xs
xsm
sm
md
lg

โบรกเกอร์สู้กันจนตาย / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์หลายแห่งกำลังวางแผน รัดเข็มขัด ควบคุมต้นทุน ลดรายจ่ายกันอย่างเต็มที่ เพื่อความอยู่รอด เพราะแบกภาระขาดทุนต่อไปไม่ไหว

ถ้าพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายหุ้นแต่ละวัน ยังไม่รวมมูลค่าการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX บริษัทโบรกเกอร์ส่วนใหญ่น่าจะมีผลกำไรที่ดี เพราะมูลค่าซื้อขายยืนอยู่ระดับ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อวัน

แต่โดยข้อเท็จจริง โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ขาดทุน มีเพียงโบรกเกอร์ใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ผลประกอบการกำไร มีเพียงโบรกเกอร์ในเครือธนาคารเท่านั้นที่พออยู่ได้ 

ขณะที่โบรกเกอร์เล็กๆ แม้จะเป็นโบรกเกอร์ลูกครึ่ง โดยมีต่างชาติถือหุ้นก็ตาม ทุกวันนี้ ตกอยู่ในสภาพรอวันตาย

ต้นทุนบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์สูงมาก โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง ระดับกรรมการผู้จัดการบริษัทโบรกเกอร์เงินเดือนอยู่ระหว่าง 5 แสนถึง 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์เล็กหรือโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 7 แสนบาท จากจำนวนโบรกเกอร์ทั้งหมด 38 แห่ง

เงินเดือนผู้บริหารแพงไม่ใช่เป็นประเด็นปัญหา ถ้าสามารถสร้างรายได้คุ้มค่าตัว ซึ่งในอดีตอาจทำกันได้ มีผลงานคุ้มเงินเดือน เพราะอัตราค่านายหน้าซื้อขายหุ้น หรือค่าคอมมิชชันสูง แต่ปัจจุบันการแข่งขันรุนแรงขึ้น มีการตัดราคาค่านายหน้าเพื่อช่วงชิงลูกค้า ทำให้อัตราค่านายหน้าต่ำมาก และทำให้ผู้บริหารโบรกเกอร์บางแห่งกินเงินเดือนไม่คุ้มผลงาน

โบรกเกอร์บางแห่ง ยอดมูลค่าการซื้อขายสูงมาก จนขยับขึ้นมาเป็นโบรกเกอร์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดติด 10 อันดับแรก แต่รายได้จากค่านายหน้ากลับน้อยมาก เพราะคิดอัตราค่านายหน้าต่ำติดดิน จนโบรกเกอร์อื่นแทบไม่กล้าลงมาแข่งด้วย

อัตราค่านายหน้าซื้อขายหุ้นในอดีต กำหนดอัตราขั้นต่ำ 0.5% ซึ่งมูลค่าซื้อขายหุ้นทั้งตลาดวันละไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่โบรกเกอร์ที่ประมาณ 30 แห่งในอดีต สามารถอยู่กันได้ และมีโบนัสงามๆ แจกพนักงานอีกด้วย

ต่อมา ได้มีการปรับอัตราเพดานค่านายหน้าขั้นต่ำลงเหลือ 0.25% และแม้จะมีการลักลอบลดค่านายหน้า มีการเปิดสงครามชิงตัวมาร์เกตติ้ง แต่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ก็พออยู่กันได้

ปัจจุบัน อัตราค่าค่านายหน้าเปิดสู่การแข่งขันโดยเสรี ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นต่ำ ทำให้เกิดสงครามการแข่งขันเต็มรูปแบบ จนมีข้อเสนออัตราค่านายหน้าเหมือนจะให้เปล่า เพราะคิดเพียง 0.01% หรือมูลค่าซื้อขายหุ้น 1 ล้านบาท จะเสียค่านายหน้าเพียง 100 บาทเท่านั้น สำหรับการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์

มูลค่าการซื้อขายของโบรกเกอร์บางแห่ง ประมาณ 70% เกิดขึ้นจากการซื้อขายผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยคิดอัตราค่านายหน้าเพียง 0.01%

อัตราค่านายหน้า 0.01% หรือมูลค่าซื้อขายหุ้น 1 ล้านบาท เสียค่านายหน้า 100 บาทนั้น ยังต้องหักค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์อัตรา 0.005% หักค่าธรรมเนียมศูนย์รับฝาก 0.001% หักค่าธรรมเนียมนำส่ง ก.ล.ต.อีก 0.001%

รายได้ค่าธรรมเนียม 100 บาท ถูกหักไปแล้ว 70 บาท ที่เหลือ 30 บาท ยังต้องแบ่งค่าตอบแทนให้มาร์เกตติ้งอีก 60% หรืออีก 18 บาท เหลือรายได้ค่านายหน้าเข้าบริษัทเพียง 12 บาท

แม้จะทำมูลค่าซื้อขายหุ้นได้วันละ 10,000 ล้านบาท แต่จะมีรายได้ค่านายหน้าเข้าบริษัทเพียง 120,000 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสื่อสารโทรคมนาคม

โบรกเกอร์ที่มูลค่าซื้อขายหุ้นโตจนติดอันดับโบรกเกอร์ที่มียอดซื้อขายหุ้นสูงสุดอันดับต้นๆ แต่เจาะไปดูผลประกอบการ กลับขาดทุนอย่างหนัก จนผู้บริหารบริษัทถูกกดดันให้ต้องลดค่าใช้จ่าย และเตรียมปลดพนักงานออก

ไม่มีใครหยุดยั้งสงครามการแข่งขันตัดค่านายหน้าซื้อขายหุ้นได้ ดังนั้น แทบทุกโบรกเกอร์จึงต้องเผชิญผลกระทบ เพียงแต่จะปรับตัวรับมือกันอย่างไร เพื่อความอยู่รอด

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เพิ่งประกาศคณะกรรมการบริษัทตกลงใจร่วมกันลดเงินเดือน ลดค่าพาหนะนำร่อง และขอความร่วมมือไปยังพนักงานระดับบริหาร เสียสละลดเงินเดือนและค่าพาหนะตามความสมัครใจ เพื่อประคับประคององค์กร

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ "การบินไทย" อาจเกิดขึ้นกับบริษัทโบรกเกอร์ เพราะทุกแห่งควบคุมต้นทุนแล้ว และบางแห่งเริ่มปลดพนักงานออก

มูลค่าซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ กำลังขยับขึ้นเทียบเคียงกับตลาดหุ้นสำคัญในย่านเอเชีย แต่การแข่งขันตัดราคาค่านายหน้า ฟาดฟันกันเอง กำลังนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของบริษัทโบรกเกอร์ไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น