ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวแปรที่จะต้องติดตามสำหรับการดำเนินนโยบายของไทยในระยะข้างหน้า น่าจะอยู่ที่ 2 องค์ประกอบสำคัญ คือความรวดเร็วของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน ซึ่งจะรวมถึงขนาดของการปรับลดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ ตลอดจนการตอบสนองของระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ต่อการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ และความไม่แน่นอนของปัจจัยลบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในสภาวะไม่ปกติในระยะข้างหน้า เช่น ความตึงเครียดของสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงสถานการณ์ภายในประเทศ โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
จากถ้อยแถลงหลังการประชุมของ กนง. ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กนง. ให้น้ำหนักของการตัดสินใจการดำเนินนโยบายการเงินไปที่ปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ในช่วงข้างหน้า ตลาดเงินตลาดทุนคงรอติดตามว่า กนง. จะประเมินปัจจัยลบและผลต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างไร และสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เพราะมุมมองดังกล่าวจะมีผลต่อการคาดการณ์ของตลาดต่อการกำหนดจุดยืน ท่าทีของนโยบายการเงินในช่วงต่อไปด้วยเช่นกัน
ขณะที่ผลสำรวจจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือน ก.ค.2562 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 43.1 ในเดือน มิ.ย.2562 มาอยู่ที่ระดับ 41.5 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 66 เดือน จากความกังวลในทุกมิติเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ค่าใช้จ่าย รวมถึงภาระหนี้สินของครัวเรือน ส่วนดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือน ก.ค.2562 ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกันกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในปัจจุบัน มาอยู่ที่ระดับ 43.9 จากเดิมที่ระดับ 44.9 ในการสำรวจช่วงเดือน มิ.ย.2562 ซึ่งมาจากความกังวลของครัวเรือนต่อภาระหนี้สินในอนาคตเป็นสำคัญ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 จะเผชิญโจทย์ที่ท้าทายและยากลำบากมากขึ้นหลังผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยตามภาวะเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ส่งผลไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างภาคการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศ ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมยังต้องติดตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดหลังเก็บเกี่ยวในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 3/2562 โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากสภาวะฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำช่วงฤดูเพาะปลูก อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่คาดว่าจะเปิดเผยออกมาเร็วๆ นี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ อาจเพิ่มจีดีพีไทยไม่ถึงตามที่ภาครัฐคาดไว้ร้อยละ 0.5-0.6 เพราะส่วนใหญ่เป็นในด้านสินเชื่อเกือบทั้งหมด และต้องดูวิธีปฏิบัติของมาตรการแจกเงินเพื่อท่องเที่ยวว่ายุ่งยากแค่ไหน ส่วนที่จะกระตุ้นได้คือ การเติมเงินสวัสดิการให้คนจน เพราะจะช่วยเรื่องการใช้จ่ายกระตุ้นการบริโภค โดย ธปท. จะปรับประมาณการใหม่ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะนำมาตรการดังกล่าวเข้าพิจารณาด้วย