xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตรอบใหม่...หุ้นกู้ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปีนี้บริษัทเอกชน ออกหุ้นกู้คึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง หรือไม่มีอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ แต่มีหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งเกิดปัญหา ไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด สร้างความเสียหายให้นักลงทุน

8 เดือนแรกปีนี้ มีตราสารหนี้ระยะสั้นออกมาระดมทุนแล้ว 170,773 ล้านบาท และการที่บริษัทเอกชนแห่มาระดมทุน โดยการออกหุ้นกู้ไม่ได้เกิดจากดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็น เพราะไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้

บทเรียนจากความล่มสลายเพราะปัญหาหนี้เสีย ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ไม่อนุมัติเงินกู้ง่ายๆ โดยจะพิจารณาคำขอสินเชื่ออย่างเข้มงวด

ถ้าหลักประกันไม่คุ้ม หมดสิทธิกู้เงินจากสถาบันการเงิน

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง อยู่ระหว่างการจัดทำแผนออกหุ้นกู้ มีทั้งหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน และหุ้นกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกเหนือจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงๆ เพื่อจูงใจ

แม้จะเป็นหุ้นกู้ที่มีหลักหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่หลักทรัพย์ค้ำประกันอาจไม่ครอบคลุมความเสียหายนักลงทุนได้ หากหุ้นกู้มีปัญหา ไม่สามารถไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดชำระคืน

หลักทรัพย์ที่จะนำมาวางเป็นหลักประกันหุ้นกู้ ถ้านำไปวางเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน คงได้รับวงเงินกู้ต่ำกว่าวงเงินหุ้นกู้ที่จะออก

เช่น ออกหุ้นกู้ระดมทุน 10,000 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่หลักทรัพย์ที่ค้ำประกันตัวเดียวกัน ถ้านำไปขอเงินกู้จากสถาบันการเงิน อาจได้รับอนุมัติเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท

ดังนั้น แม้หุ้นกู้ที่มีหลักประกัน แต่นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี เพราะมูลค่าหลักประกันไม่คุ้มกับวงเงินหุ้นกู้ที่ออกระดมทุน ถึงจะมีบริษัทประเมินราคาหลักทรัพย์ก็ตาม

ส่วนหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน ยิ่งมีความเสี่ยง

ปัจจุบัน นักลงทุนไม่ได้สนใจในอันดับเครดิตหุ้นกู้มากนัก ไม่ได้คำนึกถึงหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่สนใจอัตราดอกเบี้ยมากกว่า

ยิ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงๆ ยิ่งสนใจลงทุน โดยไม่ได้ตระหนักว่า หุ้นกู้ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูง หมายถึงหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

ฐานะความเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือ และเมื่อใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวล่อ ทำให้ขายหุ้นกู้ได้คล่อง ออกมากี่รุ่นขายหมดเกลี้ยง

นับจากนี้จะมีการออกหุนกู้มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเป็นช่องทางที่ระดมทุนเงินได้ง่ายที่สุด

การประกาศเพิ่มทุนอาจระดมทุนไม่ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานะทางการเงินง่อนแง่น เพราะนักลงทุนคงไม่กล้าใส่เงินเพิ่มทุน และบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศเพิ่มทุนในช่วงนี้มักระดมทุนไม่ได้ตามเป้าหมาย

มีหุ้นเพิ่มทุนเหลือขายจำนวนมาก

เป้าหมายที่บริษัทจดทะเบียนจะสูบเงินได้มีเพียงการออกหุ้นกู้ และพยายามหาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน พยายามหาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่พร้อมจะจัดอันดับเรตติ้งดีๆ เพื่อเรียกความมั่นใจนักลงทุน และกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงๆ เป็นตัวล่อ

ประชาชนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การซื้อหุ้นกู้ปลอดภัย มีความเสี่ยงน้อย แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่ เพราะหุ้นกู้กลายเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงสูง ถ้าพิจารณาไม่ดี อาจเสียหายจากการผิดนัดชำระหนี้ได้

ต้นปี 2560 ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋ว บี/อี เคยเกิดวิกฤตมาแล้ว โดยตั๋ว บี/อี บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเด้ง ผิดนัดชำระหนี้ จนนักลงทุนเข็ดขยาดในการซื้อตั๋ว บี/อี

ส่วนหุ้นกู้ มีสัญญาณว่าอาจเกิดปัญหาซ้ำรอยตั๋ว บี/อี เพราะเริ่มผิดนัดชำระหนี้ถี่ขึ้น

จะลงทุนในหุ้นกู้ ต้องระวังไว้ เพราะถ้าเลือกเฟ้นไม่ดี มีสิทธิเจ็บตัวได้ แม้จะเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัจดทะเบียนก็ตาม

2 ปีก่อน เกิดวิกฤตตั๋ว บี/อี วิกฤตรอบต่อไป อาจเกิดขึ้นกับหุ้นกู้ก็ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น