xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มทุน EFORL "วิชัย ทองแตง" ใส่เงินไหม / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะกรรมการ บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL แจ้งผลการประชุมเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีมติเพิ่มทุน จำนวน 8,054.12 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 7.5 สตางค์ และเป็นการเพิ่มทุนติดต่อกัน 3 ปี แต่การเพิ่มทุนครั้งนี้จะระดมทุนได้ตามเป้าหมายหรือไม่

เพราะราคาที่เสนอขายไม่จูงใจ ขณะที่ผลประกอบการบริษัทขาดทุนต่อเนื่อง และไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันการเพิ่มทุนจะใส่เงินเพิ่มทุนหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มของนายวิชัย ทองแตง นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้น

หุ้นเพิ่มทุน จำนวน 8,054.12 ล้านหุ้น จะจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม ในสัดส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 5 สตางค์ ขณะที่ราคาหุ้น EFORL ย่ำฐานอยู่ในระดับ 4 สตางค์มายาวนาน ราคาหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายจึงไม่จูงใจใช้สิทธิการจอง เพราะซื้อในกระดานถูกกว่า

นอกจากนั้น ผลประกอบการของบริษัทยังขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี 2559 ขาดทุนสุทธิ 614.45 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 1,163.11 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 166.31 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 36.06 ล้านบาท โดยมียอดขาดทุนสะสมทั้งสิ้น 1,799.21 ล้านบาท

EFORL มีคดีฟ้องร้องหลายกรณี ทั้งการฟ้องร้องทางแพ่ง ขอยกเลิกการขายแฟรนไชส์วุฒิศักดิ์คลินิกของบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก นอกจากนั้น อดีตผู้บริหารบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ยังมีคดีฉ้อโกง ถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ EFORL จนปัจจุบัน

แม้จะมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยออกหุ้นเพิ่มทุนขายให้บุคคลในวงจำกัดในหลายครั้ง ซึ่งกลุ่มนายวิชัย ทองแตง ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวนกว่า 1.1 หมื่นล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4 สตางค์ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2561 แต่สถานการณ์บริษัทไม่ได้ดีขึ้น สะท้อนจากผลประกอบการที่ยังย่ำแย่

หุ้น EFORL ตกอยู่ในสภาพตายซากมานาน แม้กลุ่มนายวิชัย จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ และกุมอำนาจการบริหารจัดการ แต่ไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ โดยราคาหุ้นยังคงย่ำอยู่แถว 4 สตางค์ มูลค่าการซื้อขายเบาบาง บางวันเคาะซื้อขายกันเพียงไม่กี่บาท

กลุ่มนายวิชัย เป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่ต้องเข้ามาติดหุ้น EFORL เพียงแต่ยังไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัวมากนัก เพราะมีต้นทุนการถือหุ้นอยู่ที่ 4 สตางค์ ซึ่งนายวิชัย ถือหุ้นอยู่จำนวน 7,308.28 ล้านหุ้น หรือถือในสัดส่วน 22.68% ของทุนจดทะเบียน

นักลงทุนกลุ่มที่เจ็บหนักที่สุดคือรายย่อย เพราะติดหุ้นในราคาต้นทุนสูง และส่วนใหญ่ติดหุ้นมานาน โดยผู้ถือหุ้นรายย่อยมีจำนวนทั้งสิ้น 15,423 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 53.12% ของทุนจดทะเบียน

ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ติดหุ้น EFORL อยู่ แม้ต้องการตัดขาดทุนขาย แต่ทำไม่ได้คล่องตัวนัก เพราะหุ้นขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย มูลค่าซื้อขายแต่ละวันน้อยมาก

การเพิ่มทุนครั้งนี้ กลายเป็นปัญหาของผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่อาจเข็ดกับการเติมเงินใส่ EFORL เพราะเดือนพฤษภาคม 2560 เคยประกาศเพิ่มทุน จัดสรรหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคา 14 สตางค์

แต่ราคาหุ้นล่าสุดแน่นิ่งอยู่แถว 4 สตางค์ ใครซื้อหุ้นเพิ่มทุนปี 2560 เดี้ยงกันหมด

หุ้นเพิ่มทุนจำนวนกว่า 8 พันล้านหุ้นที่จะเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมครั้งนี้ จึงมีความเสี่ยง เพราะขายในราคาสูงกว่ากระดาน และผู้ถือหุ้นก็ไม่มีหลักประกันความมั่นใจว่า ใช้สิทธิชำระค่าหุ้นไปแล้ว ผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นหรือไม่

นอกจากนั้น ยังไม่มีหลักประกันความมั่นใจว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเฉพาะ นายวิชัย จะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่ เพราะการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กระยะหลัง ผู้ถือหุ้นใหญ่มักไม่ใช้สิทธิเพิ่มทุน ทั้งที่เป็นคนผลักดันการเพิ่มทุน

แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยกลายเป็นฝ่ายถมเงินเข้าบริษัท

EFORLจะประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขอมติเพิ่มทุนในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องถามขอคำยืนยันจากนายวิชัย ว่า จะใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่

ถ้าไม่มีคำยืนยันการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากนายวิชัย และผู้ถือหุ้นรายใหญ่กลุ่มอื่น ผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 15,000 คน ไม่ต้องคิดมากว่าจะใส่เงินเพิ่มทุนหรือไม่

เพราะเมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ยังไม่ยอมยืนยันซื้อหุ้นเพิ่มทุน ถ้า รายย่อยถมเงินใส่ EFORL อาจกลายเป็นหมูถูกต้ม เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ถูกผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ถูกหลอกให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนหน้า



กำลังโหลดความคิดเห็น