xs
xsm
sm
md
lg

IAA มองหุ้นไทย Q4/62 ยังแกว่งตัวจากผลกระทบต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนประเมินภาพรวมการลงทุนไตรมาส 4/2562 ยังคงใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2562 ชี้ปัจจัยหลักที่เข้ามากระทบยังคงมาจากต่างประเทศเป็นหลัก คาดปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 1,590 จุด และปรับขึ้นสูงสุดที่ 1,755 จุด

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ในปี 2562 นี้ โดยครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 26 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 21 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 4 บริษัท บริษัทโกลด์ ฟิวส์เจอร์ส 1 บริษัท ผลสำรวจโดยสรุปว่า นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนร้อยละ 36 มองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มไปในทิศทาง Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากไตรมาส 3 ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 32 มองไปในทิศทางบวก และร้อยละ 32 เท่ากันมองว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางลบ

สำหรับปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา (FED) ผู้ตอบแบบสำรวจ 80% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก รองลงมาผู้ตอบ 57.69% คาดว่ามี Fund Flow จากต่างประเทศเข้าสู่ตลาดทุนไทย และตัวเลขผู้ตอบ 57.69% เท่ากันที่ตอบว่าได้ผลบวกจากทิศทางดอกเบี้ยในประเทศ

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่มีปัจจัยใดที่มีผู้ตอบถึง 50% ที่ระบุว่าเป็นบวก ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลในด้านลบต่อตลาดทุนไทยในไตรมาสที่ 4 ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงสงครามการค้า รองลงมาคือปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ และผลประกอบการของ บจ.ไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีเสียงโหวตเกิน 50% ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจัยด้านการเมืองในประเทศนั้นไม่มีผลมากนักต่อทิศทางราคาหุ้นในช่วงที่เหลือปีนี้ โดยมีผู้ตอบเพียง 15.38% ที่มองว่าจะเป็นผลบวก และมีผู้ตอบ 19.23% ที่มองแย้งว่าจะเป็นผลลบ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2562 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,677 จุด ซึ่งน้อยกว่าผลสำรวจครั้งก่อนเมื่อต้นไตรมาส 3 (ที่คาดการณ์ไว้ที่ 1,755 จุด) โดยจุดสูงสุดของ SET Index ในช่วงไตรมาส 4 ถึงสิ้นปี 2562 เฉลี่ยที่ระดับ 1,707 จุด ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 45 ที่คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,701-1,750 จุด และมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 40 ที่คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,651-1,700 ตามลำดับ เมื่อมองภาพถึงสิ้นปี 2562 นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนคาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ไตรมาสที่ 4 มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุดที่ 1,590 จุด

ขณะที่หุ้นที่คาดว่าจะมีความโดดเด่นได้รับอานิสงส์ตามฤดูกาลในไตรมาสที่ 4 ได้แก่

1. ADVANC เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวการณ์แข่งขันผ่อนคลายลง หนุนรายได้สูงขึ้น ตลอดจนการระงับข้อพิพาทกับ TOT ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายปีละ 800 ล้านบาท นอกจากนั้น ADVANC มีความสามารถการแข่งขันสูง ฐานะการเงินแกร่ง มีปันผลดี

2. BJC ซึ่งมีแนวโน้มกำไรที่ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังจากการขับเคลื่อนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ การขยายสาขา Big C ในเชิงรุก และอัตรากำไรที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในหุ้นค้าปลีกที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

3. CPALL มองว่ามีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคฟื้นตัว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

4. ERW มีประเด็นสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว และได้ผลบวกจากมาตรการภาครัฐกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภค

5. WHA มีปัจจัยสนับสนุน คือ เริ่มเห็นการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีที่ถูกเรียกเก็บจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตออกไปในประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น