ธอส.ระบุตัวเลข NPls ไหลกลับจากการปล่อยสินเชื่อลดลงเหลือ 2,100 ล้านบาทต่อเดือน จากความสามารถในการบริหาร ขณะที่ตัวเลขการเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับแบงก์เอกชน เผยแนวโน้มปล่อยกู้ดีขึ้น คล่องขึ้น ลูกค้ามีความพร้อมเข้าใจ มั่นใจทั้งปีได้ตามเป้าแน่นอน 2.03 แสนล้านบาท เผยสลาก ธอส.ครบ 3 รุ่นดูดเงินในระบบกว่า 100,000 ล้านบาท จ่อเสนอบอร์ดไตรมาส 2 ปี 63 ออกเพิ่มอีก แจงโครงการบ้านล้านหลัง อนุมัติไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ยันซัปพลายมี โครงการต่างจังหวัดเกิดเพียบ
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยภายหลังการจัดงาน "ครบรอบ 66 ปี วันสถาปนาธนาคารอาคารสงเคราะห์" ว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารฯ สินเชื่อปล่อยใหม่มี 3 องค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สินเชื่อใหม่จะถูกกระทบจากแม็คโครพรูเด็นเชียล หลังจากมีการออกมาตรการมาแล้ว คนเริ่มปรับตัว เริ่มเข้าใจในการเก็บเงินออม เริ่มเข้ามากู้เหมือนเดิม เรื่องการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ( LTV) จะต้องมีเรื่องเงินดาวน์ ซึ่งลูกค้ามีการเก็บเงินดาวน์ และเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ธอส.อาศัยช่องทางเรื่องการออกสลากนั้น ทำให้สามารถกดดอกเบี้ยได้ต่ำ เฉลี่ย 3 ปี ได้ 2.77% ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้ไว้ ไม่มองเรื่องของกำไร ทำให้เรากดอัตราดอกเบี้ยลงได้ต่ำมาก
"ดอกเบี้ยที่ต่ำมีไว้สำหรับประชาชนที่เป็นกลุ่มที่ก้าวข้ามเส้นการมีบ้านครั้งแรก แต่อย่าไปปล่อยกู้กลุ่มพวกที่สนุก ที่ไปกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 หลังที่ 4 เพื่อมุ่งหวังการเก็งกำไร อย่าเอาของถูกไปให้กลุ่มที่มีความสามารถในการเก็งกำไร ที่เราปล่อยกู้ 1 ถึง 3 ล้านบาท กลุ่มนี้ไม่มีช่องไปเก็งกำไร โครงสร้างลูกค้าสินเชื่อของ ธอส.จะ 3 ล้านบาทลงมา และกลุ่ม 5 ล้านบาทบวกลบ การปล่อยของเราคุมเรื่องวงเงินสินเชื่อต่อหลักประกันไม่เกิน 5 หลัง"
สำหรับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ลดลง 286 ล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ลดลง ส่งผลให้ตัวเลข NPLs ลดลงอยู่ที่ 4.75% (ณ สิ้นปี 61 อยู่ที่ 4.2%) จากเป้าหมายภายในสิ้นปีต้องให้อยู่ระดับ 4.2% เพียงแต่การเพิ่มขึ้นของหนี้ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาด เพียงแต่ลูกค้า ธอส.เป็นกลุ่มเปราะบางกว่าปกติเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ และการที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับการขึ้นของ NPLs ในตลาด ถือว่า ธอส.มีการดำเนินงานที่ดี
"เรื่อง NPLs ไหลกลับเริ่มดีขึ้น เริ่มลง ซึ่งตัวเลขหนี้ที่ลดลงมาจากการชะลอไหลเข้าของสินเชื่อ ซึ่งปกติจะไหลเข้าเดือนละ 3,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน NPLs ไหลเข้าเหลือ 2,100 ล้านบาท เป็นผลมาจากการบริหารจัดการและคุณภาพลูกหนี้ดีขึ้น และมีการติดตามลูกหนี้ผ่านระบบการติดตามที่ธนาคารพัฒนาขึ้นมา ซึ่งหากมีปัญหาเราจะเข้าไปชาร์จ แต่ไม่ให้ช็อต"
ในส่วนของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น ไม่ว่าจะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือแม้แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่มีสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คาดว่าไปถึงกลางปี 2563
สำหรับความคืบหน้าการออกสลากออมทรัพย์ ธอส.รุ่นที่ 1 ชุดวิมานเมฆ จำนวน 27,000 หน่วย หรือ 27,000 ล้านบาท จะนำเงินทั้งหมดที่ได้รับมาคำนวณให้เหมาะต่อการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่ง ธอส.สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรกได้ต่ำถึง 2.77% และคงที่ 6 เดือนแรกจะอยู่ที่ 0.66% และในวันที่ 16 ตุลาคม 2562 จะเป็นวันแรกที่จะมีการออกรางวัลครั้งที่ 1 ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อในส่วนของวงเงิน 27,000 ล้านบาทนั้น ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้อนุมัติไปแล้วในช่วง 5 วันกว่า 2,000 ล้านบาท และมั่นใจภายในเดือน ต.ค.จะปล่อยสินเชื่อได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ ได้เตรียมออก ธอส.รุ่นที่ 2 ไตรมาส 4 ปี 62 สลากละ 10 ล้านบาท จำนวน 3,000 หน่วย วงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ถือสลากจะมีโอกาสถูกรางวัลค่อนข้างมาก อีกทั้งในการออกรางวัลจะดำเนินการไตรมาสละครั้ง (รวม 4 ไตรมาส) รางวัลละ 3 ล้านบาท (3 รางวัล) ซึ่งผู้ถูกรางวัลจะได้อัตราผลตอบแทน (ยิลด์) ประมาณ 30% ซึ่งสลากมีอายุ 3 ปี ทำให้มีโอกาสถูกรางวัลมากกว่าสลากทั่วไป และในไตรมาส 1 ปี 63 เตรียมออก ธอส.รุ่นที่ 3 ใบละ 50,000 บาท จำนวน 1 ล้านหน่วย รวมเงินที่จะได้รับ 50,000 ล้านบาท รวมแล้วการออกสลาก 3 รุ่น จะได้วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปปล่อยสินเชื่อภาคประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย
"สภาพคล่องเราไม่มีปัญหา เรามีอยู่ เพียงแต่สิ่งที่เราดำเนินการเพื่อทำให้งบเราไม่ถูกกระทบ คำถามคือ ถ้าเกิดขาดทุนแล้ว กระทรวงการคลังจะบวกกลับคืนให้เราอย่างไร การที่ออกสลากเพื่อให้ได้ต้นทุนการเงินที่ต่ำ ซึ่งในแผนแรกที่เราวางไว้ คือ 100,000 ล้านบาท ที่จะครบไตรมาสแรกปี 63 และต้องทำแผนเสนอคณะกรรมการธนาคารในการทำแผนขั้นที่ 2 ภายในไตรมาส 2 ปีหน้า ซึ่งการที่เราสามารถออกสลากได้ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องแหล่งเงินและช่วยปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารได้ ซึ่งเกินครึ่งของเงินฝาก ธอส.จะมีอายุเกิน 1 ปี แต่การที่เรามีสลากออมทรัพย์อายุ 3 ปี จะช่วยจับคู่ทางการเงินได้ และคาดว่าจะมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 8 ของเงินฝาก ธอส.ที่มีอยู่ประมาณ 9 แสนล้านบาท โดยเป็นส่วนที่ไม่นับกับเงินที่ออกพันธบัตรไปแล้ว 90,000 ล้านบาท" นายฉัตรชัย กล่าว
ขณะที่สินเชื่อรวมทั้งธนาคารฯ ที่ปล่อยไปได้แล้ว ณ วันที่ 20 ก.ย.62 อยู่ที่ 138,000 ล้านบาท คิดเป็น 65% ของเป้าทั้งปีที่ 203,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อในแต่ละเดือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อนุมัติไปแล้ว 19,000 ล้านบาท และคาดว่าเดือน ก.ย.23,000-25,000 ล้านบาท
ยันบ้านล้านหลังมีซัปพลายรองรับ
นายฉัตรชัย กล่าวถึงการส่งเสริมโครงการบ้านล้านหลัง ว่า ทางรัฐบาลได้ขยายโครงการไปถึงสิ้นปี 2564 เพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชนระดับฐานล่างให้มีที่อยู่อาศัย โดย ธอส.ได้อนมุัติสินเชื่อไปแล้ว 10,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้เวลา ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีเข้ามาประมาณ 500-700 ล้านบาท จำนวนที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านล้านหลัง (ซัแพลาย) มีอยู่จำนวนมาก แม้ว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะไม่สร้าง แต่บริษัทอสังหาฯ ขนาดเล็กในต่างจังหวัดพัฒนาโครงการ เช่น มีการผลิตบ้าน 20-30 หลัง ซึ่งจะมีซัปพลายออกมา ดีกว่าไม่มีเลย หรือแม้แต่ในจังหวัดขอนแก่น มีโครงการ 400 ยูนิตๆ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท และมีเข้ามาต่อเนื่อง ในส่วนของผู้ขอสินเชื่อ (รายย่อย) ซึ่งผ่านมา 14 เดือน ผู้ขอสินเชื่อมีการเตรียมความพร้อมมากกว่าในช่วงแรก ทำให้ในแต่ละเดือนมีการปล่อยไปได้ 700-1,000 ล้านบาท
"ความเห็นส่วนตัวแล้ว เราไม่ควรขยับเส้นราคาบ้านล้านหลังไปเป็น 1.5 ล้านบาท เพราะเมื่อใดก็ตามที่ขยับ ผู้ประกอบการจะหยุดผลิตราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท แล้วหันไปทำบ้านราคาใหม่ ซึ่งไม่เป็นผลดี แต่การจะเช่าที่กรมธนารักษ์แล้วมาทำบ้านล้านหลังนั้นทำได้ แต่ถ้าเป็นแนวคิดอื่น เช่าที่วัดแล้วมาทำนั้น คำถามคือ เรื่องที่อยู่อาศัยใครๆ ก็พูดได้ แต่ช่วยทำให้เห็นหลังแรกก่อน อย่ามาถ้าๆๆๆ"