xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ใหญ่อ่วมดอกเบี้ยลด กดดันรายได้ปรับตัวลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพรวมกลุ่มแบงก์ได้รับผลกระทบหลัง กนง.ลดดอกเบี้ย เหตุกระทบรายได้ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ที่มีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากคงที่สูง ขณะที่แบงก์กลาง-เล็กได้ปัจจัยบวก แต่ภาพรวมไม่กระทบความสามารถจ่ายปันผล อีกทั้งที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ยังราคาถูก ทำให้ยังน่าสนใจ

มีการคาดการณ์ว่าหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ เนื่องจากทุกธนาคารจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง นั่นหมายถึงเรื่องดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับและส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ (ดอกเบี้ยรับ-ดอกเบี้ยจ่าย) หรือ NIM มากขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วนโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นอัตราคงที่สูง

ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง-ขนาดเล็กมีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่สูง และโครงสร้างดอกเบี้ยเงินฝากเพียงบางส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงเป็นบวกต่อ NIM แต่เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบศักยภาพการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ เพราะยังคงมีรายได้จากด้านอื่นเข้ามาทดแทน

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยดังกล่าวทำให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถูกปรับลดลงมาให้ “น้อยกว่าตลาด” เนื่องจากประเมินว่าโดยภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยแวดล้อมยังไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในระยะสั้น ส่วนระยะกลาง-ยาวยังสามารถเข้าสะสมหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการฟื้นตัวได้เร็ว เช่น BBL และ SCB

นอกจากนี้ ปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มธนาคารยังถูกมากเทียบกับดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเคลื่อนไหวอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนสามารถทยอยสะสมได้อย่างต่อเนื่องเพราะช่วงไตรมาส 3-4 จะเข้าสู่ฤดูสินเชื่อ อีกทั้งรัฐบาลใหม่น่าจะผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยหนุนให้สินเชื่อกลุ่มในปี 2563 ให้โตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงจะทำให้การจ่ายเงินปันผลมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น

บล.ฟินันเซียไซรัสให้ความเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.จะกระทบต่อ NIM และกำไรของกลุ่มธนาคารไม่มากนัก เนื่องจากคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะไม่มีการปรับลด (เนื่องจากก่อนหน้าไม่ได้มีการปรับขึ้นอยู่แล้ว) ขณะที่แรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินน่าจะผ่อนคลายลง ในเชิงทฤษฎี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวคาดว่าจะกระทบ NIM ราว 0.10% และกำไรสุทธิของกลุ่มราว 6% แต่ประเด็นสำคัญคือ Statement ของ ธปท.ที่ระบุถึงปัจจัยแวดล้อมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกว่าที่คาด

ดังนั้นอาจเห็นการชะลอตัวของสินเชื่อเช่นกัน ทำให้ปรับลดคำแนะนำเป็น Neutral จากเดิม Overweight ในช่วงสั้น โดยนักลงทุนน่าจะพิจารณาลงทุนในธนาคารขนาดเล็กก่อนเพราะจะได้ประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง แนะนำ TISCO (ราคาเหมาะสม 105 บาท) และ TCAP (ราคาเหมาะสม 60 บาท) ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ขาดปัจจัยเป็นบวกจากภาพเศรษฐกิจทำให้ขาด Catalyst มีเพียงมูลค่าหุ้นที่ลงมาซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงและมีความน่าสนใจเชิงมูลค่า ซึ่งภาพรวมแนะนำ KBANK (ราคาเหมาะสมที่ 212 บาท) และ SCB (ราคาเหมาะสมปี 2019 ที่ 152 บาท)


กำลังโหลดความคิดเห็น