xs
xsm
sm
md
lg

เช็กบิล บลจ.โซลาริส / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริส จำกัด จะเปลี่ยนชื่อไปแล้ว เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน อินโนเทค จำกัด แต่พฤติกรรมฉาวโฉ่ของอดีตผู้บริหารบริษัทจัดการลงทุนแห่งนี้ยังสะสางกันไม่เสร็จสิ้น โดยการลงทุนในตราสารหนี้เน่าๆ ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนภายใต้การบริหารของ “โซลาริส” ได้รับความเสียหาย

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ในยุคที่ นายสุพรรณ เศษธะพานิช เป็นกรรมการผู้จัดการ มีการจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้จำนวนมาก ระดมเงินจากผู้ถือหน่วยลงทุน นำไปลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว บี/อี และหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง

เช่น บริษัท เค.ซี.พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีส เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ IFEC และบริษัท อี ฟอร์ แอล เอ็ม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL

แต่ตั๋ว บี/อี และหุ้นกู้ที่นายสุพรรณ อนุมัติเข้าไปลงทุนมักจะกลายเป็นตั๋ว บี/อี และหุ้นกู้เน่า เนื่องจากผู้ออกตั๋วหรือออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา

มีข้อสงสัยมานานแล้ว ทำไมกองทุนภายใต้บริหารจัดการของ “โซลาริส” จึงลงทุนแต่ตราสารหนี้เน่าๆ นายสุพรรณ อนุมัติลงทุนได้อย่างไร มีเบื้องหน้าเบื้องหลังผลประโยชน์ใดหรือไม่

คำถามที่ดังก้องในหมู่นักลงทุนและคนในแวดวงธุรกิจจัดการกองทุน วันนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำตอบให้แล้ว

เพราะเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ประกาศกล่าวโทษนายสุพรรณ ในความผิดร่วมกันทุจริต ในการให้ KC ออกตั๋ว บี/อี ขายให้กองทุนภายใต้การบริหารจัดการของ “โซลาริส” และผิดนัดชำระหนี้จำนวน 350 ล้านบาท

ในขณะอนุมัติให้กองทุนลงทุนตั๋ว บี/อี นายสุพรรณ มีตำแหน่งประธานคณะกรรมการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริส จำกัด ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ ซีมีโก้ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 100%

ก.ล.ต.ไม่ได้ระบุในรายละเอียดว่า นายสุพรรณ ได้ประโยชน์จากการร่วมทุจริตในรูปแบบใด เพียงแต่ ได้แจ้งให้นายสุพรรณ มาชำระค่าปรับแล้ว แต่นายสุพรรณ ไม่ยินยอม จึงกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ 

ส่วนคณะกรรมการลงทุนของ (IC) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริสที่ร่วมอนุมัติการลงทุนในตั๋ว บี/อี ถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน

ความผิดของนายสุพรรณ เกี่ยวโยงกับคดียักยอกทรัพย์ของอดีตผู้บริหาร KC จำนวน 7 ราย ซึ่ง ก.ล.ต. กล่าวโทษเมื่อเดือนมกราคม 2561

อดีตผู้บริหาร KC ทั้ง 7 ราย ได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของ KC โดยการออกตั๋ว บี/อี วงเงิน 430 ล้านบาท แต่เงินจากการออกตั๋วไม่ได้เข้าบัญชีบริษัท แต่ถูกผ่องถ่าย โดยโอนเข้าบัญชีอดีตผู้บริหารทั้ง 7 ราย

ผลกระทบจากการผ่องถ่ายเงินจากการออกตั๋ว บี/อี ทำให้ KC มีปัญหาฐานะทางการเงิน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จนหุ้นถูกพักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2560 โดยผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 3,584 รายได้รับความเสียหาย

หลังถูกกดดันจนต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริส มีข่าวว่า นายสุพรรณ เข้าไปคลุกคลีกับเจ้าของสื่อค่ายใหญ่ และลงทุนถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจสื่ออยู่พักหนึ่ง แต่ล่าสุดไม่ปรากฏรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้น โดยถอนการลงทุนก่อนที่ ก.ล.ต. จะประกาศกล่าวโทษ

อย่างไรก็ตาม การถูกกล่าวโทษในความผิดร่วมกันทุจริตการออกตั๋ว บี/อี KC และอนุมัติให้กองทุน โซลาริสเข้าไปลงทุน สร้างความเสียหายให้ผู้ถือหุ้น KC และผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนนั้น จะเป็นความผิดเดียวของนายสุพรรณหรือไม่

เพราะนายสุพรรณ ได้อนุมัติให้กองทุนภายใต้การบริหารจัดการของ “โซลาริส” หลายแห่ง ลงทุนในตั๋ว บี/อี และหุ้นกู้

บริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่ง ซึ่ง การอนุมัติการลงทุนในแต่ละแห่ง ถ้ามีผลประโยชน์ซ่อนเร้น ถ้ามี “เงินทอน” ต่างตอบแทน

การร่วมทุจริตการออกตั๋ว บี/อี อาจไม่ใช่คดีแรกและคดีสุดท้ายของนายสุพรรณ เพราะอาจมีคดีอื่นตามมา

ในช่วงที่กองทุนภายใต้การบริหารจัดการ โซลาริส ลงทุนในตราสารหนี้เน่า และถูกปฏิเสธการชำระหนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะตั๋ว บี/อี ปั่นป่วนเท่านั้น แต่ยังทำให้ธุรกิจบริหารจัดการลงทุนทั้งระบบ เกิดวิกฤตในความเชื่อมั่นด้วย

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน โซลาริส นายสุพรรณแทบล่มสลาย เพราะต้องดูแลรับผิดชอบผู้ถือหน่วยลงทุน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่นายสุพรรณ จะต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ก่อไว้



กำลังโหลดความคิดเห็น