xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติพร้อมออกมาตรการคุมบาทเพิ่ม หากแข็งค่าผิดปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แบงก์ชาติ พร้อมออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท โดยใช้ข้อมูลเชิงลึก เพื่อออกมาตรการสกัดได้ตรงจุด ไม่หว่านแห เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวม เตรียมทบทวนนโยบายการเงิน ดูแลเงินเฟ้อ จีดีพีและเสถียรภาพสถาบันการเงิน หากปัจจัยเปลี่ยนแปลงกว่าที่คาดการณ์ นโยบายดอกเบี้ยขึ้นหรือลงต้องพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ได้ออกมาตรการลดวงเงินยอดคงค้าง ณ สิ้นวัน ของบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (NRBA และ NRBS) เป็นการดำเนินการเพื่อลดแรงกระแทกต่อค่าเงินบาท โดยการลดขนาดของท่อของเงินทุนระยะสั้นที่สามารถเข้ามาได้ ทำให้ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่าลงทันที และในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ค่าเงินบาททรงตัวอยู่ในระดับที่อ่อนค่า แม้ว่าเงินสกุลอื่นจะแข็งขึ้นก็ตาม และถือว่าเป็นการเตือนว่าจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสมอไป ทำให้ในช่วงต่อไปนักลงทุนจะมีความระมัดระวังมากขึ้นที่จะนำเงินร้อนมาพักในไทย

การลดการออกพันธบัตร ธปท.เป็นอีกมาตรการหนึ่ง ซึ่ง ธปท.ได้นำมาใช้เพื่อดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา โดยได้ปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นลง ซึ่งการดำเนินการเช่นนั้นมีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพคล่องของแต่ละระบบ และได้ผลมากกว่าการลดดอกบี้ยนโยบายในภาพรวม เพราะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดลง ซึ่งช่วยลดแรงจูงใจในการพักเงินร้อนของนักลงทุนต่างชาติได้อีกทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.พร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม หากค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องต่อพื้นฐานของประเทศ โดยมาตรการที่ออกมาไม่ได้เป็นมาตรการเหวี่ยงแห แต่จะเป็นมาตรการที่ตรงจุดเจาะจงเฉพาะผู้ที่ไม่พึงประสงค์เท่านั้น

“ปัจจัยหลักที่ทำให้มีเงินทุนนอกเข้ามาพักในประเทศไทย มาจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 5 เดือนแรกที่เกินดุล 13,498 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีเงินนอกที่มาลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนสูงๆ ในตลาดทุนและตลาดพันธบัตรเพียง 1,379 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียง 10% ของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แม้จะเป็นเงินไม่มาก แต่หากช่วงไหนเคลื่อนไหวเข้าออกพร้อมกันก็สามารถทำให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจได้ ทำให้ที่ผ่านมานั้น ธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงินเป็นบางครั้งเพื่อให้ไม่กระทบผู้ประกอบการ”

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.นั้น ได้พิจารณาปัจจัย 3 ด้าน คือ 1.เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งในขณะนี้ไม่ได้กดดันภาพเศรษฐกิจโดยรวม และยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท. โดยยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเหตุผลที่เงินเฟ้อของไทยไม่สูงมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งในช่วงสิ้นปีนี้จะมีการหารือกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้ากับกระทรวงการคลังให้สอดคล้องต่อโครงสร้างเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปมากขึ้น

2.การเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ในการประชุม กนง.ที่ผ่านมา จะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 3.3% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตาม การมองภาพเศรษฐกิจจะต้องมองไปในอนาคต โดยพบว่า ขณะนี้เสถียรภาพการเมืองของไทยปรับตัวดีขึ้น มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศที่พร้อมจะออกนโยบายใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในปีหน้า ธปท.จึงมองว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยจะปรับขึ้นมาที่ 3.7% ซึ่งใกล้เคียงศักยภาพมากขึ้น

3.เสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งแม้ว่า ธปท.จะมีการออกมาตรการด้านการดูแลสินเชื่อไปแล้ว แต่ภาพรวมความเสี่ยงยังไม่ได้ลดลง และบางจุดมีการสะสมความเปราะบางเพิ่มขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในตลาดสินเชื่อรายย่อยรุนแรงขึ้น ทำให้มาตรฐานในการพิจารณาสินเชื่อหย่อนลงและมีการก่อหนี้เกินจำเป็น โดยสินเชื่อเร่งขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ขณะที่พฤติกรรมการหาผลตอบแทนสูงของนักลงทุนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

“การดำเนินนโยบายการเงิน จึงจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงเหล่านึ้ และที่สำคัญดอกเบี้ยนโยบายของประเทศใดก็ต้องตอบโจทย์ปัจจัยภายในของประเทศนั้น สำหรับคำถามที่มีความเป็นห่วงว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่แตกต่างจากประเทศภูมิภาคในขณะนี้ ซึ่งอยู่ในทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นไทยเป็นที่พักเงินที่ปลอดภัย ส่งผลให้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทย และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขณะนี้จะเห็นว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาค ดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำสุดเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับประเทศที่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่ได้เป็นสาเหตุการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นมากนัก”


กำลังโหลดความคิดเห็น