ที่ 40.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1% ปีหน้า 41.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.8%

"การแข็งค่าของเงินบาทนอกจากปัจจัยเรื่องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว ยังเป็นเรื่องของสงครามค่าเงินกลายๆ ด้วย เพราะเมื่อดีมานด์ในตลาดโลกลดลง สิ่งที่ทุกคนแข่งกันก็คือ ทำอย่างไรให้ขายได้มากไป ก็มาแข่งกันทำให้ค่าเงินอ่อนค่า ก็เลยกลายเราต้องเข้าสู่สงครามค่าเงินไปกลายๆ ทีนี้ในภาวะที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงๆ จะทำยังไง สิ่งที่ในหลายประเทศทำก็คือ ส่งเสริมให้มีการขยายการลงทุนไปในต่างประเทศซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ทำแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเข้าไปในห่วงโซ่นี้ด้วย"

และปัจจัยเชิงโครงสร้างจากวัฏจักรการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในขาลง หลังจากที่เพิ่มขึ้นสูงมาต่อเนื่อง สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ารายได้ ทำให้ต้องมีการจำกัดการเติบโต ทั้งในส่วนของมาตรการควบคุมของทางการ สถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น และความไม่มั่นใจของผู้บริโภคเอง ดังจะเห็นได้จากการชะลอตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัย และเช่าซื้อรถยนต์ที่สอดคล้องต่อยอดขายบ้านและรถที่ลดลงเช่นกัน ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินทั้งระบบอยู่ในระดับ 7% ซึ่งยังคงต้องจับตาดูต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจก็ยังเป็นส่วนของการลงทุนภาครัฐทั้งในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการ EEC ซึ่งจะมีผลเต็มที่ในปีหน้า หลังจากที่มีความล่าช้าในปีนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาโดยจากมูลค่ารวม 300,000 ล้านบาท มีผลกระตุ้นจีดีพีประมาณ 0.3% และโครงการชิมช้อปใช้ 10,000 ล้านบาท มีผลกระตุ้นจีดีพี 0.03% จะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับการนำไปสู่การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสุทธิ

ทั้งนี้ จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว เราจึงยังเห็นการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินทั้งทางด้านดอกเบี้ยและนโยบายการคลัง โดย EIC มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในไตรมาส 4 ปีนี้ ขณะที่เฟดน่าจะปรัฐลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ และอีก 1 ครั้งในปีหน้า

นายยรรยง กล่าวอีกว่า แม้ว่ามาตรการทั้งการเงินและการคลังจะอยู่ในระดับผ่อนคลาย แต่เราก็อยากเห็นมาตรการทางการเงินที่มีความผสมผสานระหว่างนโยบายดอกเบี้ยกับการดูแลค่าเงินบาท รวมถึงลดการตึงตัวของสินเชื่อในบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ขณะที่มาตรการทางคลังนั้น ควรผสมผสานระหว่างการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ และการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานและทักษะงานฝีมือต่างไปเพื่อเพิ่มศักยภาพในระยะยาว โดยเฉพาะทักษะในด้านดิจิทัลที่เรายังขาดบุคลากรอีกมาก

อนึ่ง EIC SCB ได้ปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงดังนี้ จีดีพี 2.8% จากเดิม 3.0% การบริโภคเอกชน 4.2% จากเดิม 4.5% การบริโภคภาครัฐ 1.9% จากเดิม 2.0% การลงทุนภาคเอกชน 2.8% จากเดิม 3.4% การลงทุนภาครัฐ 2.2% จากเดิม 2.9% มูลค่าการส่งออก -2.5% จากเดิม -2.0% มูลค่าการนำเข้า -3.4% จากเดิม -2.9% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.8% จากเดิม 0.9% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.5% จากเดิม 0.6% ราคาน้ำมันดิบ Brent -10.6% จากเดิม -7.3% ค่าเงินบาท 30.3-30.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25%

ส่วนประมาณการปี 2563 จีดีพี 2.8% การบริโภคเอกชน 3.2% การบริโภคภาครัฐ 2.0% การลงทุนภาคเอกชน 2.7% การลงทุนภาครัฐ 4.9% มูลค่าการส่งออก 0.2% มูลค่าการนำเข้า 0.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.8% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.7% ราคาน้ำมันดิบ Brent -2.9% ค่าเงินบาท 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25%
กำลังโหลดความคิดเห็น