xs
xsm
sm
md
lg

“โทรีเซนไทย” เผยงบ Q2/62 กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือเด่น EBITDA พุ่งกว่า 212.9 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA
"โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์" รายงานรายได้รวมในไตรมาสที่ 2/2562 อยู่ที่ 3,680.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง และกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ร้อยละ 21 และร้อยละ 24 ของรายได้รวม ตามลำดับ ส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 672.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน และ EBITDA เป็นบวกอยู่ที่ 212.9 ล้านบาท โดยสรุป TTA รายงานผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปกติส่วนที่เป็นของ TTA ก่อนผลกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 91.7 ล้านบาท และผลขาดทุนสุทธิจำนวน 174.3 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2562

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA กล่าวว่า จากผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/2562 กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือทำผลกำไรเป็นที่น่าพอใจต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ปี 2560 โดยมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) สูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรกลับมามีกำไรจากขาดทุนในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลและจากกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุก กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง

ขณะที่รายงานผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ลดลง เนื่องจากจำนวนวันทำงานของเรือและอัตราการใช้ประโยชน์เรือที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นส่งผลให้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสที่ 2/2562 ซึ่งส่วนใหญ่ถูกพิจารณาว่ายังไม่เกิดขึ้นจริง (unrealized) เมื่อเทียบกับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสที่ 2/2561 โดยสรุป ในไตรมาสที่ 2/2562 TTA รายงานผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปกติส่วนที่เป็นของ TTA ก่อนผลกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 91.7 ล้านบาท และผลขาดทุนสุทธิจำนวน 174.3 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไตรมาส 3/2562 คาดว่าดัชนีบอลติค (BDI) มีแนวโน้มเป็นบวกต่อเนื่อง จากการกลับมาดำเนินงานอีกครั้งของเหมืองแร่ Vale ในประเทศบราซิล ซึ่งถูกปิดหลังจากเหตุการณ์เขื่อนกักเก็บหางแร่ถล่มในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งนั้น เมอร์เมด มาริไทม์ ยังมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบอีก 73 ล้านเหรียญสหรัฐ และล่าสุดได้ทำสัญญาให้บริการแก่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแถบตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ส่วนกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร จะมุ่งเน้นเพิ่มรายได้ในตลาดส่งออกต่อไป ทางด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จะยังคงดำเนินการขยายสาขา พิซซ่า ฮัท และ ทาโก้ เบลล์ และเน้นสร้างกำไรให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้


ทั้งนี้ หากแยกผลการดำเนินงานตามกลุ่มธุรกิจพบว่า

กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ : ในไตรมาสที่ 2/2562 รายได้ค่าระวางเรือของกลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 1,462.9 ล้านบาท เป็นผลจากจำนวนวันให้บริการของเรือที่เช่ามาเพิ่ม (chartered-in vessel) ที่เพิ่มขึ้น ส่วน EBITDA อยู่ที่ 245.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA อยู่ที่ 85.5 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2562 อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) อยู่ที่ 9,385 เหรียญสหรัฐต่อวัน สูงกว่าอัตราตลาดของค่าระวางเรือสุทธิของเรือซุปปราแมกซ์ ที่อยู่ที่ 8,061 เหรียญสหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 16 อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าประกอบด้วยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสำหรับเรือที่กลุ่มธุรกิจเป็นเจ้าของที่ 8,777 เหรียญสหรัฐต่อวัน และกำไรจากเรือที่เช่ามาเพิ่ม (chartered-in vessel) ที่ 609 เหรียญสหรัฐต่อวัน อัตราค่าระวางเรือสูงสุดอยู่ที่ 16,620 เหรียญสหรัฐต่อวัน อัตราการใช้ประโยชน์เรือที่กลุ่มธุรกิจเป็นเจ้าของยังคงอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 100 และค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ (OPEX) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 3,781 เหรียญสหรัฐต่อวัน โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2562 กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือเป็นเจ้าของเรือ จำนวน 21 ลำ มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,285 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 12.21 ปี ทั้งนี้ ไม่มีการซื้อหรือขายเรือในไตรมาสที่ 2/2562

กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง : ในไตรมาสที่ 2/2562 รายได้ของ เมอร์เมด มาริไทม์ อยู่ที่ 784.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราการใช้ประโยชน์เรือประเภท performing vessel ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70 ในไตรมาสที่ 2/2561 และร้อยละ 60 ในไตรมาสที่ 1/2562 เป็นร้อยละ 94 ในไตรมาสที่ 2/2562 จากประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าอู่เย็น (cold-stacking) ของเรือหนึ่งลำ ซึ่งกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 3.1 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2561 เป็น 79.8 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2562 ในทำนองเดียวกัน อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.5 ใน ไตรมาสที่ 2/2561 เป็นร้อยละ 10 ในไตรมาสที่ 2/2562 และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้ายังคงที่จากไตรมาสที่แล้ว อยู่ที่ 38.0 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจขุดเจาะซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัทร่วมแห่งหนึ่ง เรือขุดเจาะประเภท jack-up drilling rigs สเปคสูง จำนวน 3 ลำ มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในตะวันออกกลาง โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือเฉลี่ยสูงถึงเกือบร้อยละ 100 สัญญาสำหรับเรือขุดเจาะนี้มีการขยายอายุสัญญา จำนวน 1 สัญญาออกไปอีก 3 ปี จนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2565 กับลูกค้ารายเดิม ส่วนอีก 2 สัญญาจะหมดอายุในเดือนตุลาคมและธันวาคม ปี 2562 นี้ โดยสัญญาทั้งสองมีโอกาสได้รับการต่อสัญญาออกไปอีก 3 ปี จนถึงปี 2565 โดยสรุป ผลขาดทุนสุทธิของ เมอร์เมด มาริไทม์ ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 107.7 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2562

ขณะที่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร : บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 858.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 58 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น รายได้จากธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรอื่นยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 60.8 ล้านบาท โดยปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมดในไตรมาสที่ 2/2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 56.7 พันตัน จากปริมาณการขายปุ๋ยเชิงเดี่ยวและปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากตลาดแถบแอฟริกา ปริมาณขายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเช่นกัน ตามการเติบโตของฤดูกาลและจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ประสบผลสำเร็จ

ทั้งนี้ ปริมาณขายปุ๋ยภายในประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 68 ของปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 38.5 พันตัน ส่วนปริมาณการส่งออกปุ๋ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 18.3 พันตัน ซึ่งนอกจากธุรกิจปุ๋ยเคมีแล้ว กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรยังมีบริการให้เช่าพื้นที่โรงงาน ซึ่งมีรายได้เท่ากับ 18.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 ในไตรมาสที่ 2/2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากพื้นที่บางส่วนถูกนำมาใช้ภายใน ส่วนพื้นที่ส่วนที่เหลือปล่อยให้เช่าเต็มทั้งหมด

โดยสรุป PMTA มี EBITDA อยู่ที่ 36.5 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 5.1 ล้านบาท และกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 3.5 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2562

ด้านกลุ่มการลงทุนอื่น : กลุ่มการลงทุนอื่นมุ่งเน้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การบริหารทรัพยากรน้ำ และธุรกิจโลจิสติกส์

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม : 1. บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด (“PHC”) โดย TTA ถือหุ้นร้อยละ 70 เป็นผู้รับสิทธิแฟรนไชส์ พิซซ่า ฮัท เพียงรายเดียวในประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 141 สาขาทั่วประเทศ 2. บริษัท สยาม ทาโก้ จำกัด (“STC”) โดย TTA ถือหุ้นร้อยละ 70 เป็นผู้รับสิทธิแฟรนไชส์ทาโก้ เบลล์ (Taco Bell) ในประเทศไทย ทาโก้ เบลล์เป็นเชนร้านอาหารกึ่งเม็กซิกันสไตล์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา โดยเปิดให้บริการแล้ว 2 สาขาในประเทศไทย สาขาแรกอยู่ที่ศูนย์การค้า เดอะ เมอร์คิวรี่ วิลล์ แอท ชิดลม และสาขาที่ 2 อยู่ที่ศูนย์การค้า สยามพารากอน ทั้งสองสาขาได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ธุรกิจบริหารทรัพยากรน้ำ : บริษัทฯ ได้ลงทุนใน บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (“AIM”) โดย TTA ถือหุ้นร้อยละ 80.5 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ถือหุ้นร้อยละ 66.7 นับจากต้นปีถึงปัจจุบัน AIM ได้เข้าร่วมประมูลโครงการของภาครัฐ โดยมีมูลค่าโครงการรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น