บอร์ด กนง. ทำเซอร์ไพร้สปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาด ขณะหลายฝ่ายยังไม่คลายกังวล สำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหลังจากที่สภาพัฒนฯได้ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ที่ต่ำกว่าคาด นำไปสู่คำถามต่าไปว่า "กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหรือไม่ในปีนี้"
หลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) หรือ บอร์ด กนง. ได้ประกาศปรับลดดดอกเบี้ย นโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี ซึ่งให้เหตุผลว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ เพื่อให้ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีเวลาปรับตัวเพื่อรับมือกับวัฏจักรเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง ทั้งการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนและการปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐอาจช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่ายและความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 อันจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง และช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากขึ้นในอนาคต หากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากกว่าที่คาดตามสภาวะเศรษฐกิจโลก
โดยกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นในการประสานเชิงนโยบายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคารทหารไทย(TMB)เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือ 2.7% จากเดิมมองที่ 3.0% จากปัจจัยภายนอกสงครามการค้าถึงทางตัน จึงยากที่จะเห็นส่งออกกลับมาในปีนี้ ลุ้นปีหน้าเศรษฐกิจกลับมาโตได้ 3% แต่ในปีนี้คาดว่าจะหดตัว 2.7% ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติคาดการณ์พลาดเป้าขยายตัวแค่ 2%ปัจจัยลบยังคงเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก
ส่วนการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มชะลอกว่าคาด เหตุรองบประมาณปี 63 การเบิกจ่ายงบลงทุนมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้า จากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณปี 63 ซึ่งจะทำให้เริ่มเห็นเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในปีหน้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทั้งปีคาดโตได้ 1.8% โดยปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอ กดดันความต้องการขยายการลงทุน สะท้อนจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่อยู่ระดับต่ำกว่า 50 เป็นไตรมาสแรกในรอบเกือบสามปี แต่ คาดว่าแนวโน้มการลงทุนเอกชนจะเริ่มปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสี่เป็นต้นไปจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาล ทั้งนโยบายภาษีและการช่วยเหลือ SME ผ่านมาตรการสินเชื่อ
ดังนั้น การบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยทั้งปีคาดขยายตัวได้ 3.8% จากแรงหนุนเพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มต้นปลายไตรมาส 3 แต่ในช่วงที่เหลือ ปัจจัยกดดันการบริโภคประกอบด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สถานการณ์ภัยแล้ง และปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งในช่วงต่อไปจะมีข้อจำกัดของการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อย จากแนวโน้มการนำมาตรการควบคุมภาระหนี้สินต่อรายได้ (DSR) มาใช้
นอกจากนี้ คาด ธปท. ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 4 ทำให้อยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ และอาจลดได้อีก 1 ครั้ง ถ้าเศรษฐกิจแย่กว่าคาด และเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จากการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 1.50% และค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มแข็งค่าแตะ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่า 6% ด้วยเหตุผลหลักที่นักลงทุนยังมองเงินบาทเป็นสินทรัพย์เสี่ยงน้อย
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักวิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย (KTB)กล่าวว่า ปีนี้เป็นขาลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเศรษฐกิจไทยเองก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่หดตัวจากสงครามการค้า ปัจจัยภายในประเทศที่การจัดตั้งรัฐบาลที่เพิ่งเสร็จสิ้น แล้วก็ยังมีส่วนที่เหนือคาดการณ์เข้ามา เรียกได้ว่าสิ่งที่ถือว่าแย่กว่ากว่าที่คิดกันเอาไว้ก็เกิดขึ้นแล้ว ทำให้แบงก์ชาติของทุกๆที่มองว่าจะต้องทำอะไรเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของตนเอง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้มีช่องในการใช้นโยบายการเงิน ทำให้ธนาคารกลางหลายๆประเทศมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงกันหลายประเทศ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
"แต่คำถามที่เกิดขึ้นจากนี้ คือในช่วงที่เหลือของปีดอกเบี้ยนโยบายจะลงอีกหรือไม่ ซึ่งผมว่าก็มีโอกาส เพราะแม้ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% จะเป็นจุดต่ำสุด แต่การลดอีกครั้งก็ไม่ได้ทะลุจุดต่ำสุดนั้น ก็ทำให้ยังมีช่องที่จะลดได้อีกครั้งในปีนี้ หากเศรษฐกิจมีสัญญาณชัดที่จะเติบโตได้ต่ำกว่า 3% แต่ในขณะนี้ทางธนาคารคาดการณ์ที่ระดับ 3.1%และมองว่ายังมี Down Side อยู่ ขณะเดียวกันก็ยังคาดการณ์ว่ามาตรการพยุงรัฐบาลน่าจะออกมาจะทำให้จีดีพีไตรมาส 4 สูงที่สุดในรอบปีนี้ ขณะที่เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าโดยประเมินที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในสิ้นปีนี้ ขณะที่ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากนักลงทุนที่ออกมาจากน้ำมัน หรือสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆมาหาทองคำ หรือพันธบัตรในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น"
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(EIC SCB)ประเมินกนง.อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้ง (25 bps)ในปีนี้ จากปัจจัยกรณีความเสี่ยงและผลกระทบของสงครามการค้ามีเพิ่มสูงและความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยอีไอซีประเมินว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก ท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนมีสูงขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงของสงครามการค้าที่สูงขึ้นน่าจะทำให้ธนาคารกลางของทั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้แรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทยังมีอยู่ต่อไป
ขณะที่แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐอาจไม่มากและเร็วพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้า จากการรายงานของสื่อในประเทศ อีไอซีคาดว่ารัฐบาลน่าจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่จำกัด (ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทจากการประเมินของอีไอซี) บวกกับ การเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าคาด แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้าต่อภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน และภาวะการเงินไทยอาจยังไม่ผ่อนคลายเพียงพอ อีไอซีมองว่า แม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะมีการปรับลดลงค่อนข้างมาก แต่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง สะท้อนจาก ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่ปรับแข็งค่าขึ้นมาถึง 5.5% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย อีกทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV measure) ที่ประกาศใช้ไปแล้วยังทำให้การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจึงอาจมีความจำเป็น
ด้านนายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวว่า TISCO ESU มองว่าในการประชุมกนง.ครั้งต่อไปจะไม่เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงติดกันต่อเนื่อง โดยให้น้ำหนักในกรณีฐานว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ไปจนสิ้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มเศรษฐกิจอ่อนแอลงไปมากจากพัฒนาการเศรษฐกิจต่างๆ เช่น หากสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น เป็นต้น ประกอบกับการจะประกาศบังคับใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อบุคคล (เกณฑ์สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR) ที่เข้มงวดมากขึ้นในการกำกับดูแลความเสี่ยงเฉพาะจุดในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน จะช่วยเปิดช่องให้ กนง. ผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้หากมีความจำเป็น
ล่าสุดนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตแค่เซนิดหน่อย สาเหตุหลักมาจากการส่งออกสินค้าลดลง 4.2% ซึ่งตัวเลขส่งออกสินค้าที่ลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวต่ำลงเหลือเพียง 2.2% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.4% ส่วนเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าถึง 22.8% และตัวเลขการบริโภคของรัฐขยายตัวเพียง 1.1% เนื่องจากอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย 19.7%
ขณะภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนจาก 4.9% ในไตรมาสก่อนเหลือเพียง 3.7% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 8.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียง 1.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน
ส่วนด้านการผลิตทั้งสาขาเกษตรกรรมและสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงทั้งหมด เหตุมาจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ในส่วนของภาคผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 0.2% ผลผลิตที่สำคัญลดลง ได้แก่ ยาง น้ำตาล เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลจากสงครามทางการค้า
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 จะขยายตัวในระดับ 2.3% แต่ คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 2.7-3.2% คาดว่าค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.0% เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัว การใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอยู่ระดับ 1.5 และเชื่อว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างเช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ "ชิม ช็อป ใช้" หนุนฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว เปิดการต่ออายุวีซ่า On Arrival นักท่องเที่ยวจนถึงเมษายน 2563 หนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งปีหลังไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน รวมทั้งการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง