xs
xsm
sm
md
lg

BAMลุยซื้อหนี้-เอ็นพีเอหลังแนวโน้มเพิ่มขึ้น เปิด3ยุทธศาสตร์สร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

(คนกลาง)นางทองอุไร ลิ้มปิติ
BAM ย้ำความมั่นใจในศักยภาพระยะยาวขององค์กร ในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาNPLs และ NPAsของประเทศ พร้อมชี้จุดแข็งธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ เดินหน้าด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ผลักดันการเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง คาดแนวโน้มผลเรียกเก็บเงินสดและกำไรปี62ดีต่อเนื่อง



เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 คณะผู้บริหารบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM พร้อมด้วยที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ได้ร่วมแถลงข่าวถึงแนวโน้มธุรกิจของ BAM ก่อนที่จะบริษัทฯจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) โดยหุ้นที่เสนอขายประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.4 % ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (กรณีมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ทั้งจำนวน) โดยจะนำเงินจากการระดมทุน ไปขยายธุรกิจโดยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ(NPLs)และทรัพย์สินรอการขาย(NPAs)ในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ ที่ออกโดยบริษัทฯ และ/หรือตั๋วเงินจ่ายที่ถึงกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ปัจจุบัน BAM มีทุนจดทะเบียน 16,225 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,245 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 5 บาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 13,675 ล้านบาท โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (“FIDF”) ถือหุ้น 99.99 % ทั้งนี้ หลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ FIDF มีนโยบายถือหุ้น BAM ในสัดส่วนต่ำกว่า50% แต่ไม่ต่ำกว่า 45%

"การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทฯ สามารถระดมทุนและเพิ่มช่องทาง ในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น BAM จะสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมั่นใจในศักยภาพ และจุดแข็งของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และคิดว่า วอลุ่มของNPLsในระบบยังมีอยู่เยอะ และ NPAs คงมีแนวโน้มเยอะขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เรามองไว้ "นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการบริษัทฯ กล่าวถึงความมั่นใจในแผนการระดมทุน พร้อมย้ำว่า

"แม้ว่า FIDF จะลดสัดส่วนหุ้นลง แต่ด้วยศักยภาพของ BAM แล้ว เครดิตทางการเงินยังคงได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีหลายแห่งมาเสนอให้วงเงินกับ BAM ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา BAM มีการออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการทำธุรกิจ มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ไปจนถึง 10 ปี ซึ่งทุกตราสารทางการเงิน ก็ได้รับการตอบรับที่ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัจจัยท้าทายของ BAM คือ การกำหนดราคาที่ถูกต้อง เพราะในปัจจุบัน หนี้ในระบบมีสูงถึง 400,000 ล้านบาท" นางทองอุไร กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีกำไรสุทธิต่อเนื่องปีละกว่า 4,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์เติบโตเฉลี่ย 7 % ต่อปี มีเครือข่ายทั่วประเทศมากที่สุดรวม 26 แห่ง มีทีมงานประสบการณ์สูง และปัจจัยที่สำคัญคือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจกล่าวคือในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทฯ สามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ในต้นทุนที่เหมาะสม ในช่วงภาวะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ลูกหนี้ของบริษัทฯ มีศักยภาพในการชำระหนี้ และลูกค้าของบริษัทฯ มีกำลังซื้อทรัพย์สินรอการขาย เป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ

ซึ่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทมีสินทรัพย์รวมมูลค่าทั้งสิ้น 107,667 ล้านบาท มีราคาประเมินเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้(NPLs) มูลค่า 187,875 ล้านบาท (มูลค่าทางบัญชีของNPLsสุทธิ 74,482 ล้านบาท) ราคาประเมินทรัพย์สินรอการขาย (มูลค่าหลักประกัน) มูลค่า 50,745 ล้านบาท (มูลค่าทางบัญชี NPAs สุทธิ 21,731 ล้านบาท หรือ มีส่วนลด 57%จากราคาประเมิน)

เปิด 3 ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

นางทองอุไร กล่าวว่า ธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบธนาคารมีอัตราการเติบโต (CAGR) เฉลี่ย 12.8 % ประกอบกับราคาประเมินที่ดินล่าสุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยโดยภาพรวมทั้งประเทศที่ 27.7 % (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมธนารักษ์) จากโอกาสทางธุรกิจเช่นนี้ BAM ได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลักที่จะสานต่อการเติบโตในอนาคต และเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร

ยุทธศาสตร์ที่ 1: ขยายฐานทรัพย์สิน BAM ติดตามการขาย NPLs และ NPAs อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และ คัดเลือกสินทรัพย์ ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่บริษัทฯ มีสาขาทั่วประเทศ มีพนักงานที่มีประสบการณ์สูงและมีความเข้าใจในตลาดอย่างดี ทำให้บริษัทฯ สามารถประเมินศักยภาพและราคาทรัพย์ได้แม่นยำ

ยุทธศาสตร์ที่ 2: ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น BAM ให้ความสำคัญกับการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลังที่สามารถ BAMให้ความสำคัญกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ พร้อมกันนี้ BAM ยังทำการตลาดเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เว็บไซต์ และช่องทาง Social Media ขององค์กร ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 3: การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร BAM เชื่อว่าพนักงานที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจ จึงได้จัดการฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมทั้งมีการเตรียมแผนการสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน

“BAM ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 BAM มีกำไรสุทธิรวมที่ 5,202.02 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.58 %จากปี 2560” นางทองอุไร กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทฯ ได้ปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้วเป็นจำนวน 90,562.65 ล้านบาท โดยสามารถเรียกเก็บเงินสดได้จำนวน 122,931.74 ล้านบาท

โดยในปี 2561 BAM มีเงินสดรับจากธุรกิจ NPLs และ NPAs รวมทั้งสิ้น 16,569.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 13,515.74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.59 % และมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 5,202.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 4,500.82 หรือเพิ่มขึ้น 15.58 % ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 BAM มีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิ (NPLs) จำนวน 74,482.33 ล้านบาท ซึ่งหลักประกันของลูกหนี้ดังกล่าวมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 187,875.26 ล้านบาท และมีNPAs 21,731.04 ล้านบาท โดยมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 150,287.17 ล้านบาท (ราคาประเมินตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและไม่รวมการผ่อนชำระ)

BAM มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40 % ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย

ด้านนายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM กล่าวว่า แม้บริษัทฯจะมีโอกาสในการทำธุรกิจสูงมาก แม้ว่าในขณะนี้มีNPLsอยู่ในระบบมูลค่า กว่า 400,000 ล้านบาท ขณะที่ NPAs ก็มีมูลค่าหลักแสนล้านบาท โดย BAM เป็นรายใหญ่ที่สามารถซื้อสินทรัพย์ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาสามารถซื้อได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 และมีส่วนแบ่งตลาดที่ 47.3% ถือว่าเป็นรายใหญ่ของตลาด มีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 107,667 ล้านบาท โดยมีจุดแข็งที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ มีความได้เปรียบมากกว่าบริษัทบริหารจัดการหนี้รายอื่นๆ ทำให้มีโอกาสในการเลือกพอร์ตได้อย่างรวดเร็วและสามารถซื้อสินทรัพย์มาได้ในราคาที่ดี สร้างความเติบโตของพอร์ตได้

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส1/2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯสามารถทำกำไรสุทธิได้ 3,327 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 68% ของกำไรสุทธิ ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 5,202 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(D/E) ณ วันที่ 31 มี.ค. 62 อยู่ที่ 1.39 เท่า (ปี 2561 อยู่ที่ 1.57 เท่า).


กำลังโหลดความคิดเห็น