สัปดาห์ก่อน ได้เชิญนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 2 บริษัทโบรกเกอร์ซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาสัมภาษณ์ในรายการคุยคุ้ยหุ้น ที่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม NEWS1
1 ในคำถามในรายการคือ แนวโน้มการลงทุนในบิทคอยน์เป็นอย่างไร
นายจิรายุส ตอบกลับทันทีว่า บิทคอยน์ไม่ใช่การลงทุน เพราะไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่จะพิจารณาลงทุน แต่เป็นการเก็งกำไร
คนที่ซื้อขาย บิทคอยน์ จึงเป็นไปเพื่อการเก็งกำไรโดยตรง
ความจริง นายจิรายุส จะปล่อยผ่านคำถาม โดยไม่โต้แย้งก็ได้ แต่อาจเป็นเพราะต้องการให้สาธารณชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องของคำจำกัดความระหว่าง คำว่า “ลงทุน” กับ “เก็งกำไร” เพราะคำสองคำนี้มักจะใช้กันผิดๆ โดยเฉพาะคนในแวดวงตลาดหุ้น
การซื้อขายบิทคอยน์ ซึ่งนักค้าเงินดิจิทัลรายนี้ ให้คำจำกัดความว่า เป็นการเก็งกำไร ทำให้นึกถึงนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีแนวคิดที่จะแยกการกำกับดูแลระหว่างนักลงทุนกับนักเก็งกำไร
นายภากร มีแผนที่จะขยายผู้ลงทุนในตลาดทุนให้มีจำนวน 20 ล้านคน แต่ในจำนวน 20 ล้านคน จะจำแนกนักลงทุนเป็น 3 กลุ่ม ตามประเภทของการลงทุน เพื่อความชัดเจนในการกำกับ ดูแล และการให้ความรู้ความเข้าใจการลงทุนในแต่ละประเภท
นักลงทุนแต่ละกลุ่มที่จะจำแนกประกอบด้วย กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้น กลุ่มนักลงทุนในกองทุนรวม และกลุ่มที่ซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นฟิวเจอร์ เดลิเวทีฟ หรือออปชันต่างๆ
การจำแนกนักลงทุนตามประเภทของการลงทุนเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้การกำกับดูแล การปกป้องคุ้มครองและให้ความรู้ความเข้าใจการลงทุนในทรัพย์สินแต่ละประเภทมีความชัดเจน และตรงกลุ่มเป้าหมาย
ปัจจุบัน คำจำกัดความของ “การลงทุน” ผสมปนเปไปหมด การซื้อขายทรัพย์สินหรือตราสารหลายประเภท เป็นไปเพื่อการเก็งกำไร แต่กลับถูกเหมารวมว่าเป็นการลงทุน
ตราสารในตลาดหุ้นหลายประเภท เช่น โกลด์ฟิวเจอร์ เดลิเวทีฟ (DW) วอร์แรนต์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า SET50 บล็อกเทรดและซิงเกิลสต๊อก ล้วนเป็นการเก็งกำไร เป็นการเล่นได้เสีย วัดดวง และเต็มไปด้วยความเสี่ยง เพราะตราสารเหล่านี้ถูกออกแบบให้มีอายุสั้น ไม่อาจถือเพื่อการลงทุนได้
แตกต่างจากการซื้อขายหุ้น ซึ่งเป็นได้ทั้งการลงทุนและการเก็งกำไร ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการซื้อขาย
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้ให้คำแนะนำการลงทุนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายมาร์เกตติ้ง รวมทั้งผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่จะไม่ระมัดระวังการใช้คำพูดเกี่ยวกับตราสารในตลาดทุน ไม่ได้แยกแยะระหว่างตราสารเพื่อการเก็งกำไรกับตราสารเพื่อการลงทุน
ทั้งที่ความหมายของคำว่า "การเก็งกำไร" กับการลงทุน มีความแตกต่างกัน ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ควรจะตระหนักในการอธิบายความหมายที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสถานภาพของทรัพย์สินหรือตราสารแต่ละประเภท เลือกตัดสินใจเลือกลงทุนหรือเก็งกำไรได้อย่างถูกต้อง
บุคลากรในแวดวงตลาดทุน มีความตระหนักการสื่อความหมายคำว่า “ลงทุน” กับ "เก็งกำไร" น้อยกว่าคนนอกแวดวงตลาดทุน เช่น นายจิรายุส นักค้าเงินสกุลดิจิทัล ซึ่งแยกแยะชัดเจนระหว่างคำว่า “ลงทุน” และ “เก็งกำไร”
เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ทั้งระบบ ซึ่งควรเข้าใจถึงการซื้อขายตราสารต่างๆ ในตลาดหุ้นดี แต่กลับใช้คำจำกัดความการซื้อขายตราสารแต่ละประเภทผิดๆ มาโดยตลอด
การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าทองคำ การซื้อขาย DW หรือตราสารอนุพันธ์ทุกประเภท ถูกสื่อว่า เป็นการลงทุนทั้งหมด ทั้งที่เป็นการเก็งกำไรล้วนๆ
แม้แต่คนระดับด็อกเตอร์ เขียนบทความออกสื่อ ยังแสดงภูมิผิดๆ เรียก DW เป็นการลงทุนเสียอีก
โฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนซื้อขาย DW ของโบรกเกอร์บางแห่ง ใช้คำว่า “ลงทุน” อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยไม่มีการทักท้วงจากหน่วยงานที่กำกับดูแล
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทจดทะเบียนโดยตรง ควรเข้มงวดกับบุคลากรในตลาดทุน เพื่อให้สื่อความหมายระหว่างคำว่า "ลงทุน" กับ "เก็งกำไร" ให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนในสถานภาพตราสารแต่ละประเภท
ทุกวันนี้ สินค้าในตลาดทุนถูกให้คำจำกัดความมั่วไปหมด ตราสารที่ออกมาเพื่อการเก็งกำไร เช่น DW หรืออนุพันธ์ต่างๆ แต่ถูกเหมารวมเป็นการลงทุนทั้งสิ้น
ปัญหาการสื่อความหมายผิดๆ ระหว่างคำว่า “ลงทุน” กับ “เก็งกำไร” จนประชาชนสับสน เกิดขึ้นเพราะความ “มักง่าย” ของคนในแวดวงตลาดทุนนี่แหละ