xs
xsm
sm
md
lg

"อุตตม" ฉายภาพ THE NEXT THAILAND 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขุนคลังแนะมองโอกาสจากวิกฤตในอดีตเป็นบทเรียน หันกลับมาพัฒนาคนตั้งแต่ระดับฐานราก สร้างภูมิคุ้มกันให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เข้ามา ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ ต่อยอดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญซึ่งเป็นของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน THE NEXT THAILAND 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งจัดโดย iBusinessณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องให้ความสำคัญ และอาจต้องแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าซึ่งจะเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลได้เดินหน้านโยบาย THAILAND 4.0 ซึ่งถือเป็นโจทย์ในการพัฒนาประเทศที่แท้จริง และถือว่าเป็นนโยบายหลักที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวทันโลก และมีส่วนคาบเกี่ยวกับหน่วยงานที่เกี่ยวของหลายๆ กระทรวง ซึ่งขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังก้าวข้ายุค4.0 เข้าสู่ยุค 5.0 บ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจก็จะต้องเดินหน้าพัฒนาประเทศไทยให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ

รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมือง 19 พรรค ที่จะขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาประเทศ โจทย์หลักคือรัฐบาลจะทำอย่างไร สานต่อจากนโยบายเดิมซึ่งได้ดำเนินการไปล่วงหน้าแล้ว เป็นคำถามที่นักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจอย่างยิ่ง ในการที่จะเรียกความเชื่อมั่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา

“ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้สามารถที่จะใช้ประโยชน์ สร้างประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้มีความจำเป็นที่เราจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเราเองให้ได้ ท่ามกลางความผันผวนที่ทวีความรุนแรงและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ที่จะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาที่สั่งสมอยู่มานาน ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ในเวลาที่น้อยกว่าทั้งในเศรษฐกิจ และสังคมได้ เพราะฉะนั้นถ้าทำได้ ก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทย ให้ก้าวทันทัดเทียมเศรษฐกิจโลก อย่างยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดคือครอบคลุมคนไทยทั่วถึงทุกภูมิภาคไม่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนในอดีต”

ขณะเดียวกันหากมองตามสถิติการจัดอันดับกลุ่มประเทศจากธนาคารโลก ซึ่งประเทศไทยในอดีตถูกจัดให้เป็นกลุ่มประเทศยากจน แต่ปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้ขยับขึ้นมาสู่อันดับต้นๆของประเทศที่มีรายได้สูง ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายในช่วงหนึ่งอายุคนเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของคนไทย และของรัฐบาลที่ผ่านมาๆ ทั้งหมด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการต่อยอดเทคโนโลยีซึ่งถือได้ว่าเป็นกุญแจที่จะเปิดกว้างและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชนในประเทศได้อย่างมากมาย และรวดเร็วถือว่าเป็นวาระแห่งชาติที่คนไทยจะต้องเรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยีและนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ให้ตกขบวน

“เทคโนโลยีถือว่าเป็นแต้มต่ออย่างมากสำหรับประเทศเล็กๆ ถ้าใช้เทคโนโลยีเข้าถึงได้และใช้เป็น จะถือได้ว่ามีความได้เปรียบเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบโจทย์ของคนไทย และแก้ไขปัญหาต่างๆที่สั่งสมมานาน ตลอดจนถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ และบริบทของสังคมแวดล้อมที่เชื่อมโยงถึงกัน ท้ายที่สุดคือการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยได้”

นอกจากนี้ สิ่งที่เข้ามาและถือว่าเป็นอิทธิพลส่งผลต่อภาคธุรกิจคือ Disruption ซึ่งต่อจากนี้ ประชาชน ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆอาจจะได้ยินบ่อยมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเดิม อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน และสร้างภูมิคุ้มกันในการประกอบธุรกิจ ต่อความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพ อาทิเช่น การค้าขายออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น กระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้าในรูปแบบเดิม ทำให้ต้องมีการปรับตัวเข้าหากลุ่มลูกค้าออนไลน์ด้วย เพื่อไม่ให้ถูก Disruption ขณะที่ต่างประเทศก็มีการรุกคืบขยายการลงทุนด้านการค้าออนไลน์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันหากพิจารณารูปแบบการขายสินค้าออนไลน์มีมากกว่ารูปแบบการขายสินค้าแบบเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยได้อย่างมาก อย่างไรก็ตามประชาชนหากไม่ปรับตัว และสร้างภูมิคุ้มกันให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เข้ามา ก็จะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายขึ้นอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้อย่าเพิ่งตระหนกหรือวิตกเกินไป และให้มองว่าเป็นโอกาสที่จะพัฒนาช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการกลับมาสู่ภาคธุรกิจของตนเอง

ขณะเดียวกันการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถยกระดับประเทศไทยจากประเทศยากจน ก้าวขึ้นสู่อันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีรายได้สูง แต่ยังมีปัญหาในเรื่องโครงสร้างภายใน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และกระจุกตัวของการพัฒนาอยู่ในบางส่วนของสังคม บางพื้นที่ของประเทศ ผลประโยชน์เชิงทับซ้อน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานและแฝงเร้นอยู่ภายในของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาสสุดท้ายจะเป็นอุปสรรค และบั่นทอนการพัฒนาประเทศที่จะเดินไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ถ้าประเทศไทยมียุทธศาสตร์ที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานต่อประชาชนในประเทศ ก็จะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคตได้ตามแนวทาง ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเทคโนโลยีมีความสำคัญ แต่อย่างไรเสียสุดท้ายต้องตอบโจทย์เรื่องของคนให้ได้ ดูแลคนให้ได้

ด้านเศรษฐกิจ ในส่วนของประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับโครงสร้างทั้งระบบ ตามบริบทประเทศไทยดั้งเดิมที่เน้นอุตสาหกรรมการเกษตรที่ถูกพัฒนาเรื่อยมากว่า 30 ปี จากการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นกรณีที่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตสินค้าที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ในจังหวัดระยอง ทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อลดต้นทุนด้านบุคคล และ อัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกลง ประกอบกับนโยบายส่งเสริมด้านการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม และได้มีการวางแผนสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานในช่วงนั้นเป็นต้นมา และใช้อุตสาหกรรมเหล่านี้ ผลิตป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมทั้งในประเทศ และได้มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทำให้มีดุลการค้ากลับคืนมาจากการเป็นคู่ค้าในหลายๆประเทศ

“ในทางกลับกัน ใส้ในของการส่งสินค้าออกของไทยนั้น ส่งออกสินค้าเกษตรจากต้นทางเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีราคาที่อ่อนไหวต่อราคาโลกตามปริมาณความต้องการ เมื่อมีความต้องการจำนวนมาก ผลิตได้น้อย สินค้าจะมีราคาสูง ในทางกลับกันหากผลิตได้จำนวนมาก ส่งออกได้มาก แต่ปริมาณความต้องการน้อย ราคาสินค้าก็จะถูกลง ซึ่งถึงแม้ว่าจะผลิตสินค้าได้น้อย มีความต้องการสินค้ามาก แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าความต้องการสินค้าจะมากตามไปด้วย เนื่องจากหากมีราคาที่สูงขึ้น ประเทศที่ซื้อต้องจ่ายเงินมากขึ้น แต่ได้สินค้าเท่าเดิม ก็อาจเปลี่ยนไปใช้สินค้าประเภทอื่น จากที่อื่นเพื่อทดแทนกันได้”

โอกาสที่จะพัฒนาประเทศเพื่อไม่ให้ถูกเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าเข้ามา Disruption ด้วยการไม่หยุดนิ่ง พัฒนาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมที่ทำอยู่ เช่นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโรงงานผลิตรถยนต์อยู่แล้ว ก็ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตซึ่งกำลังเป็นสนใจในหลายๆประเทศอยู่ ไม่ใช่เพียงฐานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าให้ประเทศอื่นในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งเป็นของตัวเองเช่นแบ็ตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้

ขณะที่ อุตสาหกรรมเชิงเกษตร ต้องต่อยอดจากที่มีอยู่เดิมให้ได้ ไม่ทำระบบเกษตรในแบบเดิมที่ทำอยู่สืบๆกันมา ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ หากพิจารณาในเชิงลึก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในหลายๆ อุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ลงมือทำ อาทิเช่น อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ อย่างที่ทราบกันดี ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุมากกว่าประชากรวัยทำงานและต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทุกปี หากนำเทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับธุรกิจบริการจะมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งอุตสาหกรรมประเภทนี้เหมาะกับคนไทยมาก ทั้งพื้นที่ตั้งของประเทศที่เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยง AEC กับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ สภาพอากาศที่เหมาะสม ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เกษียณอายุการทำงานมักจะเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี้ อีกทั้งโดยนิสัยคนไทยที่โอภาปราศัยทำให้เอื้อต่อการทำอุตสาหกรรมด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก

อุตสาหกรรมด้านหุ่นยนต์โรโบติก นำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตสมัยใหม่ ที่มีความซับซ้อน หรือใช้เวลาในการผลิตมาก ช่วยในการประหยัดเวลาได้น้อยลง และเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากขึ้นกว่ารูปแบบที่มีอยู่เดิม หรือแม้ได้ในด้านอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ เพื่อลดการใช้แรงงานคน จากภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมา ซึ่งวันนี้มีจุดเริ่มต้นแล้ว และจะหาโอกาสขยายต่อไปยังอุตสาหกรรมที่หลากหลายตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนสู่อุตสาหกรรมในครัวเรือน

อุตสาหกรรมการบิน ประเทศไทยอาจไม่สามารถพัฒนาไปถึงการสร้างเครื่องบินได้ แต่จะขยายไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่นการบำรุงรักษาเครื่องบิน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่คนไทยสามารถทำได้ เนื่องจากตามภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศที่มีการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ และมีความพร้อมในอันดับต้นๆของการเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางอากาศอยู่แล้ว เหมาะมากที่จะสร้างอุตสาหกรรมเหล่านี้ขึ้นมาให้เป็นศูนย์กลางอู่ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งเอเซีย

อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นอุตสาหกรรมที่เหมือนน้ำ ซึ่งจะแปรรูปไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ตามการประยุกต์ใช้งานซึ่งมีความกว้างขวางและมีประมาณความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีและยังมีส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้อยู่น้อย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรเน้นย้ำในการให้ความใส่ใจอันดับแรกคือ “คน” เนื่องจากประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลากรที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 4.0 ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่เก่ง แต่เหนืออื่นใดคนไทยต้องปรับเปลี่ยนทักษะเพื่อให้สอดคล้องตามกระแสเทคโนโลยีใหม่ และสามารถใช้งานได้เป็นประโยชน์มากที่สุด และพร้อมรับกับอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะสร้างให้เกิดขึ้นมาทั้งในภาคธุรกิจ หน่วยงานราชการ แต่ที่น่าสนใจคือกลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่ม SME หรือกลุ่ม Start Upเนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆเป็นแต้มต่อที่สำคัญของกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคมเหล่านี้ จะต้องทันมาเน้นกลุ่มคนเหล่านี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

“กลุ่มคนทำงานที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว ไม่ได้ทอดทิ้งคนเหล่านี้ แต่ทำอย่างไรถึงจะให้คนกลุ่มอนาล็อกเหล่านี้ ยอมที่จะปรับเปลี่ยนรูปเดิมๆ ไปสู่การทำงานในรูปแบบดิจิทัล ที่มีราคาถูกลง ต้นทุนต่ำลง เพื่อที่จะนำเวลาที่เหลือไปพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรที่มีอยู่นั้นให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น เช่นกรณีของสรรพากร ที่มีการส่งเสริมให้ Start Up พัฒนาระบบเทคโนโลยีที่จะให้ประชาชนสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงข้อมูลความรู้ความเข้าในด้านภาษีได้สะดวกและง่ายดายขึ้นมากขึ้นซึ่งปรับจากรูปแบบเดิมคือ hackathon คือการระดมความคิดเห็น ไอเดีย และความร่วมมือกันในการหา solution เพื่อแก้ปัญหาหรือโจทย์ที่ได้ตั้งขึ้นมาในรูปแบบ solution ที่สามารถนำมาเสนอได้หลายรูปแบบหรือประยุกต์เป็น hackatext และมีการจัดแข่งขันเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุดและสื่อสารเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด”

การป้อนอุตสาหกรรม วันนี้คนไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น ให้มีทักษะที่จำเป็นให้ครบ โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะเน้นพัฒนาบุคลากรด้านสายอาชีพเฉพาะทางให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ มิใช่ไม่เน้นปริญญาตรี โท เอก แต่ที่ผ่านมาบุคคลกรสายอาชีพมีความขาดแคลนอย่างมาก ตัวอย่างจากหลายๆประเทศ ที่บุคคลกรสายอาชีพหรืออาชีวะ สามารถทำประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆได้มาก แต่ก็ต้องมีชุดทักษะที่ตรงกับความถนัดในสายที่จบ ได้ทำงานตรงกับสายวิชาชีพที่เรียนมา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ

“ภาคอุตสาหกรรมให้โจทย์มาเลยว่าต้องการอะไร เช่นยานยนต์ไฟฟ้า โรโบติก ออโตเมติก ออโตเมชั่น แล้วให้ภาคอาชีวะนำโจทย์เหล่านี้ไปทำมา เพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสหกรรมและภาคการศึกษา ได้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ลดช่องว่างที่มีให้น้อยลง หรืออุดช่องโหว่รูรั่วในระบบอุตสาหกรรมออกไป ซึ่งรัฐบาลจะทำหน้าที่ประสานการเชื่อมโยงเหล่านี้ ให้มีแรงจูงใจในการเชื่อมโยงในการผลิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถาบันที่มีการสร้างแรงจูงใจในการสร้างบุคคลากรกลุ่มวิชาชีพที่มีความถนัดเฉพาะทาง ในแขนงวิชาชีพใหม่ๆ หรือภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นประโยชน์ต่อความจำเป็นและการพัฒนาประเทศในอนาคต ท้ายที่สุดประเทศไทยจะสามารถเดินไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพิงประเทศอื่นที่อาศัยไทยเป็นฐานการผลิต สามารถพัฒนาต่อยอดแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ด้วยเทคโนโลยี ด้วยคน ด้วยสินค้า ที่ประเทศไทยสร้างด้วยตัวเอง ”

ขณะที่โจทย์หลักอีกประการคือ ความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แต่รัฐบาลต้องพัฒนาควบคู่ไปพร้อมๆกันที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมาที่เรียกว่า “ฐานราก” ต้องเข้มแข็งขึ้นมาด้วยทั้งการเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ และสร้างภูมิคุ้มกันควบคู่ไปพร้อมๆกันไปด้วย เศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้อย่างที่เห็นกันอยู่มีความผันผวนอย่างต่อเนื่องรุนแรง หากเศรษฐกิจภายในประเทศไม่มีความเข้มแข็ง จะเกิดผลกระทบหลายเท่าทวีคูณ เพราะเงินเข้าประเทศ รายได้ส่งออกถูกกระทบ ขณะเดียวกัน หากเศรษฐกิจในประเทศไม่มีความคึกคัก ไม่มีการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเอง ความต้องการภายในประเทศอุปสงค์อ่อนตัวลง ส่งผลให้ภาพรวมประเทศยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นการสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศตั้งแต่ฐานรากขึ้นมาให้เข้มแข็ง ถือได้ว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบครบถ้วนครอบคลุมครบวงจรในทุกระดับชั้น

การสร้างหลักประกันในชีวิตให้เพียงพอ ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา ล้วนถือว่าเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนจะต้องได้รับ ซึ่งหากรัฐสวัสดิการนี้เหมาะสมแล้ว จะสะท้อนกลับมาในรูปของบุคคลากรในองค์กรที่มีความเข้มแข็ง ในทางกลับกันหากหลักประกันไม่มีก็จะเกิดความกังวลต่อชีวิตความเป็นอยู่ และจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนด้านทัศนคติและการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆโดยเฉพาะในระดับฐานรากของสังคมคือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันส่งเสริมประชาชนในระดับฐานรากในระดับครอบครัว ให้มีโอกาสที่จะเรียนรู้เพิ่มทักษะการใช้การเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ต่างๆ ให้องค์ความรู้ที่จะเพิ่มมูลค่าของสินค้าทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมในชุมชน นำไปสู่สินค้าที่มีความต้องการของตลาดมาก ซึ่งก่อให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้นจนถึงเศรษฐกิจในระดับมหภาค

สร้างแรงจูงใจนำเทคโนโลยีข้างนอกมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า ด้วยการจับมือร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันสร้างแนวทางในชุมชนตามวิถีทาง อัตลักษณ์และความถนัด ความร่วมมือในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ความร่วมมือกันในระดับชุมชน ตลอดจนถึงการยึดโยงกับภาคการท่องเที่ยวให้กลมกลืนไปด้วยกัน และไม่ใช่เพียงการยื่นความช่วยเหลือเรื่องเงินทุนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดสิ่งที่ชุมชนต้องการ ต่อยอดด้วยทักษะใหม่ๆ ซึ่งหลายๆประเทศได้ลงมือทำ และประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่นประเทศญี่ปุ่นที่ได้ริเริ่มทำระบบเกษตรกรรมทางเลือกตามความต้องการของผู้บริโภค จนนำไปสู่ความร่ำรวยมั่งคั่ง ขณะที่ประเทศจีน พลิกฟื้นจากความยากจนด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่า เป็นสิ่งหนึ่งในการที่เราจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง สร้างเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง ไม่กระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เหมือนในอดีต แต่ให้กระจายออกไปยังกลุ่มประชาชนในระดับฐานรากให้มากที่สุด

โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิต ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านที่ตั้งกว่าหลายๆประเทศ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีการยกระดับนโยบายทั้งการคมนาคม และโทรคมนาคม เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ฐานรากในพื้นที่ต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น ในการที่จะเชื่อมโยงประเทศอื่น ๆ ทั้งในภูมิภาค และนอกเหนือภูมิภาคออกไปใช้ประโยชน์ของพื้นที่การเชื่อมโยงให้เต้มที่ ซึ่งมีศักยภาพสูงมาก โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาด้านระบบอุตสาหกรรมเมื่อ 35 ปีก่อนและพัฒนาต่อยอดไปสู่พื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งรวมศูนย์กลางในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนถึงการพัฒนาคน ที่จะกระจายความเจริญไปยังภาคต่างๆ ทั้งภาคใต้หรือ SEC จากความคิดในการส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นระดับภูมิภาค ของคนในพื้นที่ ขณะที่ภาคตะวันตกก็ได้มีการเข้ามาปรึกษาจากการที่ได้ไปศึกษาการสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมเพื่อการลงทุน หรือ WEC ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพกันและกัน ในการประสานโครงข่ายร่วมมือและเปลี่ยนเทคโนโลยี วัตถุดิบ ทรัพยากรซึ่งกันและกันได้ ที่ได้มีการวางแนวทางการขยายโครงการไปแล้ว โดยเอาภาคตะวันออกเป็นต้นแบบ ที่มีแนวความคิดเดียวกันว่า “เป็นพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน” ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคน ไม่ใช่การไปจำเพาะเจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และผลักดันให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ได้กระจายไปยังพื้นที่อื่น สุดท้ายการพัฒนาก็จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่นั้นๆ และเกิดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง จึงจำเป็นที่จะต้องคิดนอกกรอบเดิมๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบใหม่ๆบ้าง และทำความเข้าใจร่วมกันถึงเหตุผลและที่มาที่ไปของไอเดียแนวความคิดเหล่านั้น แต่ถ้าเปิดกว้างทำความเข้าใจร่วมกันจะเกิดประโยชน์ตามมาอีกมากมายมหาศาล

ขณะที่เหตุการณ์เฉพาะหน้าเศรษฐกิจโลกยังไม่วิกฤต แต่ก็ไม่ประมาท แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบด้านการส่งออกตั้งแต่ต้นปีและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสภาวะความตึงเครียดของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อหรืออุปสงค์หดตัว หลายๆ ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหมด ขณะที่ประเทศไทยหลังการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที เพราะมีบทเรียนด้านปัญหาที่เกิดขึ้นจากในอดีตอยู่ก่อนแล้ว ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 รัฐบาลจึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้รวดเร็ว และตรงจุด และมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันในส่วนของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเป็นส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญในการนำเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งยึดโยงกับธุรกิจขนส่ง การบิน โรงแรม อาหาร บริการ ฯลฯ แรงงานในภาคการท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการทำงานที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความคึกคักมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในส่วนภายนอกประเทศจากความต้องการสินค้าที่มาจากประเทศไทยลดน้อยลง

ในส่วนของภาคเกษตรมีการเยียวยาทั้งที่ถูกกระทบด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ ที่ไม่ถูกกระทบ แต่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาพื้นผลตกต่ำ เช่นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่จะมีมาตรการอุดหนุนต้นทุนการปลูก การประกันรายได้ แต่คาดหวังว่าในอนาคตเมื่อภาคเกษตรยกระดับแล้ว มาตรการดูแลเหล่านี้ จะปรับลดลง แล้วไปเพิ่มการลงทุนในการต่อยอดเกษตรเชิงอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ด้านการดูแลสวัสดิการของรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งทุกฝ่าจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน อย่างไรก็ตามทุกมาตรการมีอายุ เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเฉพาะกิจเท่านั้น ไม่ใช้ให้แล้วให้ตลอดไป สุดท้ายมาตรการทั้งหมดที่ออกมาก็เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้คนไทยสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ตามแนวทาง ไทยแลนด์ 4.0



กำลังโหลดความคิดเห็น