ผู้จัดการรายวัน 360- สภาพัฒน์เผยหนี้มูลค่าหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาสแรก ปี 62 พุ่ง 13 ล้านล้านบาท สูงลำดับ 2 ของเอเชีย “บัตรเครดิต-รถยนต์” มีแนวโน้มหนี้เพิ่มสูงขึ้น ธปท.ห่วงหนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงขึ้น สะท้อนความเปราะบางครัวเรือน หวั่นกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ รับเงินเฟ้อทั่วไปออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลปีนี้มีโอกาสหลุดเป้า
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2562 พบหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 1/2562 หนี้ครัวเรือนเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 6.3 และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับร้อยละ 78.7 สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ปี 2560 โดยหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอันดับ 11 ของโลก จาก 74 ประเทศ และหนี้ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และรถยนต์
สำหรับไตรมาส 2/2562 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 9.2% โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2558 เป็นต้นมา
ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 7.8% ชอละลงจาก 9.1% ในไตรมาสก่อน และรถยนต์ขยายตัว 10.2% ชะลอลงจาก 11.4% ในไตรมาสก่อน ภาพรวมของสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น มียอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2/2562 มูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 2.74% ต่อสินเชื่อรวม และ 2.75% ต่อ NPLs รวม
โดยยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น 32.3% และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 12.5% เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และสินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง
สำหรับแนวโน้มหนี้สินในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงจากขึ้นปีแรก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ อย่างไรก็ตาม ด้านคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะด้อยคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ธนาคารไทยพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อในลักษณะที่ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติประกอบกับมีการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้ผู้กู้ได้เงินสดกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น
ด้าน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูงเป็นประเด็นที่ธปท. แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องเพราะหนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเปราะบางและการขาดภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือนทำให้ในช่วงที่ผ่านมาครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ(income shock) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้แม้มาตรการที่ธปท. ออกในช่วงก่อนหน้า เช่นมาตรการ LTV จะส่งผลดีทำให้การก่อหนี้ในหมวดดังกล่าวชะลอลง แต่ยังคงต้องติดตามภาวะหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความสามารถในการรองรับincome shock ของภาคครัวเรือนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอลง
สำหรับกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ส.ค. ชะลอลงมาอยู่ที่ 0.52% นั้น จากรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมิถุนายน 2562 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 อยู่ที่ 1% อย่างไรก็ดีข้อมูลจริงในระยะหลัง (มิ.ย.-ส.ค.) ที่ออกมาต่ำกว่าคาดโดยเฉพาะในหมวดพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทำให้มีโอกาสที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม
จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 5/2562 กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จึงมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% (จาก1.75% เป็น1.50%) ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายอีกทั้งภายในทุกสิ้นปีกนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะหารือร่วมกันถึงเป้าหมายนโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประกาศใช้ในปีถัดไป