xs
xsm
sm
md
lg

จับตายแก๊งปั่นหุ้น / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำลังประสานความร่วมมือ เพื่อปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะพฤติกรรมการปั่นหุ้น

แนวทางปราบปรามการปั่นหุ้นที่อยู่ระหว่างหารือของทั้ง 3 หน่วยงานคือ การดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิด ควบคู่กับการใช้บทลงโทษในทางแพ่งโดยการสั่งปรับ และการเพิ่มโทษทางอาญา

ถ้าดึงอัยการเข้ามาร่วมมืออีกหน่วยงาน กระบวนการปราบปรามการปั่นหุ้นจะครบถ้วนสมบูรณ์แบบ และเป็นการป้องกันการ “ตัดตอน” เพราะก่อนหน้า คดีปั่นหุ้นแทบไม่ถูกส่งขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล เนื่องจากการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องของบางหน่วยงาน

แต่แม้จะไม่มีอัยการ ถ้าทั้ง 3 หน่วยงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะสามารถกำราบหรือปราบแก๊งปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนกัน

พฤติกรรมการปั่นหุ้นที่ดำเนินมาตลอด 44 ปีของการก่อตั้งตลาดหุ้น เพราะแก๊งปั่นหุ้นไม่เกรงกลัวความผิด เนื่องจากมีช่องทางในการวิ่งเต้นล้มคดี

และคดีปั่นหุ้นนับสิบๆ คดี ถูกตัดตอน จน ก.ล.ต. เกิดความท้อแท้ และเลี่ยงมาใช้มาตรการลงโทษในทางแพ่ง แทนการร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญา

เพราะร้องทุกข์กล่าวโทษไป กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรืออัยการ มักมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยไม่ต้องแถลงเหตุผลให้สาธารณชนรับทราบถึงการสั่งไม่ฟ้อง

แต่การใช้มาตรการลงโทษในทางแพ่ง โดยการสั่งปรับ พิสูจน์แล้วว่า ไม่อาจปราบแก๊งปั่นหุ้นให้สิ้นซากได้ เพราะไม่มีใครกลัวบทลงโทษ

ถ้าปั่นหุ้นและถูกจับได้ อย่างมากก็เสียค่าปรับ เมื่อจ่ายค่าปรับ คดีก็จบ ถ้าไม่จ่าย ก็ถูกฟ้องร้องในทางแพ่งเท่านั้น ไม่ต้องกลัวติดคุกแต่อย่างใด

หลายปีมาแล้วที่ ก.ล.ต. ต้องหวานอมขมกลืน ใช้มาตรการในทางแพ่ง ลงโทษแก๊งปั่นหุ้น ทั้งที่รู้ว่า ไม่ได้ผลนัก

การปั่นหุ้นแต่ละคดี สร้างความเสียหายให้นักลงทุนจำนวนมาก บางกรณีมีนักลงทุนรายย่อยตกเป็นเหยื่อนับหมื่นราย วงเงินความเสียหายนับพันๆ ล้านบาท ซึ่งแก๊งปั่นหุ้นต้องถูกลงโทษหนัก

แต่แทบไม่มีนักปั่นหุ้นคนใดติดคุก แม้ในรอบ 5 ปี นับแต่ยุคนายรพี สุจริตกุล เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. มีการร้องทุกข์กล่าวโทษคดีปั่นหุ้นหลายสิบคดีก็ตาม

ปัจจุบัน นโยบายปราบปั่นหุ้นกำลังได้รับการสานต่อจาก น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ ซึ่งดึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ปปง. เข้ามาร่วมวงลุยแก๊งปั่นหุ้น โดยจะกลับมาใช้บทลงโทษทางอาญาต่อผู้กระทำความผิด

ถ้าทั้ง 3 หน่วยงาน มีเจตนารมณ์ตรงกัน มีความมุ่งมั่นปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้นอย่างจริงจัง พฤติกรรมปั่นหุ้นจะลดลงหรือหมดไป

เพราะการปั่นหุ้นไม่ใช่คดีที่ซับซ้อน และสามารถระงับยับยั้งได้ตั้งแต่เริ่มเห็นพฤติกรรม เพราะตลาดหลักทรัพย์มีเครื่องมือในการตรวจสอบความผิดปกติของราคาหุ้น มีอำนาจในการส่งสัญญาณเตือนให้นักลงทุนระมัดระวัง และยังมีบทลงโทษหนักสำหรับอาชญากรที่สร้างความเสียหายให้นักลงทุน

เพียงแต่มาตรการกำจัดและกวาดล้างพฤติกรรมปั่นหุ้นในอดีตขาดประสิทธิภาพ โดยระบบการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นไม่เข้มข้นเพียงพอ ไม่มีระบบการส่งสัญญาณเตือนภัยนักลงทุนที่ดี และการดำเนินคดียังมีช่องโหว่ ทำให้แก๊งปั่นหุ้นลอยนวล และสร้างความเสียหายให้นักลงทุนนับแสนๆ คน มาตลอด 44 ปี

วันนี้ ก.ล.ต. ร่วมกับดีเอสไอ และ ปปง.กำลังประสานความร่วมมือกวาดล้างพฤติกรรมผิดในตลาดหุ้น โดยบทลงโทษที่รุนแรง และประเดิมกันที่การปั่นหุ้น 7-8 คดีที่ ก.ล.ต. ส่งเรื่องให้ ปปง.สอบเส้นทางการเงิน เพื่อดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน

คดีปั่นหุ้น 7-8 คดีที่ ก.ล.ต. สั่งลงโทษปรับ แต่แก๊งปั่นหุ้นดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายค่าปรับ อาจมีผู้ร่วมขบวนการปั่นหุ้นต้องเดินเข้าคุก เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู

และเป็นจุดเริ่มต้นการ ประกาศสงครามกวาดล้างอาชญากรในตลาดหุ้น อย่างเอาจริงเอาจัง



กำลังโหลดความคิดเห็น