รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงไทย เชื่อเศรษฐกิจโลกถดถอยน่าจะผ่านไปได้ เหตุตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เลวร้ายนัก ขณะที่ ธนาคารกลางประเทศต่างๆ พร้อมออกมาตรการผ่อนคลาย คาดปลายปี สหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยอีก ส่วนไทยมีแนวโน้มลดตาม แต่อาจไม่มาก พร้อมชี้ท่ามกลางความผันผวนยังมีโอกาสสำหรับเอสเอ็มอี ทางการพร้อมสนับสนุน แต่ต้องปรับตัวและขวนขวาย
วันนี้(23 ก.ย.) ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ผู้บริหารสายงาน Global Business Development Strategy กล่าวในงานสัมมนา “The NEXT Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก” จัดโดย ibusiness.co และ ธนาคารกรุงไทย ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ว่า แม้ว่าขณะนี้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ก็น่าจะผ่านไปได้ เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆ เรื่อง ไม่ได้เลวร้ายนัก โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานในสหรัฐฯ อัตราการว่างงานของสหรัฐตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3.6-3.7% ซึ่งถือว่าต่ำ ภาระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคกาเรเงินของสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่ได้ถือว่าสูง ส่วนหนึ่งก็เพราะว่านโยบายการเงินที่เอื้ออำนวย ผ่อนคลายมาก ช่วยให้ดอกเบี้ยที่ทุกคนต้องจ่ายอยู่ในอัตราที่ต่ำ เพราะฉะนั้นระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้เสี่ยงเท่ากับเมื่อ 10 ปีก่อนตอนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
ดร.รุ่ง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีความพร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยในกรณีของสหรัฐฯ คาดว่าจะต้องลดดอกเบี้ยลงอีกในปลายปีนี้อยู่ที่ในช่วง 1.5-1.75% นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนคลายเพิ่มเติมพิเศษ หรือ QE พยุงระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนธนาคารกลางยุโรป(ECB) หรือ ธนาคารกลางญี่ปุ่น(Bank of Japan - BOJ) ก็มีการควบคุม Yield Curve หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลางให้ติดลบ
สำหรับจีน People's Bank of China : PBOC สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้หลายๆ อย่าง โดยมีพื้นที่มากกว่าชาติอื่น ถ้าจีดีพีจีนต่ำลงมา ก็สามารถจะผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยการลด Reserve Requirement ลงได้อีก พร้อมกับปรับอัตราดอกเบี้ยของทางการด้วย โดยจีนมีความพิเศษคือรัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ นโยบายการเงินการคลัง ไปได้ควบคู่กัน
ส่วนประเทศไทย เรื่องนโยบายการเงินมีโอกาส มีโอกาสที่ธนาคารกลางของไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก แต่ก็อาจจะไม่ใช่ช่วง 2 วันข้างหน้า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) แต่อาจจะเป็นช่วงท้ายปี ทั้งนี้อยู่ที่การประเมินของ กนง. ใน 3 มิติ คือ มิติของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มิติของการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งในช่วงหลังนี้ ธปท. หรือ กนง.ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก และมิติของการดูแลค่าเงิน
เมื่อพิจารณา 3 มิติรวมกันขณะนี้แล้วก็เห็นว่าเหตุผลที่สนับสนุนการลดดอกเบี้ยในบริบทปัจจุบันนี้ก็จะมีประมาณ 1 ใน 3 ข้อ ซึ่งก็แปลว่าโอกาสลดก็มี แต่ก็ทำใจว่าอาจจะไม่ได้มาก หรือว่าอย่าคาดหวังมาก และในเรื่องของระยะเวลาก็อาจจะเป็นช่วงที่ยังต้องรอดูผลจากมาตรการที่ทำไปก่อนหน้านี้
ดร.รุ่ง กล่าวอีกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ไม่ค่อยดี หรือเลวร้ายสำหรับหลายคน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีสายป่านค่อนข้างสั้น แต่ในทุกวิกฤตมันก็มีโอกาส เราคงจะต้องหันมาใส่ใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เช่น การใช้หุ่นยนต์ ช่วงนี้เป็นโอกาส เป็นจังหวะที่ค่าเงินบาทแข็ง ดอกเบี้ยต่ำ ตลาดเอเชียที่มาแรงกว่าตลาดโลก การมาของ Internet of Things ที่ทำให้ความต้องการสินค้าเทคโนโลยีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าทุน หรือสินค้าอุปโภคบริโภค การมาของ Aging Society ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัย ก็น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ธุรกิจจะปรับตัวไปสู่ความต้องการเหล่านั้น
ดร.รุ่ง ย้ำว่า ช่วงเวลาที่โลกมีความผันผวน ไม่แน่นอน แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนก็ยังมีโอกาส ถ้าเรายอมรับสภาพและขวนขวายเพื่อให้เราเดินผ่านมรสุมเล็กๆ เหมือนฝนตกข้างนอก วันนี้ไม่ถึงกับฟ้าร้องฟ้าผ่า แต่สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายเกินไป จริงอยู่เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่ทางการสนับสนุนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก หรือในระดับไทย เรามีกระบวนการกระตุ้นของเราภายในประเทศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแรงประคองยังมีอยู่ เพียงแต่ความช่วยเหลืออาจจะกระจัดกระจาย ก็ต้องขวนขวาย รู้จักมองหา ท้ายที่สุดเราจะผ่านพ้นทุกอย่างไปได้ด้วยดี
คำต่อคำ : ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส สัมมนา The NEXT Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก
กราบเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ท่านผู้บริหารของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ท่านผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมงานและรับฟังปาฐกถาในวันนี้
ท่านรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญๆ ท่านได้ประกาศวิสัยทัศน์และมาตรการขับเคลื่อนที่จะช่วยนำพาให้เศรษฐกิจของเราผ่านพ้น ดิฉันเห็นด้วยกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนะคะ ไม่อยากใช้คำว่าวิกฤต ตอนนี้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีวิกฤตดิ ฉันขอใช้คำว่าผ่านพ้น Soft patch ก็แล้วกัน หรือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโดยรวมอาจจะมีการอ่อนตัวลงบ้าง
การอ่อนตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้มาจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นหลัก อันนี้เราทราบกันอยู่ ดังนั้น ดิฉันจึงขอถือโอกาสนี้ โอกาสสุดท้ายของงานในวันนี้ เสริมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในระดับโลกที่ส่งผลสะท้อนสะเทือนมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็เพราะว่าเศรษฐกิจของเราเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็ก แล้วก็เป็นเศรษฐกิจที่เปิด ก็คือเรามีการค้าขาย มีการท่องเที่ยว มีการลงทุน เงินทุนเคลื่อนไหวได้อย่างค่อนข้างเสรีกับโลก เพราะฉะนั้นอะไรที่เกิดขึ้นในโลก ก็ส่งผลสะเทือนมาถึงเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หัวข้อการบรรยายตั้งไว้ว่า จับตานโยบายการเงินเปลี่ยนทิศในโลกเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง เนื้อหาเน้นเรื่องของนโยบายการเงิน อันนั้นมีเหตุผล เหตุผลก็คือว่าตอนนี้ทิศทางก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าทางการของประเทศใหญ่ๆ พร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราท่านทราบกันดีอยู่ว่าทุกประเทศใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ในระดับที่ผ่อนคลายจนถึงผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ก็ช่วยให้เศรษฐกิจโลกสามารถที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้จากช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ แล้วก็เป็นการฟื้นตัว ถ้าอย่างในสหรัฐอเมริกาก็ต้องบอกว่าเป็นการฟื้นตัวที่ยาวนานที่สุด เป็นการฟื้นตัวถึง 10 ปี ที่ต่อเนื่องมา เพียงแต่การฟื้นตัวครั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป คือไม่ค่อยกระฉูด ไม่ค่อยแรง ก็คือทำให้การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องก็จริง แต่เป็นไปแบบค่อนข้างอ่อนแอ นั่นก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความกังวลว่ายังโตได้ไม่ถึงเท่าไหร่เลยก็จะเลิกโตแล้วเหรอ อันนั้นก็คือว่าความจำเป็นของการ support หรือการพยุงเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายพิเศษ ก็ดูจะมีน้อยลง อันนี้เราพูดกันถึงเรื่อง 2 ปีที่แล้ว แต่ล่าสุดก็เห็นแล้วว่าจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นกับประเทศมหาอำนาจใหญ่ยักษ์ 2 ประเทศในโล ก็ทำให้แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกอ่อนแรงลงไป
เมื่อเศรษฐกิจโลกกลับอ่อนลงมาสิ่งที่เราเห็นคืออะไร สิ่งที่เราเห็นก็คือธนาคารกลางต่างๆ ธนาคารกลางใหญ่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พร้อมที่จะกลับทิศอย่างรวดเร็ว เราเห็นบางคนเพิ่งขึ้นไปก็ลดลงมาแล้ว อันนี้ก็พูดถึงประเทศไทยด้วย
ความพร้อมอันนี้ทำให้ดิฉันคิดว่า ดิฉันมองว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงบ้าง แต่มันคงไม่ถึงกับแย่มาก เพราะว่าทางการพร้อมที่จะให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออยู่ แล้วทำไมเราถึงได้ยินคำถามว่าหรือมีความกังวลกันว่ากำลังจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือว่าคำถามในภาพนี้ก็เช่นว่า โลกกำลังเดินไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ recession หรือไม่
ก่อนอื่นคงต้องเรียนก่อนว่าคำว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยมันมีนิยามทางเทคนิค มันไม่ได้น่ากลัวเสมอไป นิยามทางเทคนิคก็คือ มันคือการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเป็นเวลาติดต่อกัน 2 ไตรมาส คำว่า recession จึงอาจจะรุนแรงก็ได้ ไม่รุนแรงก็ได้ บางครั้งกิจกรรมเศรษฐกิจทรุดตัวลงมาบ้าง อ่อนตัวลงมาบ้าง แต่ประชาชนและธุรกิจไม่ได้รู้สึกอะไร อันนั้นก็ถือว่าก็ยังต้องเรียกว่าเป็น recession แต่ก็จะเป็น recession ที่อ่อนๆ และทุกคนก็จะผ่านพ้นไปได้ อาจจะพ้น 2 ไตรมาสไปก็ตีกลับตัวกลับขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นในหลายๆ ครั้งเราก็จะเห็นคำว่า Recession แต่มันไม่ใช่ recession ที่น่ากลัว ในขณะเดียวกัน บางครั้งเราก็เห็น recession ที่มันใหญ่
อย่างปี 2008 ที่สหรัฐอเมริกา recession ที่ใหญ่ ส่วนใหญ่จะมาจากการสะสมความเสี่ยงเอาไว้ ความไม่สมดุลเอาไว้ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อเกิดการทรุดตัว มันต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะดูก็คือว่า ณ วันนี้เศรษฐกิจโลกอาจจะอ่อนตัวแผ่วลงมาบ้าง แต่ความแผ่วนั้นน่ากลัวหรือเปล่า มันต้องดูองค์ประกอบอื่นประกอบด้วย และหลักๆ สิ่งที่อยากจะชวนดูก็คือว่า มันมีความไม่สมดุลอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ถ้าความไม่สมดุลไม่เยอะ ก็เชื่อว่าไม่ได้น่ากลัวมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทางการพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ดิฉันก็ยังอยู่ในมุมมองที่ว่ามันคงไม่ได้ไปถึงวิกฤตอะไร
คราวนี้เราคงต้องยอมรับกันก่อนว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมา ความกังวลมันเพิ่มขึ้น ก็เพราะว่าข่าวเกี่ยวกับเทรดวอร์ หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีช่วงทำให้คนตกใจ แล้วก็สะท้อนจากการแสดงความเห็นผ่านสำนักต่างๆ นี่ในภาพนี้ก็จะมีตั้งแต่โกลด์แมน แซคส์ หรือมอร์แกน สแตนลีย์ มอร์แกน สแตนลีย์ ก็อาจจะมองค่อนข้างโหดร้ายหน่อย มองว่าถ้าเกิดว่ามีการต่อสู้กัน แล้วก็ขึ้นกำแพงภาษีไปเรื่อยๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ recession ในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า ในขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ก็อาจจะพูดอ่อนลงมานิดหนึ่งว่า โอเคความเสี่ยงมีเพิ่มขึ้
ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นพวกสำนักข่าวหัวใหญ่ๆ ไม่ว่าจะบลูมเบิร์ก ไม่ว่าซีเอ็นบีซี ซีเอ็นเอ็น ก็รายงานข่าวมุมมองของตลาดว่าความเสี่ยงต่างๆ มีมากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพราะว่าเป็นเหตุผลเขาอาจมาจากภาพถัดไป เพราะว่ายังคงมีข่าวเรื่องของการขึ้นกำแพงภาษีของทั้งสองประเทศนี้ออกมาเป็นระยะๆ และทุกครั้งที่มีการประกาศขึ้นภาษี ก็จะเห็นความกังวล ความกังวลของผู้ประกอบการ ความกังวลของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ในภาพนี้จะเห็นตัวเลขตัวหนึ่ง อันนี้เอามาแชร์ แต่จริงๆ ทั่วไปก็คงหาได้ในตัวอื่นๆ เช่นเดียวกัน อันนี้เป็นเรื่องของ World Trade Uncertainty Index ที่พุ่งสูงขึ้น ถ้าหากเทียบผลกระทบของความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าในครั้งนี้ ต่อความกังวลทั่วๆ ไปของระดับโลก ก็จะเห็นได้ว่าเส้นสีเหลืองแสดงตัวให้ดูรุนแรงกว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงเหตุการณ์ 911 หรือจะเป็นช่วงสงครามอิรัก หรือวิกฤตหนี้ยุโรปที่ผ่านมา
ความกังวลมาจากความชัดเจน ดิฉันขอใช้คำว่าความชัดเจนแล้วกัน ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ แล้วก็จีน ที่จริงมันก็คือการแข่งขันของการเป็นอันดับ 1 ของโลก มันไม่ใช่สงครามการค้าโดยตัวของมันเอง ซึ่งประเด็นนี้ มุมมองนี้ ธนาคารกรุงไทยก็เคยได้นำเสนอท่านไปแล้วหลายๆ ครั้ง เพราะฉะนั้น จริงๆแล้วถ้าเรามองเรื่องของสงครามการค้ามันไม่ควรจะยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้หรอก มันไม่เป็นผลดีต่อใคร แต่เนื่องจากว่ามันเป็นสงครามของการช่วงชิงความเป็นอันดับหนึ่ง มันจึงเกิดทวีความรุนแรงได้เรื่อยๆ และปัจจุบันก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าได้ขยายขอบเขตไปสู่สงครามเทคโนโลยีแล้ว
ภาพซ้ายมือก็จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2018 สหรัฐฯ และจีนปรับขึ้นอัตราภาษีการนำเข้าระหว่างกัน ในอัตราที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากในปี 2018 ที่จีนเก็บอัตราภาษีในอัตรา 18% และสหรัฐฯ เก็บอัตราภาษีเฉลี่ยในอัตราประมาณ 12% ทุกวันนี้ สิ้นปีนี้ ก็จะกลายเป็นอยู่ในระดับที่ประมาณ 24-26% ทั้งคู่ มันไม่ใช่แค่ตัวแค่อัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่จำนวนหรือขอบข่ายของสินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีก็ขยายวงกว้างขึ้นด้ย แล้วโดยความหลากหลายของประเภทสินค้าที่ที่มีมากขึ้นแปลว่าอะไร ความหลากหลายของสินค้าที่ถูกเก็บภาษีมากขึ้น ก็แปลว่า กลุ่มคนหรือกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลพวงจากการขึ้นภาษี ก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ล่าสุดก็จะเริ่มเห็นแล้วว่าการขึ้นภาษี ก็จะกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งหมายความว่าประชาชนคนธรรมดา อเมริกัน ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เป็นต้น โดยถ้าคิดในสุทธิแล้ว ก็มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จัดเก็บภาษีกับจีนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้าท่านเทียบกับในอดีตก็เพิ่มขึ้นมาค่อนข้างพอสมควร แล้วก็อาจจะสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ ถ้าเป็นจริงตามข่าวที่ท่านประธานาธิบดีทรัมป์ให้ข่าว ขณะที่จีนก็จะเก็บภาษีไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ สงครามการค้าได้ขยายวงสู่สงครามเทคโนโลยีอย่างที่ได้เรียนไป โดยสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำกับบริษัทจีน ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทชั้นนำของจีน เช่น Huawei รวมทั้งสั่งให้บริษัทที่เป็นสัญชาติอเมริกัน ห้ามทำธุรกิจร่วม เบื้องลึกแล้วก็คงเป็นเรื่องของการสกัดกั้นไม่ให้จีนเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี 5G ได้ง่ายนัก เพราะว่า 5G ก็เป็นหัวใจของ Internet of Things หรือ IOT แล้วก็จะปูทางให้จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ รวมทั้งจีนก็คง ถ้ามีเรื่องของ 5G ก็สามารถจะควบคุมเครือข่ายข้อมูลทั่วโลกได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันนี้ Huawei เองก็เป็นคู่แข่งด้านเทคโนโลยีที่น่ากลัวของบริษัทของสหรัฐฯ อยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้าเทียบกับแอปเปิล คู่แข่งกัน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 เราก็พบแล้วว่า Huawei เองสามารถจะแย่งส่วนแบ่งตลาดของสมาร์ทโฟนของโลกแซงหน้าแอปเปิลไปแล้ว ตอนนี้ Huawei อยู่ที่ระดับที่ 2 กลายเป็นว่าแอปเปิล เป็นอันดับที่ 3 รองจาก Samsung ซึ่งก็เป็นการปรับเปลี่ยนอันดับกัน ถ้านับจากปีที่แล้ว
จีนเองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง จีนตอบโต้สหรัฐฯ ในสงครามเทคโนโลยีด้วยการจำกัดการส่งออกสินแร่ ที่เราเรียกกันว่า rare earth rare earth เป็นสินแร่ที่มีคุณค่ามาก เพราะว่าเป็นองค์ประกอบของสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ต้องนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนยานอวกาศเป็นต้น รวมทั้งจีนก็หันไปลงทุน 5G ร่วมกับรัสเซีย ซึ่งก็เป็นคู่แข่งที่สำคัญอีกชาติหนึ่งของสหรัฐฯ ด้วย ศึกครั้งนี้จึงคงจบยาก และดิฉันก็คิดว่าเราก็ทำใจ ในบริบททางประวัติศาสตร์ สงครามการค้าครั้งนี้คงต้องเรียนว่าสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลก ถือว่าอยู่ในระดับประวัติการณ์ทีเดียว เทียบกับเมื่อครั้งที่สหรัฐฯ เคยกดดันญี่ปุ่น ไม่แน่ใจว่าแต่ละท่านที่อยู่ในที่นี้ท่านยังจำได้หรือเปล่า อย่างเช่นในปี 1980 เป็นต้น ในครั้งนั้นเข้าใจว่าสหรัฐฯ ก็ขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น แต่เทียบกันแล้วขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นตอนช่วงนั้นกับการค้ากับจีนในช่วงนี้ก็คงยังคนละขนาดกัน ซึ่งครั้งนั้นญี่ปุ่นก็ตอบโต้โดยการทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง นำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ที่ยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3.5% ของ GDP แล้วก็เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับเงินสกุลหลักต่างๆ โดยเฉพาะเงินสกุลเยนในช่วงนั้น จนท้ายที่สุดนำไปสู่ หลายๆ ท่านคงเคยได้ยิน Plaza Accord ก็คือความพยายามของธนาคารกลางแล้วก็ประเทศหลัก เศรษฐกิจหลักในช่วงเวลานั้น ที่จะต้องทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงมา อันนั้นคือเหตุการณ์เมื่อปี 1985
พูดถึงในอดีตก็เพียงเพื่อให้เห็นว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มันมีขนาด แล้วมันก็ส่งผลกระทบที่ใหญ่กว่าเยอะ รวมทั้ง supply chain ต่างๆ ของเราที่อยู่กับจีน ก็ทำให้เราหลีกเลี่ยงผลกระทบต่างๆ ไม่ได้
ทีนี้หลายสำนักก็มีการประมาณการผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้ ท่านประธานธนาคารกรุงไทยท่านก็ได้กล่าวไปช่วงก่อนหน้านี้ว่าประมาณการอาจจะมีประมาณ สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะประมาณ 1% อันนี้เป็นประมาณการที่โชว์ในภาพ ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็คือ Federal Reserve ก็จะให้เห็นว่าของโลกเป็นประมาณเท่าไร ของสหรัฐฯ ประมาณเท่าไร แล้วก็ emerging market เป็นประมาณเท่าไร ก็อยู่ครือๆ กัน ประมาณ 1% ถ้าเกิดเป็น Maximum Impact แต่ที่สำคัญดิฉันอยากจะบอกว่า ประมาณการอันนี้เป็นแค่ผลกระทบบางส่วน เพราะว่าเป็นการคำนวณผลกระทบผ่านโมเดล นักเศรษฐศาสตร์ก็ชอบมีโมเดล โมเดลนี้ก็เป็นการผ่านช่องทางเศรษฐกิจปกติ เช่นอะไร ความต้องการลด การลงทุนก็ลดลง การผลิตลดลง การส่งออกลดลง แต่โมเดลนี้ดิฉันเชื่อว่ายังไม่ได้รวมผลกระทบของความไว้เนื้อเชื่อใจทางธุรกิจที่มันหายเหือดไปแล้วในวงการค้าโลก ใครคะจะกล้าทำธุรกิจกับผู้ค้าเพียงไม่กี่ราย คู่ค้าเพียงไม่กี่ประเทศ เพราะเดี๋ยวทางการห้ามขึ้นมา มันก็จบ มันจะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น เพราะต่อให้วันนี้สหรัฐฯ กับจีนยกเลิกกำแพงภาษีที่ปรับขึ้นมาในช่วงที่ผ่านมา ท่านคิดว่าโลกจะกลับไปเหมือนเดิมไหมคะ ไม่ เพราะวันนี้หยุดได้ พรุ่งนี้ก็เริ่มได้อีก เพราะฉะนั้นการปรับตัวของห่วงโซ่การผลิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว วันนี้เรามาไกล โลก ไม่ใช่เราอย่างเดียวแล้ว โลกมาไกลเกินกว่าที่จะกลับตัวแล้ว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเห็น ประเทศต่างๆ ธุรกิจต่างๆ จะไม่มีใครใช้ ขออนุญาตใช้ศัพท์ฝรั่งนะคะ Put all eggs in one basket หรือพึ่งพา หรือทุ่มกับประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไปแล้ว ไม่ทุ่มกับตลาดใดตลาดหนึ่งอีกต่อไปแล้ว จะต้องเกิดการกระจายความเสี่ยง ซึ่งแน่นอนว่าประเทศอย่างไทย ซึ่งเราอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน เรามีบทบาทค่อนข้างเยอะในการที่เราเป็น supplier ให้กับจีน เราจะต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นเขาเองก็ไม่สามารถจะพึ่งแต่เราได้แล้ว เราเองก็ไม่สามารถจะเพิ่งตัดเขาได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นคู่ค้าหลักๆ ของเราหันไปร่วมหุ้น ร่วมทุน ลงทุน หรืออิงประเทศอื่นๆ มากขึ้น เราเองก็คงต้องทำแบบเดียวกันเพื่อให้ธุรกิจของเราอยู่รอดในโลกที่ความไม่แน่นอน แล้วก็เรื่องของนโยบายการค้า การต่อสู้ทางการค้า มันมีมากขึ้น แล้วก็คาดเดาได้ยากขึ้น แล้วก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของตรรกะทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่า ณ ตรงนี้ เราคงต้องสรุปว่าเราต้องเก่งขึ้น และเราก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงมากขึ้นด้วย
เพราะฉะนั้นอย่างแรกที่อยากจะฝากไว้ก็คือว่า แม้สงครามการค้าจบได้ในวันนี้ คืนนี้ ชีวิตเราก็ไม่จบ ผลมันเกิดขึ้นแล้ว
สำหรับในระยะสั้น ช่วงที่ผ่านมาความไม่แน่นอนต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะจากสงครามการค้าที่กล่าวมาแล้ว ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งก็กดดันให้เกิดภาวะดิน Inverted Yield Curve หรือการที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวกลับต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้น การผลิตและการลงทุนต่างๆ นี่ให้เห็นในกรณีของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงจากภาวะที่อาจจะค่อนข้างดีในช่วงก่อนหน้านี้
มุมมองของนักวิเคราะห์ ภาพถัดไปจะเห็นว่ามุมมองของนักวิเคราะห์ที่รวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก จากข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะ recession มีมากขึ้น อย่างสหรัฐฯ เองก็ปรับเพิ่มขึ้นจากเมื่อประมาณ 1 ปีก่อนหน้านี้ จากโอกาสที่คนมองว่าจะเกิด recessoin ประมาณ 15% ก็กลายเป็น 35% อันนี้ก็เป็นคงเป็นเรื่องของมุมมอง คงไม่ได้ว่าจะต้องไปเชื่อถือว่าจะเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นจริงๆ เพียงแต่ว่าก็ให้เห็นแล้วว่าสำหรับทุกประเทศความเสี่ยงก็ล้วนเพิ่มขึ้นทั้งนั้น
อย่างไรก็ดี ต่อให้เกิด Technical Recession ต่อให้เกิดขึ้นจริง ดิฉันก็ยังเชื่อว่าผลกระทบคงไม่รุนแรง ประการแรก ตอนนี้ไม่ได้มีสัญญาณที่น่ากังวลในตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ตลาดแรงงาน ข้อมูลทางด้านแรงงานเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่นสหรัฐฯ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจับตาดูข้อมูลพวกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อนำมาประกอบกันว่าจะมีผลกระทบมากหรือน้อย
อัตราการว่างงานของสหรัฐตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3.6-3.7% ซึ่งถือว่าต่ำ อย่าเทียบกับประเทศไทยนะคะ ประเทศไทยต่ำกว่านั้นเยอะ ขาดแคลนแรงงาน แต่ว่าสำหรับสหรัฐฯ 3.6-3.7% ไม่ได้แย่ และจริงๆแล้วก็ไม่ได้อยู่ในอัตราต่ำขนาดนี้มาตั้งแต่ปี ... เข้าใจว่าตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นเวลาค่อนข้างนานมาแล้ว
ประการต่อมา อย่างที่เรียนไปช่วงต้น ความรุนแรงจะเกิดหรือไม่เกิด มันขึ้นอยู่กับว่าระบบเศรษฐกิจมีความไม่สมดุลมากหรือน้อย ถ้าไม่สมดุลมาก การปรับตัว การออกมาจากปัญหามันก็จะยาก มันก็จะเหมือนกับประเทศเราปี 2540 เป็นต้น อันนั้นก็ถือว่ารุนแรง
เราลองมาดูกัน ภาระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคกาเรเงินของสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่ได้ถือว่าสูง ส่วนหนึ่งก็เพราะว่านโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยมาก ผ่อนคลายมาก ช่วยให้ดอกเบี้ยที่ทุกคนต้องจ่าย อยู่ในอัตราที่ต่ำ เพราะฉะนั้นภาระหนี้ก็ต่ำไปด้วย นอกจากนี้ หลายภาคส่วน เช่น ภาคการเงิน ก็ได้ลดมูลหนี้ของตนเองลงมาค่อนข้างมากในช่วงการปรับตัวภายหลังเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มา
เพราะฉะนั้นตรงนี้แปลว่าอะไร ก็แปลว่าภาระหนี้ที่น้อย ก็แปลว่าระบบเศรษฐกิจใหญ่ๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ ก็อาจจะไม่ได้เสี่ยงเท่ากับเมื่อ 10 ปี ตอนที่เขาเดินเข้าสู่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ถ้าจะมีอยู่บ้าง อันหนึ่งที่มี leverage ค่อนข้างสูง ก็จะเป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นภาคธุรกิจของสหรัฐฯ อันนั้นอาจจะยังค่อนข้างสูง แต่โดยรวมไม่ได้ถือว่าน่ากลัวเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนไม่ให้เศรษฐกิจโลกแย่ไปมาก ก็คือเรื่องของนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ ที่ผ่านมาธนาคารกลางใหญ่ๆ ได้แสดงเจตนาที่จะเพิ่มแรงพยุงเศรษฐกิจแล้ว ธนาคารหลักๆ ได้เริ่มทำแล้ว ทำเพิ่มขึ้นแล้ว และคิดว่าถ้ามีความจำเป็นก็คงจะดำเนินการเพิ่มเติมได้
โดยในกรณีของสหรัฐฯ เอง สำนักใหญ่ๆ คาดว่าจะต้องลดดอกเบี้ยลงอีก นี่เขาลดลงมาแล้ว 2 รอบ เพราะฉะนั้นปลายปีนี้ โดยส่วนใหญ่คนก็มองว่าอาจจะลดได้อีกสัก 1 ครั้ง อยู่ที่ในช่วง 1.5-1.75% ซึ่งก็แปลว่ายังมีความพร้อมที่จะทำได้เพิ่ม
นอกจากนี้ พื้นที่ที่จะใช้นโยบายการเงิน ในหน้าถัดไป ที่เราเรียกกันว่าผ่อนคลายเพิ่มเติมพิเศษ มันก็ยังมีอยู่ อันนี้คงจะต้องเรียนว่าในช่วงปี 2007-2008 ครั้งที่แล้วที่เราก้าวสู่วิกฤตจริงๆ ครั้งนั้นมันเป็นวิกฤต ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลกไม่รู้จักหรอกว่า QE คืออะไร ไม่รู้จักว่าอัน Unconventional คืออะไร ยังคิดนอกกรอบไม่เป็น แต่ 10 ปีผ่านไป คิดนอกกรอบไปแล้ว และหลายๆ ส่วนก็เริ่มทำแล้ว ทำเป็นแล้ว เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าถ้าจะต้องทำเพิ่มอีก ก็ไม่ได้จะรีรอ หรือต้องคิดเยอะเหมือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าซื้อหลักทรัพย์ระยะยาวเป็นจำนวนมากๆ ที่เราเรียกกันว่า QE หรือการปรับคุณภาพของสินทรัพย์ที่เข้าซื้อ ธนาคารกลางยิ่งปรับคุณภาพสินค้าให้มีความสุขมากขึ้นเท่าไร ก็คือยิ่งช่วยอัดฉีดเงินเข้าไปพยุงระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในภาวะเสี่ยงสูงๆ เขาอาจจะยอมซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อันนี้ก็จะช่วย ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นแล้วในช่วงก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ก็มีเรื่องของการทำอะไรเช่นที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น การสื่อสารถึงการควบคุม Yield Curve นี่ก็คือ BOJ ทำ หรือว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลาง ให้ติดลบ นี่ก็จะเป็น ECB หรือ Bank of Japan ก็ทำอยู่แล้ว ก็อาจจะทำเพิ่มเติมได้
จากภาพนี้ดิฉันคิดว่ามุมมองก็คือว่า หากมีความจำเป็นต้องพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม ธนาคารกลุ่มนี้ก็คงไม่ไม่ได้รีรอที่จะทำเท่าใดนัก
สำหรับจีน People's Bank of China : PBOC สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้หลายๆ อย่าง พื้นที่ของเขายิ่งเยอะกว่าชาติอื่น เพราะฉะนั้นการย่อตัวลงมาของจีนเราคงไม่ได้เห็น 6% GDP Growth อาจจะต่ำกว่านั้นสักนิดนึง แต่เขาก็สามารถจะผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยการลด Reserve Requirement ลงได้อีก พร้อมกับปรับอัตราดอกเบี้ยของทางการด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2019 นี้ จีนก็ได้ลด Reserve Requirement มาแล้ว 3 รอบ รอบสุดท้ายก็เพิ่งเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ลด Reserve Requirement ลงไป 0.5%
นอกจากนั้น จีนเขาก็มีความพิเศษคือว่ารัฐบาลทางการของเขาก็สามารถบริหารจัดการได้ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ นโยบายการเงินการคลัง ไปได้ควบคู่กันค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเขาสามารถจัดการให้ภาคส่วนต่างๆ ของทางการ เช่น รัฐวิสาหกิจ ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ดังนั้นแม้ GDP ของจีนอาจจะโตต่ำกว่า 6% แต่ก็เชื่อว่าก็คงไม่ได้มาก
โดยสรุปจากภาพเหล่านี้ดิฉันคิดว่าทางการ โดยเฉพาะผ่านนโยบายการเงินของโลก จะช่วยให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ได้ย่ำแย่จนเกินไป
คำถามต่อมาก็คืออันนี้คือโลก แล้วก็ประเทศไทยคิดว่าจะเป็นอย่างในเรื่องของนโยบายการเงิน ก็คงเรียนว่าธนาคารกรุงไทยเรายังมองว่าก็มีโอกาส มีโอกาสที่ธนาคารกลางของไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก แต่ก็อาจจะไม่ใช่ช่วง 2 วันข้างหน้า เดี๋ยวการประชุม กนง.กำลังจะมาในอีก 2 วันข้างหน้า แต่อาจจะเป็นช่วงท้ายปีหรือเปล่านี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะทำหรือไม่ทำดิฉันคิดว่าอยู่ที่การประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ใน 3 มิติด้วยกัน 3 มิติในที่นี้ก็คือ มิติของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีมิติของการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งก็เป็นมิติที่คงต้องยอมรับกันว่าในช่วงหลังนี้ ธปท. หรือ กนง.ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก แล้วก็สื่อสารออกมาค่อนข้างต่อเนื่อง มีนโยบาย Macro Prodential ออกมาด้วย มิติที่ 3 ก็คือวิธีของการดูแลค่าเงิน
ด้าน GDP จะเห็นว่าตัวเลข Growth ในช่วงก่อนหน้าก็มีหลายท่านที่พูดถึงเรื่อง Growth ของประเทศไทยที่ปรับย่อลงมาเป็นลำดับน ตั้งแต่ปลายปี 2018โดยปี 2018 อยู่ที่ 3.6% ต้นปีนี้ Q1 อยู่ที่ 2.8% Q2 อยู่ที่ 2.3% อันนี้ก็แสดงให้เห็น ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของเราก็แผ่วตัวลงมา และตัวฉุดหลักก็คือในเรื่องของภาคต่างประเทศ ภาพนี้จะให้เห็นว่าตัวฉุดหลักก็สะท้อนผลกระทบจากสงครามผ่านการส่งออกของเรา
นอกจากนั้นก็อาจจะยังมีประเด็นเพิ่มเติมว่ามีเรื่องของการสะสมสินค้าคงคลังที่ก่อนหน้านี้อาจจะค่อนข้างสูง เพราะว่าอาจจะผลิตมา ตั้งใจคิดว่าขายได้ แต่พอขายได้น้อยกว่าที่คาด ก็เลยมีสตอกอยู่สูงช่วงต้น เพราะฉะนั้นสตอกนี้ก็อาจจะไม่ได้ผลิตเพิ่ม ไม่ได้สะสมสตอกเพิ่มก็มีผลของสินค้าคงคลังที่ลดลงด้วย และในขณะเดียวกันความไม่แน่นอนต่างๆ จากสงครามการค้าก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลให้การลงทุนต่างๆ อาจจะชะลอตัวออกไปก่อน เลื่อนออกไปก่อน ถ้ายังมีความไม่แน่นอน
หากเราดูจากประเด็นของ GDP Growth ที่แผ่วลงมา แล้วก็คงไม่ลืมว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ เข้าใจว่าเรี่ยๆ อยู่ที่ประมาณ 0.5% ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อพื้นฐานก็ดี หรือว่าเงินเฟ้อทั่วไปก็ดี ทางด้านนี้ดิฉันคิดว่ามีเหตุผลที่นโยบายการเงินของไทยจะผ่อนคลายเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ประการที่สอง คิดว่า กนง. น่าจะยังเป็นห่วงเรื่องของเสถียรภาพของระบบการเงินอยู่ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการออกมาตรการเพื่อควบคุมความเสี่ยงในด้านเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ LTV ภาคอสังหาริมทรัพย์ และสัญญาณการให้ธนาคารพาณิชย์ควบคุมการปล่อยกู้กับลูกค้ารายย่อยให้เข้มข้นขึ้น โดยได้สื่อสารมาว่าให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาไม่ให้ Debt rate ratio สูงเกินไป ตลอดจนสื่อสารกับออกมาว่ามีกลุ่มเสี่ยงพิเศษ เช่น ผู้มีรายได้น้อย ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท หรือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณแล้ว เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อเศรษฐกิจอ่อนตัวลงมามาตรการเหล่านี้มีการผ่อนคลายความเข้มข้นลงบ้าง เช่น ในเรื่องของผ่อน LTV กับกรณีที่มีเรื่องของการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้าน แล้วก็มาตรการ DSR ก็บอกว่าจะเลื่อนการบังคับใช้ หรือความเข้มข้นออกไปก่อน ก็เห็นว่าตอนช่วงนี้ยังเป็นช่วง soft patch ยังไม่ต้องเข้มข้นมาก ซึ่งการผ่อนปรนมาตรการ macro prodential เหล่านี้ ประกอบกับการที่จะเห็นว่า Search for yield น่าจะยังมีอยู่ ภาพขวาตั้งใจจะให้เห็นว่าในยุคดอกเบี้ยต่ำๆ เราก็จะเห็นอัตราการขยายตัวของระบบสหกรณ์ ซึ่งหลายๆ คนก็ออกมาส่งเสียงว่าเป็นระบบที่อาจจะยังมีความเสี่ยงอยู่ สหกรณ์ก็เติบโตสูงกว่าระบบธนาคารพาณิชย์เป็นต้น เติบโตสูงกว่าค่อนข้างเยอะ ประเด็นเหล่านี้น่าจะทำให้ กนง.ไม่อยากลดดอกเบี้ยลงไปต่ำมาก ดังนั้น ถ้าดู 2 มิติแรก ก็จะแล้วว่าคะแนนอยู่ที่ 1 ต่อ 1 1 ลด 1 ไม่ลด
หันมาดูมิติที่ 3 กันบ้างก็คือเรื่องของค่าเงิน สำหรับมิตินี้คงต้องบอกว่าการลดดอกเบี้ยแบบไม่มากเท่าไร หรือถ้าเราเรียกกันว่าลดแล้วก็รอดู รอดูไปก่อน เดี๋ยวจะลดลงอีกไหม ถ้าเป็นทีท่าแบบนี้คงไม่ค่อยมีผลต่อค่าเงินมากนัก เพราะถ้าคุณเป็นนักลงทุน คุณทำนำเงินมาลงทุนในประเทศไทย ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยถือว่าเป็นส่วนน้อย นี่เป็นภาพที่เกิดขึ้นจริง ถ้าเกิดว่าเรามองย้อนกลับไป 1 ปีที่ผ่านมา เอาเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ มาลงทุนในพันธบัตรไทย อายุ 1 ปี ได้ผลตอบแทน 1.5 บาท ในช่วงเวลา 1 ปี แต่ในขณะเดียวกันถ้าได้ผลตอบแทนจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 8 บาท 1.5 มันน้อยมากถ้าเทียบกับ 8 บาท เพราะฉะนั้นถ้าในแง่ว่าจะให้ชะลอการไหลเข้าของเงินทุนหรืออะไรอย่างนี้ ลดดอกเบี้ยนิดๆ หน่อยๆ อาจจะไม่ได้มีผลมากนัก อันนี้คงต้องเรียนก่อน ยกเว้นว่าจะออกมาสื่อสารค่อนข้าง aggressive ว่าทิศทางของนโยบายการเงินจะอ่อนลง จะช่วย support ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นเยอะ ผลต่อค่าเงินก็อาจจะยังมีจำกัดอยู่
พิจารณา 3 มิติรวมกันแล้วก็เห็นว่าเหตุผลที่สนับสนุนการลดดอกเบี้ยในบริบทปัจจุบันนี้ก็จะมีประมาณ 1 ใน 3 ข้อ ซึ่งก็แปลว่าโอกาสลดก็มี แต่ก็ทำใจว่าอาจจะไม่ได้เยอะ หรือว่าอย่าคาดหวังมาก และในเรื่องของ timing ก็อาจจะเป็นช่วงที่ยังต้องรอดูผลจากมาตรการที่เขาทำไปก่อนหน้านี้
ถ้าถามว่าในภาวะแบบนี้ก็อยากจะจบด้วยที่บอกว่าภาคธุรกิจจะทำอะไร ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ไม่ค่อยดี หรือเลวร้ายสำหรับหลายคน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะว่าธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างที่เราทราบก็คือสายป่านค่อนข้างสั้น แต่ดิฉันคิดว่าในทุกวิกฤตมันก็มีโอกาส ท่านรัฐมนตรีบางท่านก็พูดให้แล้วว่า สำหรับธุรกิจที่ท่านพิจารณาแล้วว่าท่านมีศักยภาพท่านยังจะสู้ต่อในเวทีโลก มันก็เป็นโอกาสเหมือนกันที่ท่านจะลงทุน ในช่วงนี้เงินบาทแข็ง เงินบาทแข็งหมายถึงว่า ท่านจะนำเข้าเทคโนโลยี ถ้าจะนำเข้าเครื่องจักร มันก็ถูกหน่อย ช่วงนี้ดอกเบี้ยต่ำ ถ้าท่านเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ท่านก็คงกู้ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ขึ้นอยู่กับท่าน เพียงแต่ว่าถ้าท่านจะต้องลงทุนอยู่แล้ว ท่านจะต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อให้สู้กับคนอื่นได้ ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่อาจจะดีที่จะทำ
ดิฉันขอไปหน้า 20 สักนิด ขอขอแชร์ข้อมูลนิดนึงว่าทั่วโลกเขาทำโรบอต และ automation มาใช้เพิ่มขึ้นแล้ว ท่านจะเห็นว่าจะข้อดีต่างๆ ไม่ว่าจะลดต้นทุน ทำให้ท่านมีความรักษาคุณภาพของสินค้าได้มากขึ้น มาตรฐานของสินค้าแม่นยำขึ้น ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อันนี้เราคงไม่ต้องพูดทุกข้อ แต่สิ่งที่จะเห็นจากภาพขวาก็คือว่าทั่วโลกมีการเพิ่มการใช้โรบอต แต่ท่านจะเห็นเอเชียเทียบกับโลกโดยทั่วๆ ไป เอเชียใช้โรบอตน้อย และประเทศไทยก็ยังใช้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย เพราะฉะนั้นอันนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ถ้าเราอยากจะแข่งขันเราคงจะต้องหันมาใส่ใจกับในเรื่องของการนำใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น นำใช้โรบอตให้มากขึ้น และถ้าท่านจะพิจารณาว่าช่วงนี้ก็เป็นโอกาส เป็นจังหวะที่ไม่ว่าจะเรื่องของค่าเงินบาทแข็ง หรือว่าในเรื่องของดอกเบี้ยต่ำ ท่านก็อาจจะพิจารณาดู
นอกจากนี้ ก็มีเรื่องของ megatrend ต่างๆ ดิฉันจะขออนุญาตไปเร็วสักนิดนึง เพราะว่าหลายๆ เรื่องเราก็คงทราบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดเอเชียที่มาแรงกว่าตลาดโลก ไม่ว่าทุกคนจะอ่อนตัวลงในช่วงนี้ก็ตาม แต่ว่าถ้าเราจะไป explore ตลาดใหม่ๆ ก็คงต้องไปแบบรู้เขารู้เรา รู้พื้นที่ รู้วัฒนธรรม แต่ก็คงเป็นเรื่องของการกระจายความเสี่ยงในเรื่องของตลาดของเราด้วย
เรื่องของ Internet of Things มาแน่นอน แล้วก็ทำให้ความต้องการสินค้าเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทุน หรือสินค้าอุปโภคบริโภค จะมี อันนั้นก็เป็นอีกโอกาสหนึ่ง
Aging Society โลกก็แก่ลง ไม่ใช่เฉพาะไทย แต่คนไทยก็ก็โดยเฉลี่ยอายุเฉลี่ยของเราก็จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัย ก็น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นจุดที่ธุรกิจต่างๆ ก็จะต้องพัฒนาแล้วก็ปรับตัวไปสู่ความต้องการเหล่านั้น รวมทั้ง Urbanization เพราะว่าการลงทุนของเรา ของประเทศเราก็ถูกด้วย ขับเคลื่อนด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นำไปสู่ธุรกิจในเรื่องของขนส่ง เรื่องของลอจิสติกส์ การขายผ่านออนไลน์ ท่านรัฐมนตรีหลายๆ ท่านก็ได้กล่าวถึงจุดเหล่านี้
Megatrend เหล่านี้ ทุกท่านทราบอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดิฉันคิดว่าการปรับตัวรับมือ Megatrend มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับคนตัวเล็กในระบบเศรษฐกิจดิฉันแค่อยากจะฝากว่าเมื่อไม่นานมานี้ธนาคารกรุงไทยเราก็ออกบทวิเคราะห์ เป็น booklet เล่มหนึ่ง เขียนว่าเปิดทางลัดเอสเอ็มอี ตัวช่วยดีๆ จากภาครัฐ เมื่อกี้จริงๆ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานท่านก็บอก หลายๆ อย่างในประเทศเรามีความช่วยเหลืออยู่ มีกระบวนการทำ แต่มันออกอาจจะค่อนข้างกระจัดกระจาย ในกรณีของเอสเอ็มอีก็เช่นกัน ตัวช่วยในระบบเศรษฐกิจมีค่อนข้างเยอะ อันนี้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ท่านไปดูได้ เปิดดู Google ดูก็ได้ เขียนว่ากรุงไทยรอบรู้เรื่องเศรษฐกิจ ก็จะมีตัวบทความเหล่านี้ขึ้นมา อันนี้เรียกเราพยายามจะรวบรวมไว้บอกว่าทางการได้จริงๆ มีตัวช่วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ One Stop Service ช่วยทั่วๆ ไป เอสเอ็มอีที่ท่านอยากจะขยายตลาดก็ดี ท่านอยากจะรู้เรื่องอื่นๆ ปรับปรุงกระบวนการผลิต ท่านก็เข้าไปดูได้ว่ามีองค์กรไหนที่สามารถที่จะช่วยท่านได้บ้าง ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ เป็นต้น มีอยู่หลายแห่งในหลายจังหวัด รวมทั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต และเรื่องของการความช่วยเหลือเกี่ยวกับช่องทางออนไลน์ที่ยังไงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในยุคที่เป็นโลกดิจิตอลของเรา
สิ่งเหล่านี้ก็อยากจะเรียนแค่ว่า เป็นด้านหนึ่งที่ทางการช่วยในเรื่องของการผลิต เรื่องของการตลาด นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของมาตรการเงินทุนต่างๆ เราทราบกันอยู่แล้ว ความช่วยเหลือในเรื่องของการประกันสินเชื่อผ่าน บสย. หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่บอกว่าสำหรับเอสเอ็มอี ก็อาจจะใช้ตรงจุดนี้ ก็อาจจะฟรีค่าธรรมเนียมในช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีที่อยู่ในกลุ่มนวัตกรรม แล้วก็ผ่านเกณฑ์ของทางการ ท่านก็จะได้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพราะดิฉันคิดว่าทุกคนที่ช่วยเหลือตนเอง และในยุคที่นำใช้นวัตกรรม ความช่วยเหลือเหล่านี้มีอยู่
อย่างไรก็ดี ขอเรียนฝากไว้สำหรับท่านผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่าอันที่ 1 ท่านต้องรู้จักขวนขวายหาว่าความชว่ยเหลือเหล่านี้อยู่ที่ไหน มีความช่วยเหลือเหล่านี้ แต่อาจจะค้นหายากสักนิดหนึ่ง แต่ท่านอาจจะต้องสอบถาม และอีกอย่างหนึ่งคือท่านคงต้องทราบว่าความช่วยเหลือหลายๆ ครั้ง เป็น first come first serve ถึงก่อนได้ก่อน หมดก็อาจจะต้องรอไปก่อน
เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่ช่วงเวลานี้ดิฉันคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความผันผวน อย่าเรียกว่าวิกฤต โลกมีความผันผวน โลกมีความไม่แน่นอน แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนมันก็ยังมีโอกาส และถ้าเกิดเรายอมรับสภาพว่าเราก็ต้องขวนขวายเพื่อให้เราเดินผ่านมรสุมเล็กๆ เหมือนฝนตกข้างนอก วันนี้ไม่ถึงกับฟ้าร้องฟ้าผ่า แค่ฝนตกเยอะหน่อย รถอาจจะติดหน่อย วันนี้ แต่ว่าดิฉันก็เชื่อว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายเกินไป ก็เลยจะขอสรุป ณ ที่นี้ ดิฉันโยงจากโลกจนมาถึงเอสเอ็มอีได้ เดินทางไกลมากเลยภายใต้โลกที่ผันผวน ตอนนี้เราคงต้องกระฉับกระเฉง เราต้องรู้เท่าทัน และที่สำคัญไม่ต้องตกใจ
อย่างแรกก็คือ จริงอยู่เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่ดิฉันคิดว่าทางการสนับสนุนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก หรือในระดับไทย เราก็มีกระบวนการกระตุ้นของเราภายในประเทศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแรงประคองยังมีอยู่ มันไม่ได้จะเลวร้ายมากนัก อย่างที่ 2 ที่เรียนไปในช่วงสุดท้าย ก็คือทุกวิกฤตมีโอกาส อันนี้ยังไม่ถึงกับวิกฤตด้วยซ้ำ ระบบเศรษฐกิจไทยมีความช่วยเหลือหลักๆ ประเภทที่เราสามารถที่จะนำมาใช้ได้ ก็ช่วยให้ท่านสามารถที่จะเดินได้มั่นคงขึ้น ฝ่าลมที่อาจจะค่อนข้างพัดแรงหน่อย เพียงแต่ว่าข้อที่ 3 ก็คือความช่วยเหลือมันอาจจะกระจัดกระจาย ท่านก็ต้องขวนขวาย รู้จักมองหา รวมทั้งมองหาธนาคารกรุงไทยให้ช่วยท่านด้วยก็ได้ ดิฉันเชื่อท้ายที่สุดเราจะผ่านพ้นทุกอย่างไปได้ด้วยดี ขอบพระคุณค่ะ