xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯปี63หดตัวรุนแรง เสี่ยงยอดขายลด-NPLขยับเร็ว จับตาCBDใหม่ขยายตามแนวรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังเข้าสู่โค้งส่งท้ายปี 2562 สถานการณ์ของตลาดรวมที่อยู่อาศัย ยังคงได้รับปัจจัยกระทบในหลายด้าน ไม่ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีการประเมินในปีนี้จะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิม 3.3% การพิจารณางบประมาณแผ่นดินประจำปี 2563 ของรัฐบาลมีความล่าช้า ซึ่งจะมีวาระเข้าสู่รัฐสภาภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งแน่นอน การลงทุนของภาครัฐที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีถัดไปคงจะเห็นผลประมาณไตรมาส 1 ส่วนภาคเอกชนน่าจะทยอยการลงทุนตาม ขณะที่มาตรการเรื่องการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(LTV) ที่มาดับความร้อนแรงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ได้ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เข้าสู่การปรับฐานในเรื่องของซัพพลายใหม่และกำลังซื้อ ที่ลดลงอย่างแรง ทำให้ความต้องการซื้อจริง กลุ่มนักลงทุนและนักเก็งกำไรได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึง การหดตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มผู้ซื้อในโควต้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีน ซึ่งมีทั้งปัจจัยค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงกว่า 15% การควบคุมของรัฐบาลจีนในการนำเงินออกนอกประเทศ และที่ร้ายแรงและยังไม่มีสัญญาณคลี่คลาย คือ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (เทรดวอร์) ที่กระทบต่อภาคส่งออกของประเทศคู่ค้าและส่งออกจากไทย

ทั้งนี้ ในงานสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียมปี2019” ซึ่งจัดโดยสมาคมอาคารชุดไทย มีระดับผู้บริหารบริษัทชั้นนำของประเทศไทย และผู้บริหารจากบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก ระบุว่าเป็นไปทิศทางเดียวกันว่า ช่วงที่เหลือของปี 2562 และต่อเนื่องถึงปี 2563 ยังเหนื่อย โดยทุกความเห็นพุ่งเป้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการออกมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่ออกมาไม่ถูกจังหวะ ทำให้ตลาดมีความผิดปกติ ตั้งแต่ไตรมาสแรก และตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ภาพรวมทรุดตัวต่อเนื่องมาถึงไตรมาสปัจจุบัน พร้อมประเมินว่า ในปี 2563 หากธปท.จะออกเกณฑ์บริหารหนี้ครัวเรือน ผ่านมาตรการควบคุมหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio:DSR) จะยิ่งทำให้ ธนาคารพาณิชย์ เพิ่มความเข้มงวดหนักในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคลมากขึ้น
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต
ลูกโซ่อสังหาฯยอดขายตก เสี่ยงNPLsเพิ่ม2-3เท่าตัว

ในด้านของซัพพลายโครงการ จะพบว่า ครึ่งปีแรกการเปิดตัวโครงการใหม่ยังเป็นบวก 17% เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการไม่ทัน ทำให้ต้องเดินไปตามแผน แต่ก็มีปัจจัยที่เป็นผลกระทบที่มีผลต่อธุรกิจอสังหาฯในระยะยาวในช่วง 4 เดือน ที่เหลือ ที่ร้ายแรงและร้อนแรงมาก คือ ยาขมของมาตรการLTVและมาตรการDSR จะกระทบไปถึงปี 2563 โดยมาตรการLTV ของธปท. ได้ส่งผลกระทบใน 2 เรื่องคือ

1.ยอดขายในเขตกรุงเทพฯ–ปริมณฑลในครึ่งปีแรก2562 มีมูลค่าติดลบ13% ส่วนจำนวนยูนิตติดลบ 11% ในขณะที่ตลาดเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ–ปริมณฑลครึ่งปีแรก มากกว่าปีที่ผ่านมามูลค่าสูงขึ้น 17% จำนวนยูนิตเปิดใหม่สูงขึ้น 21% ส่วนยอดขายตลาดต่างจังหวัดหลักในครึ่งปีแรก มีมูลค่าติดลบ 8% จำนวนยูนิตติดลบ 12% ซึ่งมองว่าตลาดหดตัวอย่างรวดเร็ว จากการประกาศนโยบาย Macroprudential หรือมาตรการ LTV โดยประกาศนโยบายในปลายปี 2561 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2562 ซึ่งมองว่ามาตรการนี้ถือว่าชาญฉลาด แต่ผิดเวลา

2.ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในครึ่งปีแรก2562 ยังทรงตัว เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 เนื่องจากเป็นลูกค้าที่ทำสัญญาก่อนเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งมาตรการ LTV ยังไม่มีผลบังคับใช้กับลูกค้ากลุ่มนี้ แต่จะส่งผลให้การให้สินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีแรก ยังไม่เห็นผลกระทบจากมาตรการ LTV และคาดว่ามาตรการ LTV จะส่งผลกระทบต่อยอดโอนกรรมสิทธิ์ และการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ในครึ่งปีหลัง จากการที่ยอดขายในครึ่งปีแรกยังเป็นบวก เพราะได้รับอานิสงส์ก่อนใช้ LTV

“เชื่อว่าในครึ่งปีหลัง 2562 โดยเฉพาะไตรมาส 3 ตลาดจะติดลบไปมากกว่านี้อย่างน้อยประมาณ 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หากธุรกิจอสังหาฯแย่ ธุรกิจอื่นก็จะแย่ตามเป็นลูกโซ่ ซึ่งรวมทั้งสถาบันการเงินด้วย เชื่อว่าธปท.จะตกที่นั่งลำบากมากกว่านี้ สถานการณ์จะหนักกว่าช่วงวิกฤตปี 40 เพราะสถาบันการเงินจะไม่ได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งก่อนหน้านี้ แบงก์เอง มีการเต็มน้ำดีเข้าสู่ระบบ ไม่งั้น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLsจะเด้งเป็น 2-3 เท่า รวมถึงต้องเฝ้าเรื่องการออกตราสารหุ้นกู้ผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งหากบริษัทอสังหาฯมีปัญหา สถาบันการเงิน ก็ต้องเข้าไปดูแล"นายประเสริฐ กล่าว

อย่างไรก็ตามพบว่าในครึ่งปีแรก 2562 ตลาดคอนโดฯระดับบนราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทยังไปได้ดีบวก 1% แต่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทติดลบ 20-30% ส่งผลให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายใหญ่ ต่างปรับตัวด้วยการขยายตลาดไปในหลายเซกเมนต์ ในทำเล ที่ยังมีดีมานด์ที่ราคาเข้าถึงผู้บริโภคเพื่อกระจายความเสี่ยง บางเซกเมนต์มีการขายเฉพาะเรียลดีมานด์ รวมไปถึงต้องสร้างตลาดเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคในทันที และจำนวนยูนิตในโครงการที่ไม่มากจนเกินไป
นายพีระพงศ์ จรูญเอก
ต้องให้ความเป็นธรรมกับภาคอสังหาฯ

ด้านนายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ซึ่งดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร มีสินทรัพย์เกือบ 30,000 ล้านบาท กล่าวว่า การเติบโตของภาคอสังหาฯจะส่งผลให้รอบเศรษฐกิจภายในประเทศหมุนเวียนได้ 4-5 รอบ ซึ่งในเรื่องของ LTV และมาตรการ DSR นั้น จะส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาฯและความสามารถของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งในบางธนาคารพาณิชย์ การคำนวณเรื่อง DSR จะแตกต่างกันตามกลุ่มลูกค้าที่ขอสินเชื่อ และการจะไปครอบทุกกลุ่มที่ซื้อมองว่าไม่เป็นธรรม โดยอยากเสนอให้มีการกำหนด DSR ที่ต่างกัน เช่น ผู้บริหารที่ใกล้เกษียณอายุ หรือพนักงานที่อายุงานเหลือน้อย กลุ่มนี้น่าจะพิจารณาเป็นแบบขั้นบันได

การจะออกกฎอะไร อยากให้คิด ดูให้ละเอียด และคิดว่า LTV ไม่แฟร์กับโครงการเก่าที่ไปซื้อที่ดินมาแล้ว และจะมาขายในปัจจุบันในส่วนที่เหลือบางส่วน แต่มาเจอ LTV ทำให้สามารถขายให้คนที่กู้สินเชื่อได้น้อยลง ซึ่งมองว่ามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ยังต้องมีอยู่ตอนนี้ เศรษฐกิจยังไม่ดีเราต้องทำให้เกิดการเดินหน้าจริงๆคนยังมีกำลังซื้อเพียงแต่รอดู” นายพีระพงศ์กล่าว

สำหรับสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ซัพพลายคงค้างต้นปี 2562 มีประมาณ 115,000 หน่วย มีการขายไปแล้ว 27,000 หน่วย คงเหลือประมาณ 70,000-80,000 หน่วย แสดงว่ายังมีโอกาสในขายอีกครึ่งปีที่เหลือ ซึ่งคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปีในตลาดจะขายได้ประมาณ 55,000 หน่วย (ใกล้เคียงปี 2558-2560 ที่มียอดขายระดับ 55,000-59,000 หน่วย) เป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ (แต่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับปี 2561 เพราะยอดขาย สูงและมีการเปิดโครงการผิดปกติ) ทั้งนี้คาดว่าซัพพลายที่เหลือจะใช้เวลาในการขายประมาณปีครึ่งออกได้หมด ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าในไตรมาส 4/2562 จะไม่มีการเปิดโครงการใหม่ที่มากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม พบว่า มูลค่ายอดขายในปี 2561 มียอดขายรวม 295,341 ล้านบาท สูงกว่าปี 2560 ถึง 29% (คนซื้อก่อนมาตรการLTV)

โดยในครึ่งแรกของปี 2562 มีมูลค่ายอดขาย 102,629 ล้านบาท คิดเป็น 35% ของปี 2561 และคาดว่าตลอดทั้งปี 2562 ในตลาดจะปิดการขายประมาณ 220,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับปี 2560

สินค้าระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทนั้น จะพัฒนาได้ยาก เนื่องจากราคาที่ดินมีการปรับสูงขึ้นทุกปี ส่วนระดับราคา 3-10 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการเปิดตัวกันมาก ส่วนระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเพียง 3-4 รายเท่านั้น ที่สามารถพัฒนาได้

ตัวเลขติดลบเยอะ ก็อย่าไปสนใจมาก เราควรมองข้ามปี 2561 ไป เพราะเป็นปีที่มียอดขายเกิดขึ้นมาก่อนมาตรการ LTV กับปริมาณการซื้อของลูกค้าจีนมีความคึกคักมาก โดยเข้ามาซื้อกว่า 90,000 ล้านบาท เราคิดว่าตัวเลขยอดขาย 220,000 ล้านบาท เราอยู่กับตัวเลขนี้ได้ เพราะเราอยู่กับตัวเลขนี้มา 10 ปีแล้ว”นายพีระพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้บริษัทฯได้ปรับแผนมาเน้นลูกค้ากลุ่ม Gen Z ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีมากขึ้นเนื่องจากเป็นดีมานด์ที่ยังแอคทีฟอยู่ และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กำลังเข้ามาในตลาด เพราะเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงาน ยังไม่มีภาระหนี้สิน ออริจิ้นจึงต้องรีบเจาะลูกค้ากลุ่มนี้ในการเลือก และตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ก่อนที่จะไปก่อหนี้เรื่องบัตรเครดิต ขณะที่Gen Y ตอนปลาย ก็เป็นกลุ่มที่มีเงินเดือน แต่ก็มีภาระหนี้เช่นกันส่วนรูปแบบการดีไซน์สินค้าที่ดีจะตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี
นายอัษฎา แก้วเขียว
โครงการมิกซ์ยูสหนุนรายได้ระยะยาว

นายอัษฎา แก้วเขียว ประธานผู้อำนวยการ แบรนด์วิสซ์ดอม บริษัท แมกโนเลียควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยว่า LTV – DSR มีผลกระทบกับธุรกิจอสังหาฯอย่างแน่นอน สิ่งที่สำคัญคือ การสื่อสารที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกตระหนก ทำให้มีข้อจำกัดในการตัดสินใจซื้อ ชะลอการซื้อออกไป ผู้ประกอบการเริ่มปรับการรับรู้รายได้จากการขายเพียงอย่างเดียว หันมาพัฒนาโครงการประเภทมิกซ์ยูส เนื่องจากการจะรับรู้รายได้ก้อนโตคงจะไม่มาก ทำให้ต้องปรับมาสู่รายได้ระยะยาวมากขึ้น โดยในส่วนของบริษัทฯ มีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่พัฒนากว่า 200,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มองว่าในปัจจุบันกรุงเทพฯมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ ผังเมือง เมกะโปรเจกต์และเทคโนโลยี เป็นต้น ทำให้การพัฒนาโครงการต้องตอบสังคมและไลฟ์สไตล์กลุ่มผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะ Gen Y มีการให้ความสำคัญกับเรื่องเวลามากขึ้น

"กลุ่ม Gen Y จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง อยากได้เวลา ได้รับการใส่ใจค่อนข้างมาก ซึ่งโครงการมิกซ์ยูสจะเป็นคำตอบ และการที่แมกโนเลียฯมาทำมิกซ์ยูส เพราะการทำอสังหาฯอย่างเดียวคงจะลำบาก จึงมีการร่วมทุนกับพันธมิตรมากขึ้น"
นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร
ซัพพลายอสังหาฯเติบโตแบบไม่มีการควบคุม

นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หากมองตลาดอสังหาฯในกรุงเทพฯและในประเทศไทยรอบ 30 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมา 2 ครั้ง ซึ่งวงจรการเกิดวิกฤตจะรอบ 10 ปี ทั้งจากการเก็งกำไรของนักลงทุน และเกิดจากวิกฤตภายนอก ซึ่งหากไม่รวมระยะวิกฤตดังกล่าว จะพบว่าตลาดคอนโดฯเติบโตมาแล้ว 18 ปี และตลาดอสังหาฯที่ชะลอตัวในปี 2562 มองว่ายังมีผู้ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยอีกมาก โดยที่ผ่านมาตลาดควรจะชะลอตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้ลูกค้าจากประเทศจีนเข้ามาเสริมตลาด ในขณะที่ตลาดคอนโดฯระดับบนที่ซีบีอาร์อีบริหาร ประมาณ 30-40 โครงการ ก็ได้รับผลกระทบจากทั้งจากมาตรการ LTV และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะประกาศใช้ในต้นปี 2563 ด้วยเช่นกัน

" คอนโดมิเนียมโตยาวนานมาก โตแบบซัพพลายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จนกำลังซื้อเราไปไม่ถึง และคิดว่า มันต้องเกิดขึ้นมา เพราะเป็นไปตามวงจรของธุรกิจ และประเทศไทยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรในการควบคุมซัพพลาย ซึ่งเรามองว่า อสังหาฯเป็นการลงทุน หากกลุ่มผู้ซื้อในประเทศลดลง ก็ต้องไปมองเรื่องการลงทุน มองเป็นอิสเวสต์เม้นท์โปรดักส์ ซึ่งเรามองว่า กลุ่มมีเงินแต่ไม่เอาเงินออกมาใช้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของ LTV เมื่อกลุ่มนี้ไม่ใช้เงิน ภาพรวมเศรษฐกิจก็ไม่มีการหมุนเวียน ตลาดก็ชะลอตัวลง และคิดว่าปี 63 จะเป็นการเคลียร์สต็อกมากกว่าเปิดโครงการ จะส่งผลให้ตัวเลขการเปิดโครงการปีหน้าลดลง 20% "นางสาวอลิวัสสา กล่าว

สำหรับตลาดอาคารสำนักงานพบว่า ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีนี้ แต่หลังจากนั้นอาจจะเกิดโอเวอร์ซัพพลายในปี 2565 จะมีพื้นที่เช่าในเขตซีบีดีถึง 608,500 ตารางเมตร(ตร.ม.)

“โดยภาพรวมมองว่า ตลาดซูเปอร์ลักชัวรี่ในทำเลดี ยังสามารถขายได้ดีลักษณะการขายโครงการในปีนี้ หากขายดีก็ดีไปเลย หากขายไม่ดี ก็หยุดอยู่แค่นั้น ดังนั้นโครงการที่จะพัฒนาไม่ควรไปในทำเลที่มีซัพพลายมาก ควรเลือกทำเลที่มีศักยภาพ และมีดีมานด์ ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ต้องทำเป็นตลาดเช่าให้กลุ่มที่เกษียณแล้ว สามารถซื้อได้ แต่ยังมีผู้ทำน้อยมาก แม้ว่าจะมีดีมานด์อีกเยอะ แต่ตลาดนี้ไม่ได้ทำง่ายๆ”
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์
จับตาCBDขยายตามแนวรถไฟฟ้าแห่งใหม่

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรที่หนาแน่นในเมืองกรุงเทพฯและปริมณฑล การดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า จะมีส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยในเรื่องของการดำเนินทาง เนื่องจากในปัจจุบันจะพบว่า ตัวเลขการใช้รถส่วนบุคคล (ไพรเวททรานสปอร์ต)ยังมีสูงประมาณ 82% เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ๆอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่ตัวเลขเรื่องการเดินทางระบบขนส่งมวลชนมีสัดส่วนสูงกว่าแบบไพรเวททรานสปอร์ต ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลในชุดที่ผ่านมาและปัจจุบันได้ดำเนินการพัฒนาการขนส่งระบบราง โดยได้ดำเนินการแล้วประมาณ 124 กิโลเมตร(กม.) และมีการอนุมัติโครงการและอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวมเพิ่มเป็น 298 กม.และอยู่ในระหว่างการประกวดราคาอีก 400 กม. รวมถึงยังมีการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีก 221 กม.

ทั้งนี้ในแผนโครงข่ายรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายระหว่างปี 2569-2572 จะเปิดเพิ่มอีก 112.23 กม. ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดตามแผนปี 72 จะมีการเปิดให้บริการรวม 557.56 กม. ซึ่งจะมีจุดของสถานีรวม 351 แห่ง และมีสถานีเชื่อมต่อถึง 56 จุด ซึ่งการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าที่มากขึ้น จะทำให้การขยายตัวของศูนย์กลางทางธุรกิจ(ซีบีดี)ออกไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2) ซึ่งตามแผนเดิมที่ศึกษาไว้จะมีรัศมี 20 กม.จากศูนย์กลางกรุงเทพฯ แต่แผนแม่บทระยะที่2 จะขยายรัศมีพื้นที่ศึกษาออกไปเป็น 40 กม. ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดนครปฐม,นนทบุรี,ปทุมธานี,สมุทรปราการ ,สมุทรสงคราม,อยุธยาและฉะเชิงเทรา

ผังเมืองกทม.ฉบับใหม่เพิ่มความเข้มข้นพัฒนารอบรถไฟฟ้า

นางสาวชูขวัญ นิลศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานวางผังเมือง กรุงเทพมหานคร(กทม.) จะมีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากผังเมืองกทม.ฉบับปี 2556 ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการขยายตัวของเมืองและระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันยังเป็นส่งเสริมต่อภาคธุรกิจคอนโดมิเนียม ซึ่งในการทำผังเมืองกทม.ฉบับปรับปรุงใหม่ จะมีความห่วงใยต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้ผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน(เทรดวอร์) ทำให้กำลังซื้อลดลง เรื่องมาตรการควบคุมสินเชื่อใหม่(LTV) พบภาระหนี้ต่อครัวต่อจีดีพีของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีเงินออมลดลง กำลังซื้อคนจะไม่มี ซึ่งการจัดทำและปรับปรุงผังเมืองกทม.ใหม่ จะช่วยการพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจคอนโดมิเนียม

อาทิเช่น ในภาพรวมของผังใหม่ จะมีการอับโซนในส่วนของสีส้มอาจเป็นสีน้ำตาลหนาแน่นมากขึ้น บริเวณสีเหลืองเป็นสีส้มมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่สีส้มจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ไร่ มีการปรับพื้นที่อาคารต่อพื้นที่รวมต่อพื้นที่ดิน(FAR)เฉลี่ยของกทม.เพิ่มขึ้น 0.5-1% จะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของการใช้ประโยชน์บนที่ดินในแต่ละพื้นที่ ได้มากขึ้น มีการขยายพื้นที่โซนศูนย์กลางเมือง โซนอโศก สุขุมวิท มีการเพิ่มพื้นที่สีแดงมากขึ้น

การเพิ่ม FAR Bonus จาก 5 รูปแบบ ได้แก่ จัดให้มีที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่าตลาด ,จัดให้มีที่จอดรถยนต์เพิ่มโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า,จัดให้มีอาคารอนุรักษ์พลังงาน,จัดให้มีพื้นที่สาธารณะ/สวนสาธารณะริมเขตทางและ จัดให้มีพื้นที่รับน้ำ เพิ่มอีก 3 รูปที่จะได้รับ FAR Bonusเพิ่มเติม ได้แก่

-จัดให้มีพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในบริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในระยะ200เมตร โดยรอบสถานี

-จัดให้มีพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ/สวนสาธารณะรับแหล่งน้ำในสาธารณะ (Public Open Space)

-จัดให้มีสถานีรับเลี้ยงเด็ก/สถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (อาคารอยู่อาศัยรวมหรืออาคารสำนักงาน)
นางสาวชูขวัญ นิลศิริ
รวมถึงในผังเมืองกทม.ฉบับใหม่ มีมาตรการใหม่ ทั้งเรื่อง การโอนสิทธิการพัฒนา (Transfer of Development Right หรือ TDR) การส่งเสริมการพัฒนาโดยรวมพื้นที่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง (Transfer Oriented Development TOD) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานและมีความหนาแน่นสูงในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า ด้วยการกำหนดเงื่อนไขขนาดกิจการที่ตั้งอยู่ในรัศมี 500 ,650 และ 800 เมตร โดยโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรือระยะ 800 เมตรโดยรอบสถานีร่วมหรืออยู่ในระยะ 250 เมตร โดยรอบท่าเรือสาธารณะริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา.
กำลังโหลดความคิดเห็น