xs
xsm
sm
md
lg

Trade War หนุนอุตฯ ยานยนต์ สบช่องไทยส่งรถนั่งหรูไปจีนพุ่ง แม้ส่วนแบ่งตลาดน้อย แต่มีโอกาสโตมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากกรณีที่จีนกับสหรัฐฯ ทำสงครามการค้ารอบใหม่ตอบโต้กันด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า โดยรถยนต์เป็นสินค้าหนึ่งที่จีนประกาศจะปรับขึ้นภาษีร้อยละ 25 กับสหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของสหรัฐฯ ไปจีน แต่ในอีกทางหนึ่งกลับส่งผลดีต่อไทย ทำให้ค่ายรถหรูที่มีฐานการผลิตหลักสำหรับบางรุ่นในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะมาผลิตและส่งออกจากไทยไปจีนเร็วขึ้น โดยค่ายรถหรูมีโอกาสโยกการผลิตรถยนต์บางส่วนออกจากสหรัฐฯ มายังไทยเพื่อให้ส่งออกไปจีนแทน ซึ่งคาดว่าขั้นต่ำน่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันถึงมากกว่า 15,000 คัน หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมากกว่า 844 ล้านดอลลาร์ ทำให้การส่งออกรถยนต์นั่งจากไทยไปจีนสูงกว่าระดับในปี 2561 ที่ 226 ล้านดอลลาร์ ถึงกว่าร้อยละ 373 และแม้มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้นไปยังจีนของไทยดังกล่าวจะคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 2 แต่ก็มีโอกาสที่ในอนาคตจะเติบโตขึ้นได้อีกมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เมื่อ 23 สิงหาคม 2562 ทางการจีนได้ตัดสินใจประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าต่อสินค้ารวมมูลค่า 75,000 ล้านดอลลาร์ จากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการจากจีนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ รวมมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ โดยในรอบนี้จีนได้นำสินค้ารถยนต์กลับมาพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าอีกครั้งดังที่เคยตั้งไว้ที่ร้อยละ 25 ในช่วงระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2561 เพื่อตอบโต้การทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ รอบนั้น ซึ่งได้เคยทำให้มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของสหรัฐฯ ไปจีนซึ่งเป็นตลาดหลักอันดับ 2 ลดลงทันทีมาแล้วถึงกว่าร้อยละ 51 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และแม้ต่อมาจีนจะประกาศระงับการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจากับสหรัฐฯ อีกครั้ง ทว่า การทำสงครามการค้าก็ยังดำเนินต่อ จนสุดท้ายนำมาสู่การต่อสู้กันอีกระลอก ทำให้เกิดการตอบโต้ล่าสุดของจีน ด้วยการกลับมาขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 25 อีกครั้ง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562 และหากไม่มีการเจรจาทางการค้าที่นำมาสู่ทางออกที่ดีร่วมกันก็ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นภาษีรอบนี้ของจีนอาจนำมาสู่การปรับตัวของค่ายรถในสหรัฐฯ ที่มีตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกหลักขนานใหญ่ได้ โดยหากพิจารณาถึงการนำเข้ารถยนต์ของจีนในปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่า จีนมีการนำเข้าจากหลายประเทศรวม 1,108,443 คัน และแม้สหรัฐฯ จะไม่ใช่ตลาดใหญ่ในแง่ของปริมาณรถยนต์นำเข้าที่มีเพียง 164,032 คัน แต่หากคิดเป็นมูลค่าแล้วจีนนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่ากว่า 10,400 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ เนื่องจากรถยนต์ที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่แล้วเป็นรถยนต์หรูราคาแพง นำโดยรถยนต์จากค่าย BMW และ Mercedes-Benz ที่กินส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 75 ของรถยนต์สหรัฐฯ ที่ส่งออกไปจีนทั้งหมด โดยรุ่นรถยนต์ที่จีนนำเข้ามาจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะมีฐานการผลิตหลักแห่งเดียวในสหรัฐฯ เท่านั้น จึงมีโอกาสสูงที่ค่ายรถเหล่านี้จะพิจารณาโยกกำลังการผลิตบางส่วนออกจากสหรัฐฯ แล้วไปขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในประเทศอื่นแทนเพื่อลดผลกระทบจากภาษีของจีน และเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในระยะยาวด้วย

สำหรับไทย เมื่อสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาสู่จุดที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกรถยนต์นั่งหรูจากแหล่งผลิตหลักในสหรัฐฯ ไปยังตลาดจีนของค่ายรถไม่ว่าจะเป็น BMW หรือ Mercedes-Benz ทำให้ค่ายรถมีโอกาสเร่งผลักดันให้ไทยซึ่งมีโรงงานประกอบรถของค่ายอยู่แล้ว ให้กลายมาเป็นฐานศักยภาพใหม่สำหรับประกอบรถยนต์ส่งออกไปจีนทดแทนสหรัฐฯ เร็วขึ้นในอนาคต อาศัยปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อทดแทนสหรัฐฯ ฃฃอยู่หลายด้าน ได้แก่ สิทธิประโยชน์ภาษีนำเข้าร้อยละ 0 จาก FTA กับจีน ความได้เปรียบจากที่ตั้งของประเทศซึ่งอยู่ใกล้กับจีนมากกว่าทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกกว่า และการที่ไทยมีแรงงานฝีมือที่มีระดับค่าจ้างต่ำกว่าสหรัฐฯ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลให้ค่ายรถพิจารณาไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกใหม่แทนสหรัฐฯ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัญหาทางการค้าต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากมีการโยกกำลังการผลิตจากสหรัฐฯ บางส่วนมายังไทยสำหรับค่ายรถยนต์หรูที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้วเพื่อการส่งออกไปจีน น่าจะส่งผลทำให้ในอนาคตการส่งออกรถยนต์นั่งไปจีนของไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยกรณีขั้นต่ำที่เป็นไปได้คาดว่าอาจทำให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์นั่งจากไทยไปจีนเพิ่มขึ้นกว่าระดับปัจจุบันอย่างน้อย 15,000 คัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกมากกว่า 844 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์นั่งไปจีนของไทยเติบโตสูงขึ้นกว่ามูลค่าการส่งออกเพียง 226 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 ถึงกว่าร้อยละ 373 ดันให้จีนกลายมาเป็นตลาดส่งออกรถยนต์นั่งอันดับ 2 ของไทยในทันที จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับที่ 9 (กำลังการผลิตรถยนต์หรูทุกค่ายในไทยรวมกันหลังเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดตามที่ได้ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอไปแล้วนั้น น่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000 คัน/ปี)

อนึ่ง แม้มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งไปจีนที่เพิ่มขึ้นในแบบที่เป็นไปได้ตามศักยภาพปัจจุบันของไทยดังที่คาดการณ์แล้วนั้น จะยังคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่น้อยมากเพียงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของจีนที่สูงถึง 49,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยยังมีโอกาสอีกมากที่จะขยับขึ้นมามีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ในอนาคต หากค่ายรถยนต์หรูดังกล่าวตัดสินใจดึงกำลังการผลิตจากสหรัฐฯมายังไทยมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ในระยะยาว รวมถึงได้ประโยชน์จากการให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่นในภูมิภาคด้วย

สำหรับการส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยในปี 2562 นี้ แม้ว่าไทยจะมีโอกาสส่งออกไปตลาดจีนได้เพิ่มมากขึ้นในปีนี้จากปัจจัยบวกดังกล่าว แต่ก็ไม่อาจทำให้ภาพรวมทั้งปีนี้ของการส่งออกที่ต้องเผชิญต่อปัจจัยลบจากหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ขยับปรับขึ้นมาขยายตัวเป็นบวกได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมุมมองต่อภาพการส่งออกรถยนต์รวมของไทยทั้งปี 2562 ที่หดตัวร้อยละ 2.7 เช่นเดิม นอกจากนี้ การส่งออกรถยนต์นั่งหรูไปจีน ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจในประเทศของจีนที่มีความเสี่ยงสูงด้วย จากปัญหาสงครามการค้าที่จีนได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งหากในระยะถัดไปเศรษฐกิจจีนชะลอลงมากก็อาจจะกระทบต่อความต้องการซื้อระถยนต์นั่งหรูที่ส่งออกจากไทยได้เช่นกัน

โดยสรุป จากการทำสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งนำมาสู่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ผลิตจากสหรัฐฯ ของจีนรอบใหม่นี้ น่าจะส่งผลให้ค่ายรถยนต์หรู เช่น BMW และ Mercedes-Benz เร่งการลงทุนผลิตรถยนต์ในไทยเพื่อส่งออกไปจีนเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ น่าจะมีแนวทางที่จะเข้าสู่การเจรจาร่วมกันอีก อันอาจนำมาสู่การผ่อนปรนเรื่องการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของจีนได้ใหม่อีกครั้งดังเช่นที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ทำให้ค่ายรถอาจจะยังคงรักษาที่มั่นฐานการผลิตใหญ่ในสหรัฐฯ เอาไว้เพื่อรักษา Economies of Scale และไทยจะเป็นฐานการผลิตอีกแห่งหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว

อย่างไรก็ดี จากการที่ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังอีกหลายตลาดสำคัญของค่ายรถหรูรุ่นดังกล่าวทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตะวันออกกลาง เป็นต้น เนื่องจากมีที่ตั้งใกล้กับตลาดมากกว่าสหรัฐฯ มาก อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาวสอดคล้องต่อแผนพัฒนายานยนต์สำหรับอนาคตของค่ายรถยนต์หรูต่างๆด้วย ทำให้มีโอกาสที่ค่ายรถจะมองไทยให้เป็นฐานการผลิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคตข้างหน้าได้ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์หรูจากไทยไปจีนยกระดับสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น