xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลจ่ายเงินให้ ปชช. ชิมช้อปใช้ 3 วันแรก 294 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"คลัง" แจง 3 วันแรกมีผู้ใช้สิทธิ์ตามมาตรการ “ชิมช้อปใช้” รวม 370,523 ราย และมียอดใช้จ่ายรวม 294 ล้านบาท โดยกว่า 50% จะเป็นการใช้จ่ายตามร้านค้าในชุมชนขณะที่มีผู้ติดตั้งแอปฯ เป๋าตังเสร็จสิ้นแล้ว 1.9 ล้านราย เตือนให้เปิด location ทุกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันได้ใช้สิทธิ์ในจังหวัดที่เลือกจริง

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงความคืบหน้ามาตรการ "ชอมช้อปใช้" ในช่วง 8 วันแรกว่า มีทั้งสิ้นรวม 8 ล้านราย จากจำนวนผู้มาลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการฯ ในแต่ละวันเต็มตามโควตา 1 ล้านราย ส่วนการใช้เวลาการลงทะเบียนโดยเฉลี่ยในแต่ละวันจะอยู่ที่ราว 3 ช.ม. จากเวลาหลังเที่ยงคืนที่เปิดให้เริ่ทลงทะเบียน ซึ่งถือว่ามาตรการดังหล่าวนี้ได้รับผลตอบรับจากประชาชนที่ดีมากๆ ทั้งนี้ หลังการลงทะเบียนแล้วระบบจะใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล 3 วันทำการจากนั้นจึงจะส่ง SMS แจ้งสิทธิ์และผู้ลงทะเบียนต้องยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อจะสามารถใช้สิทธิ์ได้ในวันถัดไป

นายลวรณ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องกำหนดการยืนยันตัวตนของผู้ลงทะเบียนนั้น เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ให้มั่นใจว่าจะไม่มีผู้อื่นใช้สิทธิ์ของผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ และเป็นระบบที่เป็นมาตรฐาน และการยืนยันโดยการใช้ภาพถ่ายใบหน้าของผู้ลงทะเบียน ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ผ่อนปรนลงมามากแล้ว เมื่อเทียบกับหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้การยืนยันตัวตนต้องดำเนินการที่สาขาของธนาคารแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากดำเนินการตามข้อกำหนดของ ธปท. สำหรับผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ตามมาตรการชิมช้อปใช้ทั้ง 10 ล้านรายนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ในกรณีการยืนยันตัวตนผู้ลงทะเบียนตามมาตรการฯ นั้น หากผู้ลงทะเบียนได้สแกนใบหน้าครบ 3 ครั้งแล้ว แต่ยังคงไม่สามารถใช้งานได้ สามารถไปยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ส่วนการใช้งานแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และ “เป๋าตัง” ขอให้เปิด location ทุกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีการไปใช้สิทธิ์ในจังหวัดที่เลือกจริง

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สศค. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงยอดผู้ที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 -26 ก.ย. 62 ว่า มีผู้ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์แล้ว 3,115,449 ราย โดยมีผู้ติดตั้งแอปฯ เป๋าตังเสร็จสิ้นแล้ว 1.9 ล้านราย โดยแบ่งเป็นการติดตั้งผ่านโทรศัพท์มือถือ 1.8 ล้านราย และที่เหลือ 1 ล้านรายจะไปที่สาขาของธนาคารกรุงไทย อย่างไรก็ตามยังมีอีก 6 แสนรายที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการติดตั้ง ขณะที่อีกกว่า 5 แสนราย ยังไม่ได้ทำการติดตั้งแอปฯ

สำหรับยอดการใช้จ่ายรวม 3 วันแรก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 27-29 ก.ย. 62 นั้น จะมีผู้ไปใช้สิทธิ์แล้ว 370,523 ราย โดยคิดเป็นจำนวนเงิน 294 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียดของการใช้จ่ายดังกล่าว จะพบว่ากว่า 50% ของการใช้จ่าย หรือประมาณ 148 ล้านบาท จะเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป”ซึ่งเป็นร้านค้าในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้ง ร้านธงฟ้าประชารัฐ

ส่วนรองลงมาคือร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มียอดใช้จ่ายประมาณ 60 ล้านบาท และร้าน “ใช้” ที่จะอยู่ในส่วนของโรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น จะมียอดใช้จ่ายประมาณ 7 ล้านบาท ขณะที่ร้านค้าทั่วไป เช่น ร้านค้าขนาดใหญ่ และห้างสรรพสินค้่า จะมียอดใช้จ่ายประมาณ 79 ล้านบาท ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวนั้น นายลวรณยืนยันว่ามาตรการชิมช้อปใช้ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายได้ส่วนใหญ่จากการใช้จ่ายจะลงสู่ร้านค้าขนาดเล็กในชุมชน

้ด้านความสับสนในประเด็นการเงินของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผู้อำนวยการ สศค. ชี้แจงว่า เงินที่รับชำระค่าสินค้าจากรัฐบาลผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” g-Wallet ในช่อง 1 วงเงิน 1,000 บาทนั้น จะถูกโอนเข้าบัญชีของร้านค้าไม่เกินเวลา 21.00 น. ของวันทำการถัดไป ยกเว้นเงินที่เกิดจากการขายสินค้าในวันศุกร์-วันอาทิตย์ ร้านค้าจะได้รับเงินรวมทั้ง 3 วันในวันจันทร์ เช่นเดียวกับ g-Wallet ในช่อง 2 ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ประชาชนเติมเอง ซึ่งเริ่มมีการใช้จ่ายแล้วราว 5 ล้านบาทนั้น ร้านค้าจะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีของร้านค้าในวันถัดไปไม่เกินเวลา 6.30 น. ของทุกวัน ซึ่งเงื่อนไขการโอนเงินให้ร้านค้าได้กำหนดเป็นกติกาไว้ตั้งแต่เบื้องต้นอยู่แล้ว

โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำด้วยว่า ระบบการชำระเงินระหว่าง “ถุงเงิน” และ “เป๋าตัง” นั้น ยังสามารถใช้งานได้ปกติ ไม่มีปัญหาระบบล่มตามที่ปรากฏเป็นข่าวในโซเชียล แต่ปัญหาการต่อคิวยาวเพื่อชำระเงินในร้านค้าโมเดิร์นเทรด หรือห้างสรรพสินค้านั้น รัฐบาลอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกร้านค้าของตนที่ต้องการจะเข้าร่วมได้เพียง 1 ร้านต่อ 1 จังหวัด โดยในจังหวัดนั้นๆ จะมีกี่สาขาที่เข้าร่วมก็ได้ แต่ผู้ประกอบการต้องจัดให้สาขาทั้งหมดร่วมกันตั้งจุดบริการชำระเงินรวมกันให้ครบ 20 จุด แต่ในกรณีโลตัสนั้นได้เลือกจุดขายสินค้าใน 20 สาขา โดยแต่ละสาขาจะจัดให้มีจุดรับชำระเงินแค่เพียง 1 จุดเท่านั้น จึงทำให้เกิดปัญหาการชำระเงินที่ผู้ใช้สิทธิ์ฯ ต้องต่อแถวยาว ดังนั้น โมเดิร์นเทรดที่เข้าร่วมจะต้องบริหารจัดการให้มีจุดชำระเงินที่พอเพียงต่อการอำนวยความสะดวกในการรับชำระเงินแก่ผู้ซื้อด้วย

นายธวัชชัย ชีวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีของห้างโลตัสว่า ในเบื้องต้นโครงการชิมช้อปใช้ต้องการสนับสนุนการขายสินค้าของร้านค้าชุมชน แต่กรณีของร้านโมเดิร์นเทรนนั้นต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของตัวร้านค้าขนาดใหญ่ โดยปัจจุบันเราได้กำหนดให้แต่ต้องมีจุดชำระค่าสินค้า 20 จุด โดยในกรณีที่มีสาขาจำนวนมากก็ขึ้นอยู่กับร้านค้าขนาดใหญ่จะบริหารจัดการจุดรับชำระเงินได้อย่างไร ซึ่งในกรณีของโลตัสนั้นก็กำชังหารือกันถึงการบริหารจัดการเรื่องคิวการชำระเงินอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น