xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ เผยดัชนี ศก.ครัวเรือน ส.ค.ดีขึ้นเล็กน้อย จับตาหนี้เพิ่ม ผลน้ำท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไทยเดือน ส.ค.ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เหตุกังวลกรณีรายได้ การมีงานทำลดลง แต่ต้องจับตาภาระหนี้สินที่สูงขึ้นเหตุรูดบัตรฯ มีหนี้ค้างเพิ่ม พร้อมรอประเมินผลกระทบจากน้ำท่วม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือน ส.ค.2562 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 41.5 ในเดือน ก.ค.2562 มาอยู่ที่ระดับ 41.9 ในเดือน ส.ค. เนื่องจากครัวเรือนมีความกังวลลดลงต่อประเด็นด้านระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ สอดคล้องไปกับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่ในเดือน ส.ค.2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.19 จากเดือน ก.ค.2562 จากราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศ) ที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลก และราคาอาหารสด (ผักผลไม้ และเนื้อสัตว์) ที่ปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก

นอกจากนี้ ครัวเรือนไทยยังมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากมาตรการพยุงเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 500 บาทต่อคนต่อเดือน ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2562) มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (300 บาทต่อคนต่อเดือน) รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และข้าวหอมมะลิ ก็มีส่วนช่วยหนุนรายได้ครัวเรือนเกษตรกรบางส่วนให้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนที่ ส.ค.2562

พร้อมกันนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมต่อประเด็นเรื่องมาตรการของภาครัฐที่ครัวเรือนไทยมองว่าน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจที่ตนเองเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ โดยครัวเรือนไทยที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงร้อยละ 0.125-0.25 มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจของครัวเรือนมากที่สุด ในขณะที่ครัวเรือนที่อาศัยในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดมองว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับภาระหนี้สิน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย 1 ปี และการได้รับสินเชื่อฉุกเฉิน มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจของครัวเรือนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในเดือน ส.ค.2562 จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ครัวเรือนไทยกลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน โดยจากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 22.3 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในเดือน ส.ค. มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.2562 โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนยังมีการผัดผ่อนหนี้การชำระหนี้ในเดือนก่อนหน้า จึงทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มพูนทบต้นทบดอกในเดือนถัดมา ทั้งนี้ ภาระหนี้สินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือน ส.ค.2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.3 จากเดิมที่ระดับ 43.9 ในการสำรวจช่วงเดือน ก.ค.2562 โดยครัวเรือนบางส่วนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกร เนื่องจากในช่วงระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือน ก.ย.-พ.ย.) เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร อย่างไรก็ดี การสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือนที่ผ่านมาจัดทำในช่วงก่อนการเกิดอุทกภัยจากพายุโซนร้อนโพดุลในหลายพื้นที่จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตั้งแต่ 29 ส.ค.2562 เป็นต้นมา) จึงทำให้ครัวเรือนที่ทำการสำรวจไม่ได้นำปัจจัยเกี่ยวกับน้ำท่วมมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมุมมองภาวะเศรษฐกิจของตนเองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือน ส.ค.2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยหลักๆ แล้ว มาจากความกังวลที่ลดลงของครัวเรือนบางส่วนเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำ อย่างไรก็ตาม การสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยจัดทำในช่วงก่อนการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้ปัจจัยเรื่องน้ำท่วมไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของตนเองในปัจจุบันและช่วง 3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2562 (เดือน ก.ย.-ธ.ค.) ยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนและไร่นาของครัวเรือนชาวอีสาน ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบที่จะขึ้นราคาในช่วงเดือน ต.ค.2562 จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต รวมไปถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น