xs
xsm
sm
md
lg

งัด กม.ฟอกเงินเชือด บจ. / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำลังรุกคืบการปราบปรามพฤติกรรมผิดในตลาดหุ้น โดยอยู่ระหว่างร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อ นำคดีที่กรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนกระทำความผิด บรรจุเข้าสู่มูลฐานความผิดการฟอกเงิน

ความผิดของกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ระบุไว้ ประกอบด้วย การยักยอก ฉ้อโกง ประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรือกระทำโดยทุจริตด้วยประการใดๆ กับบริษัทจดทะเบียน สร้างความเสียหายให้นักลงทุน

ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนหลายสิบแห่งที่อยู่ใน สภาพตายซาก มีปัญหาด้านฐานะการเงิน ผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง หุ้นถูกพักการซื้อขาย

บริษัทจดทะเบียนบางแห่งออกหุ้นกู้ระดมเงินจากประชาชนนับพันนับหมื่นล้านบาท แต่ไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ที่เสนอขายได้ สร้างความเสียหายให้นักลงทุน

กรณีล่าสุดคือ บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM

ความเสียหายที่บริษัทจดทะเบียนก่อไว้กับประชาชนผู้ลงทุนนับแสนราย มักไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ขณะที่ กรรมการและผู้บริหารบริษัท ร่ำรวยบนความล่มสลายของกิจการ

การขยายมูลฐานความผิดการฟอกเงิน ให้มีผลครอบคลุมกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นแนวทางในการปรามพฤติกรรมโกงในบริษัทจดทะเบียน

เพราะกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่คิดจะโกงต้องหัวหด กลัวถูก ปปง. ตามตรวจสอบเส้นทางการเงิน

การปราบปรามพฤติกรรมการกระทำความผิดในตลาดหุ้น กำลังถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ โดย 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย ก.ล.ต. ปปง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประสานความร่วมมือเพื่อกำจัดอาชญากรในตลาดหุ้นทุกช่องทางกฎหมาย

และนอกเหนือจาก ปปง. จะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อบรรจุมูลฐานความผิดของกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเข้าสู่กฎหมายฟอกเงินแล้ว ก.ล.ต. ยังเตรียม ปัดฝุ่น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการยึดหรืออายัดทรัพย์ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน

แต่ตลอด 27 ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต.ไม่เคยใช้ดาบอาญาสิทธิ์ที่กฎหมายมอบให้เล่นงานใคร

มาตรา 267 ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ระบุว่า กรณีที่ปรากฏหลักฐานว่า บุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และมีลักษณะอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้กระทำผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนเอง ก.ล.ต.มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ไม่เกิน 180 วัน และหากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องร้องคดีได้ใน 180 วัน ศาลอาจสั่งขยายเวลาการยึดหรืออายัดทรัพย์ตามคำขอของ ก.ล.ต. อีกไม่เกิน 180 วัน

นอกจากนั้น หากมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลที่กระทำความผิดจะหนีออกนอกประเทศ ศาลอาญามีอำนาจสั่งห้ามผู้กระทำความผิดเดินทางออกนอกประเทศ ตามคำขอของ ก.ล.ต. และในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งผู้กระทำความผิดเดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน

แต่ตลอด 27 ปีนับจากการก่อตั้ง ก.ล.ต. ไม่มีผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์คนใดถูกคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ รวมทั้งนายเอริค มาร์ค เลอวีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CAWOW ที่หอบเงินบริษัทหนีออกนอกประเทศเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

ความล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนหลายสิบแห่ง ทิ้งความย่อยยับให้ประชาชนผู้ลงทุน เป็นความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารบริษัทฯ แต่แทบไม่มีใครที่ต้องรับผิด แทบไม่มีกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งใดต้องติดคุก ทั้งที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฉ้อโกงทุจริตก็ตาม

นักลงทุนนับแสนคน ต้องเจ็บต้องตายฟรี เพราะความขี้ฉ้อของกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนตลอด 44 ปีของการก่อตั้งตลาดหุ้น

การยกระดับการปราบปรามอาชญากรรมในตลาดหุ้นให้เป็นวาระแห่งชาติ และปราบกันอย่างจริงจังเฉียบขาดและรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

เพื่อปกป้องนักลงทุนรายย่อยที่นับวันจะ สูญพันธุ์ เพราะถูกปล้นในตลาดหุ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น