โรงไฟฟ้ามินบูเกิดจากแนวคิดของผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่ร่วมมือกันด้วยเป้าหมายสร้างแสงสว่างสู่พม่า ซึ่งบริษัทจดทะเบียนของไทย 3 แห่งโดดเข้าร่วมวงด้วย คือ บมจ.สแกน อินเตอร์ หรือ SCN บมจ. เมตะ คอร์ปอเรชั่น หรือ META แล บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค หรือ ECF ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีธุรกิจหลักอยู่เป็นทุน หากแต่การเข้าลงทุนครั้งนี้เพราะมองอนาคตที่อาจมีการต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ได้ในอนาคต
ก่อนหน้าที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเปิด ผู้บริหารแต่ละแห่งต่างออกมาประเมินรายได้ที่จะเข้ามาอย่างสดใส แม้ว่าการเปิด COD ล่าช้า และส่งผลต่อการมองแนวโน้มรายได้และกำไรที่จะเข้าสู่บริษัทไม่เป็นไปตามคาด อย่างไรก็ดี หลังจากโรงไฟฟ้ามินบูเปิด COD อย่างเป็นทางการแล้ว ผู้บริหารต่างก็หน้าชื่นบาน เพราะที่นี่คือความหวังของแหล่งรายได้ที่แน่นอนและยาวนานตามสัญญาสัปทานยาวนานถึง 30 ปี
META ยิ้มรับรู้ทั้งรายได้จากการลงทุนและก่อสร้าง
นายศุภศิษฎ์ โภคินจารุรัศมิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) เปิดเผยว่า หลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มินบูเปิด COD อย่างเป็นทางการแล้วคาดจะเริ่มรับรู้รายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 62 เป็นต้นไป และในส่วนของ META ที่เป็นผู้ก่อสร้างโครงการก็จะบันทึกในส่วนของกำไรเข้ามาในไตรมาส 3 ปีนี้ด้วย ขณะในส่วนของรายได้จากคาดว่าจะมีกว่า 1 พันล้านบาท โดยระยะต่อไปจะเป็นการเร่งพัฒนาก่อสร้างในเฟสที่เหลืออีก 3 เฟส ตามลำดับ และ META ยังมีโครงการรับเหมาก่อสร้างที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเริ่มก่อสร้างช่วงปลายปี 61 อีกทั้งยังมีโครงการรับเหมาต่างๆ ในประเทศไทย
เมื่อต้นปี 62 META ได้เสนอขายหุ้นกู้ชนิดแบบมีหลักประกันมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 300 ล้านบาท จำนวนที่สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าหุ้นกู้ทั้งสิ้นไม่เกิน 400 ล้านบาท และได้รับผลตอบรับจากผู้ลงทุน สถาบันการเงินและผู้ลงทุนรายใหญ่ดีเกินคาด ซึ่งบริษัทนำเงินจากการขายหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในโครงการต่างๆ รวมถึงนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจของบริษัทฯ อีกทั้งการนำไปใช้เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม
สำหรับผลงานไตรมาสแรกปี 62 META มีผลขาดทุนกว่า 8 ล้านบาท และมีรายได้รวม 572 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการขายแผงโซลาร์โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เมืองมินบู ในพม่าเฟสแรก ซึ่งได้ลงนามสัญญาจัดซื้อและหาอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้าง และอุปกรณ์หลักคือแผงโซลาร์ และช่วงไตรมาสแรกปี 61 เป็นช่วงแรกของการเริ่มก่อสร้างเมื่อเทียบกับสัดส่วนรายได้ปีนี้ พบว่าสัดส่วนรายได้ลดลง เนื่องจากการสั่งซื้ออุปกรณ์ช่วงแรกเริ่มจะซื้อในปริมาณมาก แต่ไตรมาสแรกปี 62 เป็นช่วงปลายการก่อสร้าง ปริมาณการสั่งซื้อจึงต่ำกว่าเมื่อเทียบกัน ทำให้รายได้และกำไรขั้นต้นลดลง
ECF ออกหุ้นกู้ ลุยลงทุนพลังงานทดแทนต่อเนื่อง
นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค หรือ ECF กล่าวว่า หลังจากไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มินบู COD แล้วนั้น บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทุกประเภทในต่างประเทศ จะเป็นทั้งการร่วมทุนหรือบริษัทเข้าไปขยายลงทุนเองเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้คือภายในปี 2565 ECF จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มแตะ 150 เมกะวัตต์ ขณะปัจจุบัน ECF มีโรงไฟฟ้าภายใต้การบริหารและ COD แล้วคือโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 7.5 เมกะวัตต์, ไบโอแมสขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ไม่นับรวมโรงไฟฟ้ามินบู
“การลงทุนในพลังงานทดแทนทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะเป็นตัวหนุนในการเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจพลังงานทดแทนขึ้น กล่าวคือ แตะระดับ 70% จากปัจจุบันมีสัดส่วนต่ำกว่า 20% ซึ่งถือเป็นการสร้างความมั่นคงการเติบโตรายได้และกำไรในระยะยาว ขณะที่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ปีนี้ยังคงเติบโตสูงกว่า 10% จากปีก่อนที่ทำไว้ 1,500 ล้านบาท ซึ่งปีนี้เราจะมีรายได้จากโรงไฟฟ้ามินบูอีกทาง” นายอารักษ์กล่าว
ล่าสุด ECF ออกขายหุ้นกู้ 200 ล้านบาท อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.50% ต่อปี ให้นักลงทุนรายใหญ่-สถาบัน ซึ่งจองซื้อเมื่อ 25-30 ก.ค. 62 เพื่อนำเงินไปชำระคืนหนี้เดิม-เป็นเงินทุนหมุนเวียน-รองรับการขยายธุรกิจ เพราะ ECF มีแผนจะขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนต่อเนื่อง
โดยผลงานไตรมาสแรกปี 62 ECF มีกำไรสุทธิ 10 ล้านบาทและมีรายได้รวม 374 ล้านบาท ซึ่งบริษัทสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์สาหรับการส่งออกต่างประเทศได้เติบโต 4% โดยมีมูลค่าการส่งออก 216 ล้านบาท ในขณะที่มีรายได้จากการจาหน่ายภายในประเทศลดลง 9% โดยมีมูลค่าการจำหน่ายในประเทศ 149 ล้านบาท สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2562 โดยภาพรวมแล้วบริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.38% เพราะรายได้จากการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ผ่านช่องทางโชว์รูม ELEGA ลดลง อีกทั้งการหยุดกิจการของธุรกิจร้านค้าปลีกแคนดูที่หยุดการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปลายปี 2561 รวมถึงโรงไฟฟ้ามินบู COD ล่าช้าทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง
SCN รุกหนักทุกธุรกิจด้านพลังงาน
นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ หรือ SCN เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมุ่งกระจายลงทุนหลายธุรกิจ ซึ่งด้านธุรกิจพลังงานทดแทน ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม เนื่องจากทางการเวียดนามที่มีแผนผลักดันโครงการพลังงานทดแทนออกมา คาดจะเห็นข้อสรุปในปี 62 ขณะที่โรงไฟฟ้ามินบูเริ่ม COD แต่ยังเหลืออีก 3 เฟสที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องไปให้แล้วเสร็จ และมีแผนเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น GEP เป็น 40% จากเดิม 30% เพื่อหวังกำไรเพิ่มและก้าวสู่การเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ GEP
ผลงานปี 62 ถ้านับรวมรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้ามินบู แนวโน้มกำไรสุทธิปีนี้ของ SCN มีโอกาสเติบโตทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่รายได้ยังมั่นใจว่าจะเติบโตตามเป้า 30% จากปีก่อนที่ 3.17 พันล้านบาท เนื่องจากธุรกิจในส่วนต่างๆ ทั้งการขายก๊าซธรรมชาติ, การขายไฟฟ้า, การขายชิ้นส่วนรถยนต์ และการขนส่ง ซึ่งในไตรมาส 1/2562 มีการส่งมอบรถเมล์ NGV ล็อตสุดท้าย รวมทั้งยังมีงานในมือ (Backlog) ในส่วนของการก่อสร้างสถานี และงานเดินท่อ คิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยส่งมอบงานภายในปี 2562 ทั้งหมดเข้ามาเสริม
ขณะคาดว่ายอดขายปีนี้จะเพิ่มขึ้น 50% หรือ 500 ล้านบาท และธุรกิจซ่อมบำรุงรถเมล์ NGV รวมทั้งรายได้จากโรงไฟฟ้าที่มินบูเข้ามาหนุน ขณะเดียวกัน ธุรกิจบริการอัดก๊าซธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรมนั้นมีแผนขยายโรงงานเพิ่มเติบตามนอกแนวเส้นทางท่อก๊าซ ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นบริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาขยายลงทุนเพิ่มเติมในพม่าและเวียดนาม ขณะที่ได้ลงนามในสัญญากับ SOJITZ ของญี่ปุ่น เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายถังบรรจุก๊าซ และเดินหน้าขยายตลาดไปยังอินโดนีเซีย และเวียดนามในปี 63
สำหรับผลงานไตรมาสแรกปี 62 SCN มีรายได้รวม 1,062 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 72 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากการขายและบริการงวดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติมาจากยอดขายของธุรกิจก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) และโครงการรถโดยสารปรับอากาศ NGV ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่วนกำไรสุทธิลดลง เนื่องจากกำไรสุทธิจากการดำเนินงานได้รับแรงกดดันชั่วคราวจากการกู้ยืมเพื่อลงทุน และรายการค่าเสื่อมและค่าจัดจำหน่าย
ดังนั้น จากการรุกหนักด้านพลังงาน SCN ตั้งเป้ารายได้ภายในปี 66 โครงสร้างรายได้มาจากธุรกิจก๊าซ iCNG และ NGV ลดเหลือ 30% ธุรกิจยานยนต์ 30%, ธุรกิจพลังงานทดแทน 30% และโลจิสติกส์ 10% ของรายได้รวม เนื่องจากพลังงานทดแทนรายได้อาจจะไม่ได้เติบโตโดดเด่น แต่กำไรจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ