xs
xsm
sm
md
lg

ไฟฟ้าส่องสว่างทางเวียดนาม ท่ามเศรษฐกิจที่เติบโต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL
ด้วยเพราะเป็นประเทศที่กำลังเติบโตทุกด้าน พลังงานด้านไฟฟ้าถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ขณะรัฐบาลก็ออกมาตรการสนับสนุนอย่างเต็มที่ นักลงทุนจากต่างประเทศ ต่างมีแผนหอบเงินเข้าไปลงทุนในเวียดนามในหลาย ๆ ธุรกิจ อีกทั้งระยะหลังจะพบว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าค่อนข้างเนื้อหอมและหลายบริษัทจ้องหาช่องทางเพื่อจะเข้าไปลงทุน

SSP เชื่ออุต ฯ เวียดนามต้องการไฟฟ้าเพื่อผลิต


บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SSP เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เข้าลงทุนในเวียดนาม เพราะเมื่อปลายปี 61 SSP ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA) ในโครงการโรงไฟฟ้า Binh Nguyen กับการไฟฟ้าแห่งเวียดนาม Electricity of Vietnam (EVN) โดยมีอัตรารับซื้อค่าไฟฟ้าแบบ FiT (Feed-in-Tariff) คงที่ 9.35 เซ็นดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะเวลา 20 ปี โดยโครงการนี้มีกำลังการผลิตติดตั้ง 49.61 เมกะวัตต์ ในเมือง Quan Ngai ของเวียดนาม และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว ซึ่ง SSP ได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท Troung Thanh Quang Ngain Power and High Technology Joint StockCompany(TTQN) 80%


"บริษัทมั่นใจว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามเป็นโครงการที่ดี และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าและเป็นการตอกย้ำในการขยายธุรกิจของบริษัทในเวียดนาม ซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมากๆ" นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP กล่าว

โดยโครงการดังกล่าว CODแล้ว และรัฐบาลเวียดนามรับซื้อค่าไฟแบบ FiT (Feed-in-Tariff) 0.0935 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งมูลค่าส่วนเพิ่มของโครงการนี้ยังไม่รวมในมูลค่าเหมาะสมที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว (รวมโครงการที่มองโกเลียแต่ยังไม่รวมโครงการที่เวียดนาม) และนอกจากเวียดนามแล้ว SSP ยังมีอีกหลายโครงการในอาเซียน ทั้งที่ไทย ญี่ปุ่น มองโกเลียเป็นต้น ซึ่งจะป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันให้ผลประกอบการปี 62 ของ SPP เติบโตได้ตามเป้าหมายระดับ 30-40% พร้อมกับเดินหน้าขยายการลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 400 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันบริษัท ฯ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหลายโครงการ ซึ่งปี 2563 จะมีกำลังการผลิต 196 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2562 ที่มี 157 เมกะวัตต์


GUNKUL สรุปดีลเวียดนามก่อนสิ้นปี 62


บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เข้าไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนอกจากพม่าแล้ว ยังมองหาช่องทางและอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการโครงการโซลาฟาร์มในประเทศเวียดนาม เบื้องต้นขณะนี้รอสรุปดีลที่จะเข้าลงทุน ขนาดมากกว่า 50 เมกะวัตต์ ให้ผลตอบแทนการลงทุนจากการเข้าไปถือหุ้น หรือ EIRR ตัวเลขมากกว่า 2 หลัก ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 4 ปี 62 นี้ โดยเป็นลักษณะการเข้าไปลงทุนแบบซื้อทั้งหมด 100% ส่วนเม็ดเงินที่จะใช้นั้นเป็นเงินทุนหมุนเวียน คาดว่าเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่รบกวนผู้ถือหุ้นเด็ดขาด ขณะที่ในเดือนกันยายนนี้จะต้องรีไฟแนนซ์หุ้นกู้วงเงิน 2,750 ล้านบาท และ GUNKUL จะใช้เม็ดเงินจากส่วนนี้ประมาณ 30% ที่เหลือจะใช้เป็นโปรเจ็คไฟแนนซ์


"การที่เรามองเวียดนามเพราะรัฐบาลส่งเสริมและมีโซล่าร์ฟาร์มเยอะมาก และความชัดเจนสำหรับกาลงทุน อีกทั้งตัวเลขจีดีพีของเวียดนามที่เติบโตสม่ำเสมอ ทำให้เป็นที่น่าสนใจต่อการลงทุนและเรายังมองหาการลงทุนในโครงการอื่นๆและเมืองอื่นอีกต่อเนื่อง เพราะที่เวียดนามมีอีกมากที่เป็นโอกาสสำหรับการลงทุน "นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ GUNKUL เผยกับ" ผู้จัดการรายวัน 360"


นอกจากเวียดนามแล้ว GUNKUL ยังอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าในประเทศมาเลเซียร่วมกับพันธมิตร 3 โครงการ รวม 160 MW ซึ่งต้องมติจากคณะกรรมการบริษัทก่อนและมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนเช่นเดิม จากนั้นก็พร้อมจะเข้าประมูลงานในอาเซียนตามแผน นอกจากนี้ยังสนใจจะเข้าไปลงทุนในไต้หวันด้วย ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น 2 โครงการ ขนาด 130 MW คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,260 ล้านบาท ซึ่ง GUNKUL ได้ลงทุนไปแล้ว 1,400 ล้านบาท คาดจะ CODได้ปี 66 ล่าสุด สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ มีกำลังการผลิตรวม 380 MW และมีโครงการโซลารูฟท็อปที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 30 MW คาดว่าจะ COD ได้ในไตรมาส 4 นี้

BGRIM รุกหนักไฟฟ้าเวียดนาม

บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM บริษัทที่รุกขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศต่อเนื่อง ล่าสุดได้ปักธงสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่เมืองเตนินห์ ประเทศเวียดนาม คือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 ที่เวียดนาม ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 420 เมกะวัตต์ และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ Electricity of Vietnam (EVN) แล้วเมื่อเดือน มิถุนายน 62 ด้วยสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 9.35 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง สร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงเป็นระยะเวลา 20 ปี สัญญาระยะยาว 20 ปี


"ต้องยอมรับว่านโยบายด้านพลังงานของเวียดนามมุ่งเน้นไปที่เรื่องของพลังงานทดแทนถึง 21% ซึ่งจีดีพีและการเติบโตของเวียดนามชัดเจนมาก โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าของเวียดนามใต้มีความต้องการใช้ไฟอีกมาก" นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่ BGRIM กล่าวไว้


ทั้งนี้ BGRIM ยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการโรงไฟฟ้าในอีกหลายประเทศทั้งใน เวียดนาม ที่จะเพิ่มกำลังผลิตเร็ว ๆ นี้ รวมถึงมาเลเซีย ที่อยู่ระหว่างศึกษาก๊าซ สปป.ลาวเป็นเรื่องของพลังน้ำ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เป็นการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (รูฟท็อป) ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง BGRIM เน้นด้านพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทนเป็นหลัก ล่าสุดที่ได้เริ่มสัญญาการลงทุนพลังงานลม ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับเกาหลีใต้ Korean Midland Power Co.,Ltd. (KOMIPO)

โดย BGRIM มีเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนไปสู่เป้าหมายของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าจะใช้งบประมาณลงทุนไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศ 25% ในประเทศ 75% และหากอนาคตเป็นไปตามเป้าหมายการซื้อขายดังกล่าว คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศอีก 5% เป็น 30% ด้วย และในไทย BGRIM ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 โดยจะส่งผลให้สิ้นปีนี้จะมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 46 โครงการ อีกทั้งยังมีความสนใจในไทยในหลายโครงการ เช่น LNG เป็นต้น



SUPERลุยลงทุนโรงไฟฟ้าในอาเซียน


บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ที่มีผู้บริหารหนุ่มไฟแรงอย่าง "จอมทรัพย์ โลจายะ" ประธานคณะกรรมการ ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทั้งในและต่าง อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในเวียดนามคือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้ทำการ COD ไปแล้ว เมื่อปลายเดือน มิ.ย.62 โดยการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) 4 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 186.72 ส่วนอีก 1 โครงการ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 50 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน ต.ค.62 ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 350 เมกะวัตต์ ทยอยลงนามกับผู้รับเหมา คาดจะเริ่มเห็นความชัดเจน ตั้งแต่ไตรมาส 3/62 เป็นต้นไป


"เรายังคงมองหาโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานทดแทนต่อเนื่องในทุกประเภท ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี และเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย และในปีนี้จะเห็นการเพิ่มรายได้ที่มาจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการผลิต และสร้างรายได้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะช่วยสนับสนุนการเพิ่มรายได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการกระจายสัดส่วนรายได้หลัก เพราะจากเดิมมีแต่รายได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สัดส่วน 80-90%"
นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SSP
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM
จอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER


กำลังโหลดความคิดเห็น