xs
xsm
sm
md
lg

หุ้น AWC อนาคตดีจริงหรือ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หุ้นบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังถูกโหมกระแสความสนใจกันอย่างอึกทึกครึกโครม เสียงเชียร์ดังสนั่นหวั่นไหว ปลุกเร้าให้นักลงทุนวิ่งหาหุ้นจองกันอุตลุด ทั้งที่ราคาเสนอขายตั้งไว้สูงมาก

แผนการนำหุ้น AWC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประกาศออกมาชัดเจน โดยหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 8,000 ล้านหุ้น จะเสนอขายนักลงทุนทั่วไป ระดมทุนเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 25-27 กันยายนนี้ ในราคาหุ้นละ 6 บาท

มีการออกข่าวว่า นักลงทุนสถาบัน รวมทั้งกองทุนในประเทศและต่างประเทศแสดงความต้องการจองซื้อหุ้นแล้วกว่า 3,454 ล้านหุ้น

ประมาณต้นเดือนตุลาคมนี้ หุ้น AWC จะประเดิมเคาะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

AWC เกิดจากการนำทรัพย์สินของกลุ่มนายเจริญ มา “รวมห่อ” มีทั้งโรงแรมและอาคารสำนักงานให้เช่า โดยมีทรัพย์สินเกือบ 10 รายการ เคยเป็นทรัพย์สินของ บริษัท นิว อิมพีเรียล โฮเต็ล จำกัด (มหาชน) ที่นายเจริญ เพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2545

AWC จึงเป็นการแปลงร่างกลายๆ ของ บริษัท นิว อิมพีเรียล โฮเต็ลฯ เพียงแต่ทรัพย์สินของ "นิวอิมพีเรียล" ที่ถูกเปลี่ยนมือมาอยู่ใน AWC ช่วงที่มีการขายออกจาก "นิวอิมพีเรียล" ตีราคาแถวๆ มูลค่าทางบัญชีหรือ "บุ๊กแวลู"

บริษัท นิว อิมพีเรียล โฮเต็ล จำกัด (มหาชน) เดิม นายอากร ฮุนตระกูล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 16 เมษายน 2533 โดยนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนในราคา 105 บาท และหุ้นเคยพุ่งขึ้นไปสูงกว่า 200 บาท

ปี 2537 ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของนิวอิมพีเรียลฯ โดยนายเจริญ เข้ามาซื้อหุ้นจากกลุ่มนายอากร ในราคาหุ้นละ 33 บาท ปี 2538 มีการเพิ่มทุนจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 2,000 ล้านบาท โดยจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 25 บาท

หลังจากนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงในบริษัทย่อยของนิวอิมพีเรียลอย่างมากมาย มีการขายหุ้น ขายเงินลงทุนและขายทรัพย์สิน ก่อนที่จะมีการขอเพิกถอนหุ้นอิมพีเรียลออกจากตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2545 โดยกลุ่มนายเจริญ ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นทั่วไปในราคาหุ้นละ 18 บาท

อดีตของหุ้นอิมพีเรียลฯ คงไม่มีใครสนใจลงไปสืบค้น แต่สิ่งที่นักลงทุนกำลังให้ความสนใจคือ อนาคตของหุ้น AWC จะเป็นอย่างไร ควรจองหรือไม่

ราคาหุ้นที่ตั้งไว้ 6 บาทนั้น คำนวณค่า พี/อี เรโช ปัจจุบันจากอยู่ที่ประมาณ 160 เท่า โดยประเมินจากผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปี 2562 จำนวนกว่า 1 พันล้านบาท และคาดว่าผลกำไรสุทธิในปีหน้า จะเพิ่มเป็นกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะดึงให้ค่า พี/อี เรโช ลดลงเหลือประมาณ 70 เท่า

ถ้าคำนวณจากค่า พี/อี เรโช หุ้น AWC ถือว่าแพงมาก ราคาที่นักลงทุนจะจองซื้อตั้งอยู่บนความคาดหวังผลประกอบการในอนาคต ซึ่งไม่มีใครรับประกันว่า จะเป็นไปตามที่คาดหรือไม่

หุ้น บริษัท อรินสิริ แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ARIN เคยนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนในราคาหุ้นละ 3.10 บาท ค่า พี/อี เรโช กว่า 100 เท่า ปรากฏว่า หุ้นเหลือขายบานเบอะ จนต้องลดราคาลงมา และเสนอขายใหม่หุ้นละ 1.80 บาท แต่ค่า พี/อี เรโช ยังสูงกว่า 60 เท่า

การตั้งราคาหุ้นที่สูงเกินปัจจัยพื้นฐาน ผลที่ตามมาคือ นักลงทุนที่จองซื้อตายเกลี้ยง โดยหุ้น ARIN ซึ่งเข้าซื้อขายเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาปิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน ทรุดลงมาเหลือเพียง 68 สตางค์ หรือทรุดลงต่ำกว่า 60%

รายได้หลักของ AWC มาจากค่าเช่าจากธุรกิจโรงแรมและอาคารสำนักงาน ปัจจัยเสี่ยงของหุ้นน้องใหม่ตัวนี้ อยู่ที่ความผันแปรของค่าเช่า

ถ้าเศรษฐกิจโลกตกต่ำ การท่องเที่ยวจะซบเซา รายได้จากธุรกิจโรงแรมอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย ถ้าเศรษฐกิจภายในประเทศฟุบหนักลงต่อไป ปริมาณการเช่าพื้นที่เช่าสำนักงานจะมีแนวโน้มลดลง รายได้จากค่าเช่าอาคารสำนักงานอาจไม่เติบโตตามที่ประมาณการไว้

กระแสหุ้น AWC ยังดังโครมครามอยู่ และหุ้นจำนวน 8,000 ล้านหุ้น คงขายหมดเกลี้ยง เพียงแต่นักลงทุนต้องรับรู้ในความเสี่ยงของหุ้นน้องใหม่ตัวนี้

ถ้าผลกำไรจากการดำเนินงานไม่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ราคาเสนอขาย 6 บาทนับว่าแพงหูฉี่ ทีเดียว



กำลังโหลดความคิดเห็น