xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรี​ฯ เตรียม​ปล่อย​ Digital​ Lending​ เฟส 2 คาด DSR กระทบ​ลูกค้าใหม่​ 15%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรุงศรี​ คอน​ซูมเมอร์​เตรียมออกดิจิทัล​ เลนดิ้ง เฟส 2 หลังมีการใช้​ NDID​ พร้อมพัฒนา​ AI​ "MANOW" ใช้ในระบบ​ Call​Center มากขึ้น​ ส่วนกรณีหากแบงก์​ชาติ​ใช้​เกณฑ์​ DSR​ ในอัตรา​ 70% ประเมิน​กระทบลูกค้าใหม่​ 15%

นายฐากร​ ปิยะพันธ์​ ประธาน​กรรมการ​ กรุงศรี​คอน​ซูมเมอร์​ เปิดเผย​ว่า​ ในครึ่ง​ปี​หลังนี้​ กรุงศรี​คอน​ซูมเมอร์​มีแผนที่​จะ​เปิดให้บริการ​ Digital​ ​Lending​ เฟส 2 หลังจาก​ National Digital​ ID (NDID​) ​ออกจาก​ Sandbox​ ซึ่ง​จะทำให้​สามารถ​ให้บริการ​ Digital​ Lending​ แก่กลุ่ม​ลูกค้า​ใหม่ได้​ รวมถึง​การทำ​ Face Pay และ​ Redesign แอปพลิ​เคชัน​ UCHOOSE เพื่อ​เพิ่ม​ฟีเจอร์​ใหม่ให้ตอบโจทย์​ลูกค้า​และใช้งาน​ได้สะดวก​ขึ้น​ด้วย​ โดย​สิ้นปี​นี้​ตั้งเป้า​หมาย​ยอดผู้ใช้​แอปพลิ​เคชัน​ UCHOOSE​ ที่​ 4 ล้านราย​ จากครึ่ง​ปี​แรกที่​ 3.8​ ล้านราย

นอกจากนี้​ ที่ผ่านมา​กรุงศรี​ คอน​ซูมเมอร์​ได้เปิดตัว​ MANOW ผู้ช่วยอัตโนมัติ​​ ซึ่ง​เข้ามาช่วยในส่วน​ของ​การบริการ​ Call​ center ให้รวดเร็ว​และเต็มรูปแบบมากขึ้น​ ขณะเดียวกัน​ AI​ ที่นำมาใช้นั้นจะเรียนรู้ในการจดจำเสียงและรูปแบบในการสนทนา​ของลูกค้าเพื่อนำมาช่วยพิสูจน์​ตัวตน​และความต้องการของ​ลูก​ค้าในอนาคต​ด้วย​ โดย​ 2 เดือน​แรกที่เปิดใช้มา​มีผู้ใช้​ Call​center ประมาณ​ 200,000 ราย​ มี​ 60,000 ราย​ใช้บริการ​ MANOW ซึ่ง​ 80% ของผู้ใช้สามารถ​ให้บริการได้ถูกต้อง​ และ​อีก​ 20% ส่งต่อให้แก่เจ้าหน้าที่​เนื่องจาก​เป็น​กรณี​ที่มีความซับซ้อน​ ซึ่ง​หาก​ตัว​ AI นี้มีพัฒนาการ​ที่ดีขึ้น​ก็จะสามารถ​บริการ​ Call Center​ ได้​มากขึ้น​ ก็จะทำให้บริการ​ลูกค้า​ได้​ตลอด​ 24​ ชั่วโมง​ใน​ 7​ วันต่อสัปดาห์​

ส่วนเป้าหมาย​การขยาย​ฐานลูกค้า​นั้น​ ยังคงเป้าหมาย​ทั้งปีมียอดลูกค้า​บัตรเครดิต​-สินเชื่อ​เชื่อ​บุคคล​ 900,000 ราย​ จากครึ่งปีแรกที่​ 479,000 ราย​เพิ่มขึ้น​ 33% ยอดใช้จ่าย​ผ่านบัตรเครดิต​ 330,000 ล้าน​บาท​ จากครึ่งปีแรกที่​ 165,000 ล้านบาท​ และยอดสินเชื่อ​ใหม่ที่​ 85,000 ล้านบาท​ จากครึ่ง​ปี​แรกที่​ 50,000​ ล้านบาท​ โดย​ ณ​ ครึ่ง​ปี​แรก​มีจำนวน​บัญชี​รวม​กว่า​ 9​ ล้านบัญชี ​เพิ่ม​ขึ้น​ 8% จากสิ้นปี​ก่อน​ และมียอด​สินเชื่อ​คง​ค้าง​รวม​ 135,000 ล้านบาท ​เพิ่มขึ้น​ 11% จากสิ้นปี​ก่อน​

ส่วน​กรณีที่​ธนาคาร​แห่ง​ประเทศไทย ​(ธปท.)​ จะมีการใช้​มาตรการ​กำหนดสัดส่วน​ภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR)​ ไม่เกิ​น​ 70% สำหรับ​ผู้​มีรายได้​ต่ำกว่า​ 30,000​ บาทต่อเดือนนั้น​ นายฐากร ​กล่าว​ว่า​ หาก ธปท.ใช้เกณฑ์​ดังกล่าว​ ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ และทำให้จำนวนบัญชีลูกค้าใหม่รวมทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล

อย่างไรก็ตาม​ บริษัทพร้อมให้ความร่วมมือ เนื่องจากโดยปกติบริษัทมีการคำนวณ DSR อยู่แล้วเฉลี่ยที่ระดับ 50-60% และส่วนใหญ่สัดส่วน 95% เป็นฐานลูกค้ามนุษย์เงินเดือน มีรายได้ชัดเจนและยังพิจารณารายได้อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าคอมมิชชันและอื่นๆ เฉลี่ยย้อนหลัง 6 เดือน​ ส่วนคนที่มีภาระหนี้ต่อรายได้เกิน 70% คงไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้นั้น ก็เชื่อว่า ทางการจะมีมาตรการควบคุมตามมา เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้ออกไปเป็นหนี้นอกระบบ

"เราคงยังไม่ปรับเป้าหมาย​การปล่อย​สินเชื่อ​ แค่ถ้า​มาตรการ​ DSR มาแล้วกระทบก็คงปล่อยไปตามนั้น​ ซึ่ง​จริงๆ แล้วมาตรการดังกล่าว​ก็​ถือเป็น​เรื่อง​ที่ดี​ เพราะ​กลุ่ม​รายได้​ต่ำกว่า​ 30,000​ บาทต่อเดือน​ถือเป็น​กลุ่ม​เสี่ยงจริง​ ซึ่ง​หากเขามีภาระ​หนี้​ 70% ใช้จ่าย​ส่วนตัว​ 30% นั่น​หมายถึง​เขาจะไม่มี​เงินออมเลย​ ดังนั้น​ เขาควรจะต้องปรับตัว​ รวมถึง​เกณฑ์​ดังกล่าว​จะได้​เป็น​มาตรฐาน​ที่ผู้ให้บริการ​ใช้ร่วมกัน​ด้วย​ นอกจากนี้​ ยังมองว่ามีภาระหนี้หรือค่าใช้จ่ายในรูปแบบอื่นๆ ที่ยังมองไม่ได้นำเข้ามารวม เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่ง​หากรวมเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกัน เพื่อจะได้เห็นพฤติกรรมของลูกค้าได้ชัดเจนขึ้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น