xs
xsm
sm
md
lg

วีซ่าปล้นตลาดหุ้น / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไม่มีใครรับประกันว่า ฉากสุดท้ายของ บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM จะจบลงเช่นเดียวกับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC และ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH หรือไม่

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ แทบไม่แตกต่างจากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับ IFEC และ EARTH โดยชนวนวิกฤตเริ่มต้นจากการผิดนัดชำระหนี้ ก่อนลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาฐานะทางการเงินและการดำเนินงาน จนหุ้นถูกแขวน SP พักการซื้อขายยาว

ปัญหาการชำระหนี้หุ้นกู้ PPPM ยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหนี้หุ้นกู้ลำดับที่ 2 วงเงิน 319 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว ซึ่งผู้บริหารบริษัทฯ ประกาศว่า จะชำระหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ภายในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

ถ้าผู้บริหาร PPPM หาเงินชำระหนี้หุ้นกู้ไม่ได้ บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้จะก้าวสู่วิกฤตเต็มตัว ผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 1,918 ราย และผู้ถือหุ้นกู้จำนวนนับพันนับหมื่นรายต้องเตรียมตัวแบกรับความเสียหาย

PPPM ออกหุ้นกู้ ระดมทุนถี่ยิบในช่วง 2 ปี โดยมีหุ้นกู้ทั้งหมด 5 รุ่น วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,121.60 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน และเป็นกู้ที่มีทั้งตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และไม่มีตัวแทน ไม่มีเรตติ้ง อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 6.25% ต่อปี จนถึง 8.50% ต่อปี

การออกหุ้นกู้ระดมทุนถี่ยิบ ทำให้เกิดคำถามในพฤติกรรมของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ มีเหตุจำเป็นใด ระดมเงินไปทำไมนักหนา และเงินที่ระดมไปอยู่ที่ไหน ตามตรวจสอบเส้นทางการเงินที่เข้าออกได้หรือไม่

PPPM มีปมปริศนาทางการเงินที่น่าสนใจ โดย รอบ 2 ปี เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสายบัญชีและการเงินบ่อยมาก จนจำชื่อ ผอ.สายบัญชีแทบไม่ทัน และไม่รู้ว่าระบบบัญชีและการเงินมีปัญหาอะไร

ถ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สนใจตามตรวจสอบเส้นทางการเงินของ PPPM เชิญอดีต ผอ.สายบัญชีฯ ที่ลาออกไปมาให้ปากคำ คงได้เบาะแสปมปริศนาระบบบัญชี และการเงินของ PPPM 

การออกหุ้นกู้ต่อเนื่องกันชุดใหญ่ จ่ายดอกเบี้ยล่อใจในอัตราสูงลิบ น่าจะมีหน่วยงานใด หรือใครส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกู้ PPPM แต่กลับไม่มีสัญญาณเตือนภัยหุ้นกู้ PPPM จากหน่วยงานใดเลย

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า การขายหุ้นกู้ PPPM ทั้ง 5 รุ่น ยูโอบีเคย์เฮียน และเออีซี ได้ให้ลูกค้าเซ็นรับทราบความเสี่ยงหรือไม่ อธิบายความเสี่ยงอย่างครบถ้วนหรือไม่ เพราะ ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎอย่างครบถ้วน จะมีความผิด 

หุ้นกู้ PPPM ทั้ง 5 รุ่นที่ขายได้ แม้มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้นักลงทุนทั่วไปให้ความเชื่อถือ เพราะไม่คิดว่าจะมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้

การมีตลาดหลักทรัพย์ การเปิดให้บริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น เป็นดาบสองคม โดยหากสามารถกลั่นกรองบริษัทที่ดีเข้ามาจดทะเบียนได้ ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทมีความตั้งใจจริงในการระดมทุน เพื่อขยายกิจการ ตลาดหุ้นจะเป็นแหล่งระดมทุนและแหล่งลงทุนที่ดี

แต่ถ้าปล่อยให้หุ้นเน่าๆ เข้าจดทะเบียน ปล่อยให้ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ไม่มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ลงทุน เข้ามาปล้นเงินนักลงทุน ตลาดหุ้นจะกลายเป็นศูนย์กลางหายนะของนักลงทุน

และการอนุมัติรับหุ้นเน่า จะเป็นการออกวีซ่าให้หุ้นเน่าๆ เข้ามาสร้างความเสียหายร้ายแรงให้นักลงทุน ซึ่งเกิดขึ้นมาตลอด 44 ปีนับแต่ก่อตั้งตลาดหุ้น

ดังนั้น การพิจารณารับหุ้นใหม่ จะต้องกลั่นกรองกันอย่างเข้มข้น เพื่อเฟ้นหุ้นที่มีคุณภาพจริงๆ และเมื่อรับหุ้นใหม่มาแล้ว ต้องติดตามสอดส่องพฤติกรรม ต้องกำกับดูแลเข้มงวดตลอดเวลา มีสัญญาณอันตรายต้องเตือนนักลงทุนในทันที

และหากก่อความผิดใดๆ ต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับบริษัทจดทะเบียนอื่น

กรณีหุ้น PPPM ความจริงมีสัญญาณที่ไม่น่าวางใจมาก่อนหน้าแล้ว ไม่ว่าราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวอย่างหวือหวาในบางช่วง สวนทางกับปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอ การเปลี่ยนตัว ผอ.สายบัญชีและการเงินอย่างถี่ยิบ และการออกหุ้นกู้ระดมทุนอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงลิ่วเพื่อจูงใจ

เพียงแต่ตลาดหลักทรัพย์ยัง ไม่มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นักลงทุนจึงตกเป็นเหยื่อสังเวยหุ้น PPPM ซึ่งเป็นอีกบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับวีซ่าเข้ามาสูบเงินในตลาดหุ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น