xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ปรับมุมมองเครดิตTMBเป็นบวกรับผลดีการควบรวม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของ ธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน)(TMB) เป็นแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก จากเดิมแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพและคงอับดับเครดิตดังกล่าวที่ ‘BBB-’ และ ‘AA-(tha)’ ตามลำดับ พร้อมกันนี้ ฟิทช์ยังให้เครดิตพินิจเป็นบวก (Rating Watch Positive) แก่อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของ TMB

ทั้งนี้ การประกาศอันดับเครดิตเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศยืนยันการควบรวมกิจการระหว่าง TMB กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)(TBANK)เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 และธุรกรรมดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2562 ตามแผนการควบรวมกิจการ TMB จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ TBANK จากผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะคิดเป็นมูลค่าเงินสดของธุรกรรมที่ประมาณ 130 พันล้านบาท โดย TMB คาดว่าเม็ดเงินประมาณ 106.5 พันล้านบาท (หรือประมาณ 80% มูลค่าธุรกรรม) จะเป็นการระดมทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งหรือประมาณ 42.5 พันล้านบาทจะเป็นการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังระบุให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TBANK จะต้องนำเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นใน TBANK ส่วนหนึ่งกลับมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB ในมูลค่าประมาณ 57.6 พันล้านบาท และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20% ของมูลค่าธุรกรรม TMB จะทำการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ (หุ้นกู้ด้อยสิทธิและตราสารทางการเงินที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1)

โดยผู้ถือหุ้นของ TMB 3 รายใหญ่หลังจากการควบรวมกิจการจะประกอบด้วย ING Bank N.V. (‘AA-’/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งจะถือหุ้นในสัดส่วน 21.3% ในขณะที่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) จะถือหุ้นในสัดส่วน 20.4% และ กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในสัดส่วน 18.4% ทั้งนี้กระบวนการรวมธุรกิจและการดำเนินงาน (integration) จะเริ่มขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2562 และการโอนและรับโอนกิจการทั้งหมด (entire business transfer) น่าจะเสร็จสิ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564
TMB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทยในด้านเงินฝาก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 5% ณ สิ้นปี 2561 ในขณะที่ TBANK เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอับดับที่ 6 ในด้านเงินฝากโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 6% แม้ว่าหลังจากการควบรวมกิจการ TMB จะมีสถานะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 แต่ฟิทช์คาดว่าทางการน่าจะพิจารณาว่า TMB เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ (systemic importance)

ขณะที่ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก สอดคล้องกับมุมมองของฟิทช์ว่าการควบรวมกิจการน่าจะส่งผลให้โครงสร้างทางเครดิตของ TMB ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากธนาคารสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างธุรกิจของธนาคารที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีสาระสำคัญ รวมถึงการระดมทุน โดยTMBจะมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมีรูปแบบธุรกิจที่มีการกระจายตัวมากขึ้น หลังจากการควบรวมกิจการ อีกทั้ง TBANK มีความแข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมฐานลูกค้าปัจจุบันของ TMB นอกจากนี้ด้วยขนาดเงินฝากที่ใหญ่ขึ้นและฐานลูกค้าเงินฝากที่มีการกระจายตัวมากขึ้น น่าจะช่วยให้ TMB มีโครงสร้างการระดมทุนที่มั่นคงมากขึ้นในระยะปานกลาง และอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าและเป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

นอกจากนี้ ฟิทช์ยังคาดว่าการควบรวมกิจการน่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกแก่ปัจจัยเครดิตด้านอื่นของ TMB ด้วย เช่นด้านระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ด้านคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งด้านรายได้และอัตรากำไร แต่อย่างไรก็ตามอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อจะให้มีความแน่นอนมากขึ้นว่าผลกระทบต่อปัจจัยดังกล่าวจะมีนัยสำคัญเพียงใด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะมีความเสี่ยงจากการดำเนินการควบรวมกิจการ แต่ฟิทช์คาดความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างจำกัด เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่าทั้ง TMB และ TBANK มีความแข็งแกร่งทางการเงินในระดับที่ใกล้เคียงกัน และมีลักษณะธุรกิจที่ค่อนข้างส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งรวมถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคาร
กำลังโหลดความคิดเห็น