xs
xsm
sm
md
lg

PPPM วงแตก / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพิ่งเพิ่มทุน สูบเงินจากผู้ถือหุ้นเดิมกว่า 250 ล้านบาทไปหมาดๆ บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM กลับเกิดเรื่องฉาวโฉ่ทางการเงินขึ้นมาเสียแล้ว เพราะไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้วงเงิน 580 ล้านบาทได้ และมีแนวโน้มว่า หนี้หุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดชำระคืนอีก 541.60 ล้านบาท จะมีปัญหาตามมา

ปัญหาด้านฐานะการเงินของ PPPM นักลงทุนไม่ได้รู้ระแคะระคายมาก่อน มีเพียงสิ่งน่าสังเกตก่อนหน้าเพียงประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น โดย ดร.สุธี ตันติวณิชชานนท์ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการสายบัญชีและการเงิน อ้างว่า มีปัญหาด้านสุขภาพ

การเปลี่ยนแปลงผู้อำนวยการสายบัญชีและการเงิน มักเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาการบริหารบันทึกบัญชี หรือการบริหารจัดการด้านการเงิน และการลาออกของ ดร.สุธี จะเกิดจากสาเหตุเดียวกันหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบ

แต่ที่แน่นอนคือ PPPM ใช้ CFO เปลืองมาก ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี เปลี่ยนผู้อำนวยการสายบัญชีและการเงินจนนับไม่ถ้วน จนไม่รู้ระบบบัญชีและระบบการเงินของบริษัทจดทะเบียนแห่งนิ้มีปัญหาลับลมคมในอะไรกันนักหนา

ข่าวสถานการณ์ทางการเงินของ PPPM คงรู้กันในหมู่คนวงในมาก่อนหน้า เพราะราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ รูดลง 2 วันติด ซึมซับรับข่าวร้ายที่สาธารณชนยังไม่ได้รับรู้ล่วงหน้า

ถ้าตลาดหลักทรัพย์ไม่สั่งแขวนป้าย SP พักการซื้อขายหุ้น เพื่อรอการชี้แจงข้อมูลการผิดนัดชำระหนี้ ป่านนี้หุ้น PPPM คงถูกถล่มจมดินไปแล้ว

เพราะนักลงทุนรายย่อยคงเทขายหนีตายด้วยความตื่นตระหนก

PPPM เป็นหุ้นที่มีเรื่องราวมากมาย โดยอยู่ในกลุ่มเดียวกับ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC และบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP มีการถือหุ้นไขว้กัน โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่โยงใยกัน นอกจากนั้น ยังมีการปล่อยกู้ระหว่างกัน

หุ้นในกลุ่มนี้มักมีการปล่อยข่าวกระตุ้นการเก็งกำไรเป็นระยะ ราคาหุ้นถูกลากขึ้นอย่างหวือหวาในบางช่วงเวลา ทำให้นักลงทุนรายย่อยแห่เข้าไป "ติดกับ" กัน จนผู้ถือหุ้นรายย่อยในแต่ละบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ที่สุด โดยถือหุ้นรวมกันสูงกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน

PPPM เพิ่งเปลี่ยนชื่อเมื่อเดือนกันยายน 2561 เดิมคือ บริษัท ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TLUXE และเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้นำหุ้น จำนวน 281.52 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2 บาท

ปรากฏว่า มีผู้ใช้สิทธิจองซื้อ จำนวน 125 ล้านหุ้น หรือประมาณ 40% ของหุ้นใหม่ที่เสนอขายทั้งหมด ระดมเงินได้ 250 ล้านบาท

ผู้ถือหุ้นเดิมที่ใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามา ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่เงินที่ร่วมกันใส่ลงมา 250 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน ไม่รู้ว่าถูกจัดสรรไปอยู่ในส่วนไหน และทำไมบริษัทจึงเกิดปัญหาการชำระหนี้ได้

PPPM ไม่ใช่หุ้นธรรมดา เพราะแม้ขาดทุนติดต่อหลายปี แต่ราคาหุ้นกลับถูกกระชากขึ้นอย่างหวือหวา โดยระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลากำหนดให้ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน ราคาหุ้นถูกพยุงให้ยืนเหนือ 2 บาทตลอด และกลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองหุ้นเพิ่มทุน หลังจากนั้น ยังลากขึ้นไปต่อจนทะลุ 3 บาท

แต่วันนี้ ใครที่มีหุ้น PPPM ติดมืออยู่ คงทุกข์หนัก เพราะข่าวร้ายกำลังถล่มใส่ จนน่าห่วงในชะตากรรม ซึ่งอาจลงเอยเช่นเดียวกับ บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH

ตลาดหลักทรัพย์ฯ คงต้องติดตามปัญหาของ PPPM เป็นพิเศษ ต้องตรวจสอบย้อนหลังพฤติกรรมการซื้อขายหุ้น ซึ่งอาจมีความไม่ผิดปกติเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด

และต้องเพ่งเล็งหุ้น AEC และ ACAP ควบคู่ไปด้วย แม้หุ้นทั้ง 2 ตัวจะสงบลงแล้วก็ตาม

น่าเสียใจแทนนักลงทุนรายย่อยจริงๆ เพราะกำลังจะตายหมู่ในหุ้น PPPM โดยเฉพาะนักลงทุนที่เพิ่งเติมเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งจะต้องตายซ้ำสอง

ใครที่อยู่เบื้องหลังการสร้างความเสียหายให้นักลงทุน อำมหิตจริงๆ เพิ่งสูบเงินผู้ถือหุ้นไปไม่กี่วัน หมดเงินชำระหนี้เสียแล้ว

ถ้ารู้ว่า บริษัทกำลังเกิดวิกฤตทางการเงิน จะเพิ่มทุน สร้างบาปสร้างกรรมต่แผู้ถือหุ้นรายย่อย PPPM ทำไมหนอ



กำลังโหลดความคิดเห็น