การประกาศลงทุนในบริษัท เคพีเอ็น อะคาเดมี จำกัด สัดส่วน 57.52% ของทุนจดทะเบียน ทำให้การทำรายการซื้อทรัพย์สินของบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ
ความน่าสนใจการซื้อหุ้น เคพีเอ็น อะคาเดมี เป็นเพราะหุ้นที่ ECF จะเข้าไปซื้อนั้น เป็นหุ้นของนายณพ ณรงค์เดช ซึ่งมีคดีฟ้องร้องกับพี่น้องภายในครอบครัว “ณรงค์เดช” กรณีปลอมลายเซ็นโอนหุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) และยังมีคดีชำระค่าหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด กับอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่
นอกจากนั้น ยังมีการตั้งคำถามถึงการที่ กลุ่มสุขสวัสดิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ECF ตัดสินใจซื้อหุ้นเคพีเอ็นฯ ทั้งที่ผลประกอบการในกลุ่มเคพีเอ็น อะคาเดมี ทั้ง 3 แห่งไม่ดีนัก ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ และผลประกอบการขาดทุน
รวมทั้งราคาหุ้นที่จะซื้อ ยังเป็นปมที่ถูกจับตา เพราะราคาอาจไม่สมเหตุสมผล แม้จะมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ ECF ตั้งขึ้นมา ได้ประเมินมูลค่ายุติธรรมแล้วก็ตาม
การซื้อหุ้น เคพีเอ็น อะคาเดมีนั้น จะใช้วิธีการแลกหุ้น โดย ECF จะออกหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 191,742,674 หุ้น ราคาพาร์ 0.25 บาท โดยจะจัดสรรให้บุคคลในวงจำกัด ประกอบด้วย นายณพ และผู้ถือหุ้น เคพีเอ็น อะคาเดมี อีก 3 ราย ในราคาไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 2.40 บาท แลกกับหุ้น เคพีเอ็น อะคาเดมี จำนวน 14,947,000 หุ้น ซึ่งตีราคาหุ้นละ 30.787 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 460.18 ล้านบาท
เฉพาะนายณพ เพียงคนเดียวจะได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน ECF จำนวนทั้งสิ้น 156,666,667 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 376 ล้านบาท และเมื่อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 13.61% ของทุนจดทะเบียน จึงมีสิทธิส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการใน ECF
แม้นายณพ จะยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ากระทำผิดใดๆ แต่การ มีคดีฟ้องร้องคาราคาซังอยู่ ทำให้มีภาพทางสังคมในแง่ลบ
เมื่อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ECF และอาจเข้ามาเป็นกรรมการหรือส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการ จะส่งผลกระทบต่อ ECF ทางใดทางหนึ่งได้
กลุ่มสุขสวัสดิ์จึงถูกตั้งข้อสงสัยในการนำหุ้นเพิ่มทุน ECF ไปแลกกับหุ้น บริษัท เคพีเอ็น อะคาเดมี จำกัด
แต่ประเด็นที่ใหญ่กว่าคือ หุ้นเคพีเอ็น อะคาเดมี ที่ตีราคาซื้อกันที่ 30.787 บาทนั้น เป็นราคาที่ยุติธรรมจริงหรือ
บริษัท โอไรอ้อน แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ซึ่งไม่ได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถูก ECF ว่าจ้างให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อประเมินมูลค่ายุติธรรม จึงอาจได้รับความเชื่อถือน้อยกว่าบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ ก.ล.ต. ให้การรับรอง
บริษัท เคพีเอ็น อะคาเดมี จำกัด ดำเนินธุรกิจสื่อการสอนออนไลน์ ถือหุ้นในบริษัท เคพีเอ็น มิวสิค ดำเนินธุรกิจขายเครื่องดนตรี และบริษัท เคพีเอ็น ไชนิส ให้บริการโรงเรียนสอนภาษาจีน
งบการเงินกลุ่มเคพีเอ็น อะคาเดมีทั้ง 3 บริษัท ไม่ได้สะท้อนการเป็นกิจการที่มีแนวโน้มเติบโต แต่ตัวเลขผลประกอบการกลับสะท้อนถึงกิจการที่กำลังย่ำแย่
เคพีเอ็น อะคาเดมี ปี 2559 มีรายได้รวม 13.20 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 16.13 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 40.14 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 6.11 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้รวมเพียง 8.27 ล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิ 605.34 ล้านบาท โดยสิ้นปี 2561 มียอดขาดทุนสะสม 683.32 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 423.38 ล้านบาท
ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียน เคพีเอ็น อะคาเดมี คงถูกขึ้นเครื่องหมาย "C" ไปแล้ว
เคพีเอ็น มิวสิค ปี 2559 มีรายได้รวม 143.67 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2.66 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 97.50 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 37.28 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 78.01 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 83.43 ล้านบาท โดยสิ้นปี 2561 มีขาดทุนสะสม 0.62 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 24.38 ล้านบาท
เคพีเอ็น ไชนีส ปี 2559 มีรายได้ 16.86 ล้านบาท ขาดทุน 4.98 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 20.04 ล้านบาท ขาดทุน 4.33 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 14.27 ล้านบาท ขาดทุน 7.41 ล้านบาท สิ้นปี 2561 มีขาดทุนสะสม 20.23 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 19.23 ล้านบาท
แม้ผลประกอบการและฐานะกลุ่มเคพีเอ็น อะคาเดมีทั้ง 3 แห่งจะแย่ลง แต่บริษัท โอไรอ้อน แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงิน กลับตีมูลค่ายุติธรรมของ 3 บริษัทอยู่ระหว่าง 762.75-966.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่ากิจการของ เคพีเอ็น อะคาเดมี รวมหุ้นละ 29.35-37.21 บาท
มูลค่ายุติธรรมของกิจการกลุ่มเคพีเอ็น อะคาเดมี ที่บริษัท โอไรอ้อน แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัดประเมินออกสูงลิบ และสวนทางกับฐานะการดำเนินงานในปัจจุบัน มีคำถามว่า ถ้าเสนอขายโดยทั่วไปจะมีใครสนใจซื้อหรือไม่
แต่คณะกรรมการ ECF กลับลงมติซื้อ จนเกิดคำถามถึง เบื้องหน้าเบื้องหลังการตัดสินใจของกลุ่มสุขสวัสดิ์
(อ่านตอนจบพรุ่งนี้)