xs
xsm
sm
md
lg

PPPM เบี้ยวหนี้ ซ้ำรอย IFEC - EARTH

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หากจะกล่าวถึงการดำเนินธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงาน และการชำระคืนหนี้เงินกู้ได้ตามกำหนด ถือว่าบริษัทนั้นๆ มีสภาพคล่องในการดำเนินงาน แต่อาจไม่เสมอไป หากยังมีเงื่อนงำในที่ไปที่มาของเงินตราหรือไม่โปร่งใส หลายบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. พบว่ามีปัญหาขาดสภาพคล่อง และท้ายที่สุดนั้น บางบริษัทแก้ไขคืนหนี้ได้ทันการณ์ ขณะที่ก็มีบางบริษัทที่มิอาจดำเนินการชำระคืนหนี้ได้ในเวลาที่กำหนด เกิดเป็นปัญหายืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน เหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียวของการมีปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจนี่เอง ที่ส่งผลกระทบให้บริษัทด้านธุรกิจพลังงาน 2 แห่ง คือ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH และ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC ต้องถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อขายหุ้นอย่างไม่น่าแปลกใจนัก

ประเด็นหลักของ EARTH ที่กลายเป็นปัญหาลุกลามจนตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศสั่งขึ้นเครื่องหมาย SP หรือ Suspension ซึ่งนั่นหมายถึง ห้ามการซื้อขายหุ้น อันเป็นผลจากการที่บริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด เริ่มมาจากการที่ EARTH ได้ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน B/E เมื่อกลางปี 2559 และทยอยผิดนัดเรื่อยมาจนถึงต้นเดือน พ.ย. 2560 ซึ่งมียอดรวมในการผิดนัดชำระหนี้เป็นเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท จากปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินกว่า 47,000 ล้านบาท จนส่งผลให้คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้บริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย

ขณะที่ต่อมา EARTH ได้ทำการ “ยื่นฟ้องธนาคารธนชาต” ซึ่ง EARTH อ้างว่าเนื่องจากทำให้บริษัทได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท เพราะธนชาตได้มีการเปิดเผยข้อมูลความลับลูกค้าให้ธนาคารกรุงไทยทราบ จนเป็นเหตุทำให้ EARTH ถูกตัดวงเงินสินเชื่อ โดยที่ในขณะนั้น EARTH มีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารธนชาตจำนวน 800 ล้านบาท และได้เตรียมที่จะโอนเงินไปยัง ฉินหวงเต่า ซึ่งเป็นธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศจีน และต่อมาทำให้บริษัทถูกอายัดบัญชีตามคำสั่งของศาล จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางธนาคารกรุงไทยในฐานะที่เป็นผู้ให้สินเชื่อเงินกู้ของ EARTH ก็ได้มีการติดต่อเพื่อขอดูเอกสารสัญญาเหมืองถ่านหิน แต่ EARTH ไม่สามารถนำส่งเอกสารชี้แจงต่อธนาคารกรุงไทยได้ ทำให้คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยที่อนุมัติสินเชื่อได้มีการตัดวงเงินสินเชื่อทันที โดยระบุว่าเป็นการขอกู้โดยผิดวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน แต่ต่อมาหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน EARTH ก็ได้ออกแถลงข่าวว่าได้มีการถอนฟ้องธนาคารธนชาต หลังจากได้ทำความเข้าใจกับธนาคารเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญจนมีการโละทิ้งบอร์ดบริหาร EARTH คือ “ปริศนาหนี้ 26,000 ล้านบาท” ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นหนี้เทียม เพราะหากพิจารณาจากจำนวนมูลหนี้ที่มีอยู่กลับพบว่า EARTH เป็นลูกหนี้ของธนาคารกรุงไทยจำนวน 10,000 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทยประมาณ 2,500-2,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 1,800 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยประมาณ 340-350 ล้านบาท รวมกันแล้วไม่ถึง 15,000 ล้านบาท

ขณะที่เจ้าหนี้ทางการค้าฟ้องร้องหนี้ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงมากถึง 26,000 ล้านบาท จนทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ตั้งข้อสงสัยต่อจำนวนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นสูงผิดปกติถึง 1.21 เท่า อีกทั้งสถานะของหนี้สินที่ปรากฏนั้นคลุมเครือไม่มีความชัดเจน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนและสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นได้ จึงได้เรียก EARTH เข้าชี้แจงและตรวจสอบข้อเท็จจริง

ท้ายที่สุด หลังจากทำการตรวจสอบจนพบปมทุจริต และหลักฐานเท็จของมูลหนี้ 26,000 ล้านบาทแล้ว ก.ล.ต.ได้ทำการกล่าวโทษผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งควบตำแหน่งกรรมการและอดีตกรรมการ EARTH รวมกว่า 11 ราย โดยเฉพาะคนตระกูล “พิหเคนทร์” ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI

อย่างไรก็ตาม จากรายงานการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ Special Audit ที่ ก.ล.ต.ได้เข้าทำการตรวจสอบกลับพบว่ามูลหนี้ดังกล่าวไม่สามารถบันทึกเป็นหนี้สินในงบการเงินตามมาตรฐานทางบัญชีได้ อีกทั้งที่ปรึกษากฎหมายยังให้ความเห็นว่าหนี้สินส่วนที่เป็นค่าเสียหายพิเศษ ในสัญญากำหนดว่าคู่สัญญาคือ EARTH ไม่ต้องรับผิดชอบจำนวนเงินดังกล่าว ซึ่งนี่ถือเป็นข้อผิดพลาดของ EARTH ที่ไม่ได้ตรวจสอบมูลหนี้ดังกล่าวโดยละเอียด แต่กลับนำมูลหนี้ทั้งจำนวนไปรวมเป็นหนี้สิน และยื่นขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในเวลาต่อมา

หากพิจารณาจำนวนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมาถึง 2.6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของ EARTH ลดลงจาก 10,349 ล้านบาท เป็นติดลบ 15,651 ล้านบาท และสูญเสียสมดุล คือ สภาวะหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ถือเป็นช่องโหว่เปิดทางให้บอร์ดบริษัทอนุมัติให้ EARTH เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อเดือน ก.ค. 60 ทันที

อย่างไรก็ดี EARTH ยังต้องทำหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง และล่าสุด EARTH ได้ขอขยายการนำส่งงบการเงิน ไตรมาส 3 ปี 2560 และงบการเงินสำหรับปี 2560 ที่ก่อนหน้าคาดว่าจะส่งได้ภายในเดือนกรกฎาคม 62 นั้นก็ล่วงเลยมา และ EARTH ให้เหตุผลว่าบริษัทอยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาข้อมูลในงบการเงิน เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนอย่างสูงในด้านกฎหมาย โดยบริษัทจะนำส่งงบการเงินเมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาแล้ว

ในส่วนของชนวนการล่มสลายของ IFEC เริ่มจากกลางปี 2558 “วิชัย ถาวรวัฒนยงค์” อดีตประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC และ สิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารและกรรมการบริษัทเดียวกันนี้ ได้ร่วมกันอนุมัติทุ่มงบลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาทโดยผ่าน บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จำกัด หรือ ICAP ซึ่งเป็นบริษัทลูก เข้าซื้อกิจการโรงแรมดาราเทวี ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งเป็นการซื้อโรงแรมจำนวน 1.5 พันล้าน และส่วนที่เป็นหนี้ของโรงแรมอีกกว่า 1 พันล้านบาท

หลังจากที่ IFEC ได้เข้าซื้อกิจการของโรงแรมดาราเทวีได้ไม่นาน ปัญหาภายในของ IFEC ก็ตามมา จากกรณีพิพาทกันระหว่าง 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ IFEC คือ วิชัย และสิทธิชัย จนแข่งกันเทขายทิ้งหุ้น IFEC ในท้ายที่สุดเหลือหุ้นน้อยกว่า 5% (ณ ปัจจุบัน 9 สิงหาคม 2562 ไม่ปรากฏชื่อของวิชัย และสิทธิชัย ในรายชื่อผูู้ถือหุ้นใหญ่อีกแล้ว) และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลต่อราคาหุ้นของ IFEC และผลประกอบการที่ปรับตัวลดลงไปพร้อมๆ กันอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2559 IFEC มีผลประกอบการขาดทุนมากถึงกว่า 1,800 ล้านบาท และจากปัญหาผลประกอบการติดลบที่เกิดขึ้นทำให้กระทบต่อปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก โดยผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้การรับรองงบดุลได้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นประกาศแขวนป้าย SP หุ้น IFEC ห้ามทำการซื้อขายชั่วคราว

อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปี 2560 IFEC ถูกฟ้องร้องจากกรณีเบี้ยวหนี้หุ้นกู้ค่าตั๋ว B/E จำนวน 2 งวด โดยแบ่งเป็น งวดที่ 1 จำนวน 200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 60 และงวดที่ 2 จำนวน 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 60 รวมกัน 2 งวด เท่ากับ IFEC ผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E รวมเป็นเงินจำนวนกว่า 300 ล้านบาท ขณะที่ “วิชัย” เองก็ได้ฝ่าฝืนกฎจากการได้ประโยชน์เนื่องจากการถือหุ้น IFEC เป็นหลักประกันบัญชีซื้อขายหุ้นประเภทมาร์จิ้น จำนวนรวมกว่า 57.46 ล้านหุ้น ไม่ถูกบังคับขาย ส่งผลให้วิชัยยังคงสภาพการเป็นผู้ถือหุ้นของ IFEC และสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการเพื่อประโยชน์ต่อตนเองในการประชุมผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ครั้งในปี 2560 ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษวิชัยต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

หลังจากที่ IFEC ต้องเจอกับมรสุมด้านผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างหลัก และปัญหาด้านการบริหารกิจการภายในซึ่งมีการฟ้องร้องศาลระหว่างอดีตผู้บริหาร คือ วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ และผู้ถือหุ้นใหญ่คนปัจจุบัน คือ ทวิช เตชะนาวากุล ทำให้บริษัทอยู่ในสภาวะสุญญากาศ ขาดบังเหียนไม่สามารถดำเนินธุรกิจไปต่อได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ประกาศให้ IFEC เป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ.ที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้น

ล่าสุด วันที่ 15 พ.ค. 2562 ศาลอาญาตัดสินลงโทษจำคุก “วิชัย ถาวรวัฒนยงค์” รวมทั้งหมด 4 ปี จากคดีหมิ่นประมาทโกลบอลวัน โดยการโฆษณาจำนวน 2 ปี และคดีเก่าฐานฟ้องเท็จอีก 2 ปี

อย่างไรก็ดี ในส่วนของ IFEC ยุคปัจจุบัน ทีมบริหารใหม่ได้แบ่งป็น 2 ชุด คือ ทีมแก้ไขปัญหา และทีมวางแผนพัฒนาธุรกิจ โดยในส่วนของการพัฒนาธุรกิจที่ตนดูแลอยู่นั้น ทางทีมงานผู้บริหารชุดใหม่ได้วางแนวทางที่จะพัฒนาธุรกิจด้านพลังงาน และมุ่งขยายสู่การดำเนินงานด้านระบบสาธารณูปโภค ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน พร้อมเน้นบทบาทเป็นผู้พัฒนาโครงการตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง อีกทั้งจะลุยธุรกิจพลังงานทางเลือก เพราะมีการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและรัฐ ขณะเดียวกัน การใช้เงินทุนจะมีขั้นตอนชัดเจน อันจะเป็นการเพิ่มความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ สูงสุดแก่บริษัทและผู้ถือหุ้นโดยทั่วไป
ขจรพงศ์ คำดี อดีตประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด หรือ EARTH (ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 4 ของ EARTH
วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC


กำลังโหลดความคิดเห็น