xs
xsm
sm
md
lg

"สรรพสามิต" ย้ำ 1 ต.ค.นี้ปรับขึ้นภาษีความหวาน เผยผลสำรวจมีประชาชนไม่มากรับรู้มาตรการฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สรรพสามิต เผยมีผู้ผลิตเครื่องดื่ม 1 ราย ยอมลดปริมาณความหวานเพื่อเสียภาษีในอัตราที่ถูกลง พร้อมเตือนหากผู้ผลิตรายใดยังไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลลงได้แล้วต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเมื่อถึงวันที่ 1 ต.ค.62 ซึ่งครบกำหนดเส้นตายที่สรรพสามิตจะปรับอัตราภาษีเป็นแบบขั้นบันได ขณะที่ผลสำรวจความรับรู้มาตรการภาษีความหวานของประชาชนยังมีไม่มาก โดยกลุ่มคนในวัยทำงานยังคงมีความสนใจน้อย และยังคงบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานสูงอยู่มาก

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตค่าความหวานในวันที่ 16 ก.ย.60 ว่า มีผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องดื่มเพียงยี่ห้อเดียวที่ลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเพื่อเสียภาษีในอัตราที่ถูกลง ขณะที่รายอื่นๆ ยังใช้วิธีออกสินค้าใหม่ ซึ่งระบุถึงปริมาณน้ำตาลในระดับต่ำแทน เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบต่อสินค้าเดิมที่ขายอยู่ในตลาด อย่างไรก็ตาม ตนขอย้ำเตือนว่า ในวันที่ 1 ต.ค.62 จะมีการปรับภาษีแบบขั้นบันได โดยจะมีการปรับอัตราเพิ่มขึ้นในทุกๆ 2 ปี แต่หากผู้ผลิตรายใดยังไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลลงได้อีก จะต้องเสียภาษีเพิ่มขั้นอีกเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม จากการบังคับใช้ภาษีความหวานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจความรับรู้มาตรการภาษีความหวานกับประชาชน พบว่า มาตรการภาษีจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับตัว โดยมีการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มและติดฉลากเพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบมีเพิ่มขึ้นกว่า 200% หรือราว 200-300 รายการ จากเดิมที่มี 60-70 รายการ แต่อย่างไรก็ตาม การรับรู้ประชาชนยังคงมีไม่มากนัก โดยกลุ่มที่มีความตื่นตัวคือกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี และกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในขณะที่กลุ่มคนวัยทำงานยังมีความสนใจน้อย และคงบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานสูงอยู่มาก

สำหรับผลการจัดเก็บภาษีค่าความหวานในปัจจุบันกรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้ต่อปีอยู่ที่ 2-3 พันล้านบาท แต่อัตราภาษีใหม่ที่จะปรับแบบขั้นบันไดซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.62 จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกราว 1.5 พันล้าน ทั้งนี้ รายได้โดยจากภาษีน้ำหวานจะอยู่ที่ 3.5-4.5 พันล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันนายณัฐกร ยังมั่นใจด้วยว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโดยภาพรวมในปีงบประมาณ 62 ซึ่งอยู่ที่ 5.84 แสนล้านบาท และปี 63 ซึ่งอยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นไปตามเป้าหมาย

ส่วนการจัดเก็บภาษีความหวานตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62-30 ก.ย.64 กรมสรรพสามิตกำหนดให้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ในอัตราเดิมภาษีที่ 0.30 บาทต่อลิตร ส่วนเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเก็บภาษี 1 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เคยจัดเก็บภาษีที่ 0.50 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะจัดเก็บ 3 บาทต่อลิตร จากเดิม 1 บาทต่อลิตร และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บ 5 บาทต่อลิตร และจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวอีกครั้งเมื่อถึงวันที่ 1 ต.ค.64-30 ก.ย.66 และเมื่อถึงวันที่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ยังกล่าวด้วยว่า กรมสรรพสามิตเตรียมที่จะหารือถึงขั้นตอน หลักการ และวิธีการร่วมกับคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอาหารและยา เพื่อเข้ากำกับดูแลผู้ประกอบการให้เพิ่มขนาดเครื่องหมายแจ้งเตือนปริมาณน้ำตาลเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นและอ่านได้ง่ายขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น