"อธิบดีกรมสรรพสามิต" เผย ยอดรวมการจัดเก็บรายได้ปีงบฯ อยู่ที่ 62 อยู่ที่ 5.84 แสนล้านบาท หรือเกินเป้ากว่า 1 พันล้านบาท จากการจัดเก็บสุราในประเทศที่เพิ่มขึ้น ยืนยันเดินหน้าเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 40% ตามกำหนดในเดือน ต.ค.63 ระบุเป้าจัดเก็บในปีงบฯ 63 จะอยู่ที่ 6.42 แสนล้านบาท ส่วนการจัดเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างการหารือ เร่งประชุมนัดแรกในเร็ววันนี้ ขณะที่ภาษีเบียร์ 0% ยังไร้ทางออก
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงผลจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2562 โดยรวมว่า กรมสรรพสามิตมียอดรวมการจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 585,407 ล้านบาท โดยสูงกว่าประมาณการเล็กน้อย 1% หรือราวกว่า 1 พันล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเบียร์ สุราที่เพิ่มขึ้น
สำหรับรายละเอียดการจัดเก็บภาษีในปีงบฯ 62 นั้น กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีเบียร์ได้ถึง 79,090 ล้านบาท หรือเกินกว่าเป้า 3.58% ส่วนภาษีสุราจะมียอดการจัดเก็บ 62,146 ล้านบาท หรือเกินเป้า 11.05% โดยมีสาเหตุจากคนไทยหันมาบริโภคสุราในประเทศ เนื่องจากมีราคาถูกกว่าสุราต่างประเทศค่อนข้างมาก อีกทั้งที่ผ่านมา เศรษฐกิจมีการขยายตัวจึงทำให้มีการบริโภคสินค้าชนิดนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการจัดเก็บภาษีน้ำมันนั้นยังต่ำกว่าเป้าถึง 5 พันล้านบาท เนื่องจากมาตรการสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล และมีมาตรการทางภาษีสนับสนุนการใช้รถยนต์ที่ลดการปล่อย PM2.5
ด้านผลการจัดเก็บภาษียาสูบ สามารถจัดเก็บได้ 67,410 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้า 2,989 ล้านบาท หรือลดลง 4.25% เนื่องจากอยู่ในช่วงของการปรับตัวรับอัตราภาษีใหม่ ส่วนข้อเสนอจากชาวไร่และผู้ประกอบการยาสูบที่เสนอให้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 40% ในช่วง ต.ค.63 นั้น กรมสรรพสามิตได้พิจารณาและยืนยันว่าจะเดินหน้าการเก็บภาษีตามเดิมต่อไป เนื่องจากสินค้าประเภทบุหรี่นั้นถือว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ ยังคาดว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จะสามารถปรับตัวเพื่อรับมือต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ในระยะต่อไปกรมสรรพสามิตอาจมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดเก็บอีกครั้ง
นายพชร ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 63 (ต.ค.62 -ก.ย.63) จะอยู่ที่ 642,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีงบฯ 62 โดยตั้งเป้าหมายการจัดเก็บภาษีน้ำมันไว้ที่ 2.4 แสนล้านบาท ภาษีรถยนต์ 1.38 แสนล้านบาท ภาษีเบียร์ 86,000 ล้านบาท ยาสูบ 78,000 ล้านบาท สุรา 61,000 ล้านบาท และเครื่องดื่ม 20,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตยังปรับลดเป้าการจัดเก็บรายได้ภาษีเครื่องดื่มลดลงกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการปรับลดภาษีเครื่องดื่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพจาก 10-14% เหลือ 3% ทั้งนี้ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพคนไทย
สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณาถึงแนวทางในการจัดเก็บภาษีเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 0% อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ยังคงอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากยังมีข้อโต้แย้งในประเด็นเครื่องดื่มดังกล่าวถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแฮลกอฮอล์ เพียงแต่อยากเพียงรสชาติเท่านั้น ส่วนกรมสรรพสามิตนั้นมองว่าเครื่องดื่มดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยลง ขณะที่ความคืบหน้าของกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าในเร็วๆ นี้ จะเริ่มการประชุมนัดแรกได้