ฉายภาพ 6 หุ้นบิ๊กค้าปลีกอาเซียนของไทย ภาพรวมครองสัดส่วน 84% ของมาร์เกตแคปรวมทั้ง 10 อันดับอาเซียน 1.81 ล้านล้านบาท ทิ้งห่างชาติอื่นไม่เห็นฝุ่น พร้อมคาดยังเติบโตต่อเนื่องจากการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศตามแผนธุรกิจ อีกทั้งยอดขายในสาขาเดิม (SSSG) อยู่ในช่วงขาขึ้นจากอานิสงส์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ อีกทั้งครึ่งปีหลังเข้าสู่ช่วง High Season
จากบทวิจัยเรื่อง "หุ้นค้าปลีกไทยอยู่อันดับไหนในอาเซียน?" ผ่าน SET Note ฉบับที่ 6/25621 ** ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกของไทยมีศักยภาพเพียงใดในภูมิภาคเดียวกัน และแน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนในและต่างประเทศที่ต้องการสะสมหุ้นเหล่านี้เข้าพอร์ตลงทุน เพื่อเข้ามาร่วมรับรู้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัททั้งในรูปแบบส่วนต่างราคาหุ้น และเงินปันผล
ข้อมูลจาก ตลท.พบว่า 10 อันดับหุ้นค้าปลีกอาเซียนมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกัน 1.81 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 6 บริษัทจากตลาดหุ้นไทยมีมูลค่ามาร์เกตแคปรวม 1.52 ล้านล้านบาท หรือ 84% ของมูลค่ามาร์เกตแคปรวมทั้ง 10 บริษัท ขณะที่อันดับ 2 เป็นของ 2 บริษัทจากฟิลิปปินส์ มีมาร์เกตแคปรวม 1.47 แสนล้านบาท และตามมาด้วย 2 บริษัทจากอินโดนีเซีย มีมาร์เกตแคปรวม 1.45 แสนล้านบาท
สำหรับบริษัทค้าปลีกไทยทั้ง 6 บริษัทนั้นประกอบด้วย อันดับ 1 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL มูลค่ามาร์เกตแคป 7.72 แสนล้านบาท อันดับ 2 บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO มูลค่ามาร์เกตแคป 2.30 แสนล้านบาท อันดับ 3 บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC มาร์เกตแคป 2.02 แสนล้านบาท
อันดับ 4 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO มาร์เกตแคป 1.78 แสนล้านบาท อันดับ 5 บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL มาร์เกตแคป 7.43 หมื่นล้านบาท และอันดับ 6 บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS มาร์เกตแคป 6.24 หมื่นล้านบาท
SET Note ฉบับที่ 6/25621 อธิบายถึงสาเหตุการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่มธุรกิจค้าปลีกเติบโตตามเมืองที่เติบโตขึ้น เพราะจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยหรือทำงานในเขตเมืองย่อมเพิ่มขึ้น ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้นส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ไม่เพียงการขายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบเดิม แต่ต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบใหม่ของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น บริการอาหารพร้อมรับประทาน บริการด้านการชำระเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้ แต่ละบริษัทยังมีกลยุทธ์ในด้านการจัดการรูปแบบสาขาและสินค้าให้สอดคล้องต่อความต้องการในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี big data analytic เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละบุคคล รวมถึงการพัฒนา e-commerce และบริการขนส่งสินค้าที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยในกลุ่มค้าปลีกเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561 และมีการจ้างงาน 1.7 แสนคนในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้น 12.6% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561
แต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกไทยเป็นอันดับต้นของอาเซียนยังมาจากการขยายธุรกิจไปต่างประเทศมากขึ้นทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งมีแผนที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในอาเซียน บริษัทมีรูปแบบการขยายธุรกิจทั้งการเปิดสาขาใหม่เอง และร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น** เช่น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดสาขา BigC ในเวียดนาม และลาว บมจ.โรบินสัน (ROBINS) เปิดสาขาโรบินสันในเวียดนาม บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) เปิดสาขาในกัมพูชา และร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นขยายสาขาในลาว และพม่า บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เปิดสาขาแม็คโครในกัมพูชา และ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) เปิดสาขาโฮมโปรในมาเลเซีย นอกจากนี้ หลายบริษัทยังมีสาขาหรือมีแผนขยายสาขานอกภูมิภาคอาเซียน เช่น อินเดีย
**เจาะแนวโน้มธุรกิจ 6 บิ๊กค้าปลีกอาเซียน
CPALL กำไรโตต่อเนื่อง : บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินทิศทางธุรกิจ CPALL ว่ายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 91.00 บาท/หุ้น คิดเป็น P/E ที่ 35 เท่า เนื่องจากเป็นผู้นำในกลุ่มค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าที่จำเป็น (staple) และมีโอกาสสูงที่จะได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ผ่านสาขาที่มีกระจายอยู่ทั่วและเข้าถึงชุมชน ขณะที่กำไรปกติไตรมาส 2 ปีนี้มีแนวโน้มออกมาดี หากไม่รวมรายการสำรองผลประโยชน์พนักงานซึ่งเกิดขึ้นครั้งเดียว CPALL จะมีกำไรอยู่ที่ 5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 21% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม CPALL ยังมีพื้นฐานแข็งแกร่งและสมควรซื้อขายกันที่ premium กว่าหุ้นค้าปลีกตัวอื่นที่มักมีลักษณะเป็นห้างซึ่งพบกับการแข่งขันที่สูงและขยายสาขาได้ช้ากว่า
ทำให้ยังคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 2562 อยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของยอดขายในสาขาเดิมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.25% และยังมีโอกาสการขยายสาขาจะบรรลุตามแผนที่ตั้งไว้ 700 สาขา หลังจากไตรมาสแรกบริษัทได้ขยายไปแล้วถึง 311 แห่ง ตลอดจนการฟื้นตัวของ MAKRO (CPALL เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) อีกทั้งแม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในไตรมาส 3/62 แต่ CPALLจะได้ประโยชน์จากโปรโมชัน stamp ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าปีก่อน หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วง high season ในปลายปี **
**HMPRO ยอดขายสาขาเดิมเติบโต : บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ให้ภาพรวมถึงทิศทางของบริษัทว่า กำไรหลักในไตรมาส 2/62 ของ HMPRO จะแข็งแกร่งจากอัตราการเติบโตของยอดขายในสาขาเดิม (SSSG) โดยอยู่ที่ 1.49 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.50% หนุนนำด้วยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขายดี ตามอากาศที่ร้อน ** แต่อัตรากำไรไม่สูงนัก อีกทั้งสัดส่วนค่าใช้จ่ายขายและบริหารเทียบกับรายได้ลดลง **พร้อมคาดว่ากำไรในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ของบริษัทยังสดใสต่อเนื่องโดยเฉพาะจาก SSSG เนื่องจากฐานเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ** อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นได้ตอบรับไปมากแล้ว ทำให้ส่วนเพิ่มขึ้นในปัจจุบันเหลืออยู่ไม่มาก จึงแนะนำ “ถือ” ด้วยราคาพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงที่ 17.50 บาท อิง P/E ปี 2562 ที่สูงเป็น 35 เท่า
**BJC ธุรกิจกระป๋องฟื้น แถม BIGC แกร่ง : บล.ฟินันเซียไซรัส ให้ความเห็นถึงแนวโน้มธุรกิจ BJC ว่า กำไรในไตรมาส 2/62 ยังเติบโตได้ดี แม้ BIGC จะเจอการแข่งขันแรงขึ้นจนทำให้ SSSG ทำได้เพียงทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่บริษัทไม่ใช้การแข่งด้านราคา ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นยังเพิ่มขึ้นได้ ส่วนธุรกิจกระป๋องคาดรายได้จะกลับมาโตเล็กน้อย ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบสูง เพราะเริ่มรับรู้รายได้จากลูกค้ารายใหม่ 2 ราย และคาดจะรับรู้เพิ่มอีก 1 รายในไตรมาส 3/62 ** โดยเชื่อว่าลูกค้าใหม่ดังกล่าวจะหักล้างการลดลงของลูกค้าเดิมได้ทั้งหมด ทำให้แนวโน้มกำไรในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะยังโตต่อเนื่องจากการขยายสาขาใหม่ของ BIGC มากขึ้น และจะเปิดสาขาแรกที่กัมพูชาในเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่แนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบค่อนไปในทางทรงตัวถึงปรับลง นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดบางส่วนด้วยการใช้กระแสเงินสดในกิจการ จะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงในไตรมาสสุดท้าย ทำให้ยังคาดกำไรปกติปีนี้ไว้ที่ 6.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% และคงเป้าปีนี้ที่ 58.00 บาท หรือยังมี Upside 16% แนะนำ “ซื้อ”
**MAKRO เริ่มฟื้นหลังลดลง 4 ไตรมาสติด : บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ประเมินทิศทางธุรกิจบริษัทว่า MAKRO จะรายงาน SSSG ที่แข็งแกร่งที่สุดในภาคการค้าปลีกของไทยในไตรมาส 2/62 ** โดยได้แรงหนุนจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและราคาอาหารที่สูงขึ้น และน่าจะเป็นไตรมาสที่ผลประกอบการของ MAKRO กลับมาดี หลังจากที่ลดลงติดต่อกันสี่ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาส 2/61 ** ทำให้ยังคงแนะนำให้ "ถือ" เนื่องจากคาดว่าการเติบโตจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการเปิดดำเนินงานในต่างประเทศ
**GLOBAL ถูกกดดันจากแผนเพิ่มสาขาที่เลื่อนออกไป : บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า ได้ปรับลดประมาณการกำไรลงสะท้อนถึงอัตรากำไรขั้นต้นลดลง การเลื่อนเปิดสาขา และภาวะภัยแล้ง โดยคาดกำไรปกติไตรมาส 2/62 ลดลง 5% ทำให้แนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามผลของฤดูกาล แต่คาดจะกลับมาเติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อนจากการเปิดสาขาใหม่ และลดการทำโปรโมชัน ขณะที่อัตราการเติบโตของยอดขายในสาขาเดิม พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีประมาณ 5% แนะนำ Trading Buy ราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเป็น 18.50 บาท จากโดยรวมประเมินกำไรสุทธิปีนี้ที่ 2.07 พันล้านบาท เติบโต 4% จากปีก่อน
**ROBINS ยอดขายสาขาเดิมและกำไรขั้นต้นลดลง : บล.กสิกรไทยแนะนำ "ถือ" ROBINS ด้วยราคาเป้าหมายใหม่หลังปรับฐานเป็น 61 บาท/หุ้น จาก 64 บาท/หุ้น โดยคาดว่า ROBINS จะรายงานกำไรที่อ่อนแอในไตรมาส 2/62 จากอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่ติดลบราวๆ -0.5% และอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่ลดลงจากการจัดแคมเปญโปรโมชันเชิงรุก รวมถึงจำนวนผู้บริโภคในศูนย์การค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงสาขา
ด้วยภาพรวม SSSG ที่อ่อนแอและแนวโน้ม GPM ที่ลดลง จึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2562-64 ลงโดยเฉลี่ย 3.5% ทำให้คาดว่ากำไรปี 2562-64 จะโตขึ้น 2.3%/9.8%/8.2% เป็น 3.0 พันล้านบาท, 3.3 พันล้านบาท. และ 3.6 พันล้านบาท ตามลำดับ
จากข้อมูลข้างต้นพบว่า ภาพรวมทั้ง 6 บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของอาเซียนที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ส่วนจะเติบโตเพิ่มขึ้นในปี 2562 จนถึงปีหน้า เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายในสาขาเดิมเติบโต อีกทั้งจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลใหม่ รวมถึงแผนการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่บางบริษัททิศทางธุรกิจกำลังเข้าสู่การฟื้นตัวหลังจากปรับตัวลดลงไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ กล่าวได้ว่าทั้ง 6 หุ้นค้าปลีกขนาดอาเซียนของไทยยังมีความน่าสนใจเข้าลงทุน แม้ราคาหุ้นบางบริษัทเข้าใกล้ราคาเป้าหมายมากแล้วก็ตาม