xs
xsm
sm
md
lg

เจาะหุ้นพลังงาน พบโตสวนเศรษฐกิจ ปัจจัยเสี่ยงแผน PDP-รัฐถือครอง 51% ไม่กระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โบรกฯ ประเมินโอกาสปรับแก้แผนพีดีพีใหม่ เปิดทางรัฐกุมกำลังการผลิตไฟฟ้า 51% เกิดขึ้นได้ยาก เหตุผ่านความเห็นชอบจาก กพช. และ ครม.ไปแล้ว โดยเฉพาะในระยะ 10 ปีแรก แต่หากเกิดขึ้นจริงอาจทำให้เอกชนได้รับผลกระทบหนัก พร้อมยก GULF และ BGRIM ยังเป็นหุ้นที่น่าสนใจ ชี้ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีหุ้นไฟฟ้าโตสวนเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นแก้พีดีพีส่งผลกระทบแค่เล็กน้อย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉัยกรณีกระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2018) โดยให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ส่งผลต่อสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่า หากอ้างอิงจากการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) 2018 ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.มีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้า 38% นั้น ในอนาคตมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 30% ในช่วงปลายของแผน อีกทั้งแผนผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ทำให้มีโอกาสไม่มากที่จะปรับปรุงแผนฯ ดังกล่าว อย่างไรก็ตามต้องติดตามท่าทีของรัฐบาลใหม่ต่อไป

ขณะเดียวกัน หากจะพิจารณาปรับแผนฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า พบว่าส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ทำสัญญาไปแล้ว ทำให้มองว่าจะไม่ถูกกระทบ ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดย กฟผ.เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการฯ จะยิ่งทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีมากเกินจำเป็น

ด้าน “มงคล พ่วงเภตรา” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่ฟื้นตัวขึ้นเป็นเพราะนักลงทุนผ่อนคลายแรงกดดันดังกล่าว เนื่องจากมองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นไปได้ค่อนข้างยาก และกระทรวงพลังงานน่าจะหาข้อแก้ต่างและชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้

ทำให้ประเมินว่าหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายังมีความน่าสนใจอยู่ เพราะแผนพีดีพีฉบับใหม่ยังมีการเอื้อให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลใบอนุญาตทำโรงไฟฟ้าอยู่จำนวนมาก ขณะที่มองว่าโอกาสการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้ายังมีอยู่ค่อนข้างสูง เพราะแต่ละบริษัทมีการขยายการเติบโตในต่างประเทศมากขึ้นไม่ได้พึ่งพาโครงการในประเทศอย่างเดียว และกำลังการผลิตในส่วนของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ก็มีบริษัทที่ดำเนินการไม่มาก แม้หากจะมีการแก้พีดีพีฉบับใหม่ก็เชื่อว่าไม่มีผลต่ออุตสาหกรรมรุนแรง โดยแนะนำ GULF และ BGRIM ยังเป็นหุ้นที่น่าสนใจในกลุ่มโรงไฟฟ้า

เช่นเดียวกับ “คณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ภาพรวมจากกรณีดังกล่าวอาจทำให้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายังมีโอกาสกดดันดัชนีฯ อยู่ แต่เชื่อว่าคงไม่มากแล้ว เพราะโอกาสที่จะเกิดแรงตื่นขายเหมือนก่อนหน้านี้คงลดน้อยลง เนื่องจากนักวิเคราะห์มีการออกบทวิเคราะห์หุ้น ที่จะได้รับผลกระทบหรือไม่ได้รับผลกระทบออกมาให้นักลงทุนได้พิจารณาแล้ว ซึ่งผลกระทบอาจถูกแยกเป็นรายตัวมากกว่า จึงทำให้การเทขายยกกลุ่มคงมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย

ขณะที่ “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ต้องติดตามท่าทีของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ที่จะเข้าทำหน้าที่ว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางใด ซึ่งหากมีท่าทีที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐให้เป็น 51% จริงก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้กลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนที่พึ่งพิงการเติบโตกำลังการผลิตในประเทศเป็นหลักอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากมีการประมูลโรงไฟฟ้าล็อตใหม่ตามแผน PDP2018 เอกชนก็จะเสียส่วนความเป็นเจ้าของไป 51%


นอกจากนี้ มองว่าหากเกิดขึ้นจริงก็จะกระทบเฉพาะสัดส่วนความเป็นเจ้าของในโรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นใหม่เท่านั้น ไม่มีการนำไปปรับใช้ย้อนหลัง ซึ่งกรณีแย่ที่สุดหากมีการปรับใช้กฎนี้ย้อนหลังก็จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าเอกชน ทำให้ควรหลีกเลี่ยงการเข้าลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าระยะสั้น เพราะหากประเด็นนี้ถูกนำเข้าพิจารณาโดย รมว.กระทรวงพลังงานคนใหม่จริง ก็จะทำให้อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้ามีประเด็น Overhang และมีความไม่แน่นอนจากการตัดสินใจดำเนินการของรัฐ

ดังนั้น หากจะเลือกลงทุนในโรงไฟฟ้าและมองหาการเติบโต มองว่าควรหาบริษัทโรงไฟฟ้าที่เน้นขยายธุรกิจในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ แต่ต้องมีความระมัดระวังว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้นก็มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และบางบริษัทแม้ขยายธุรกิจในต่างประเทศก็ยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบจากประเด็นคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่


ด้าน บล.กสิกรไทยฯ ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จาก กฟผ. อย่างไรก็ตาม หาก กฟผ.ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของ สตง.ก็จะต้องเพิ่มสัดส่วนการถือครองในบริษัทจดทะเบียน (RATCH หรือ EGCO) หรือเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นทางใดทางหนึ่ง

อนึ่ง กรณีของการเพิ่มสัดส่วนการถือครอง มองว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนการถือครองใน RATCH อยู่ 45% และใน EGCO อยู่ 25%

ขณะที่ในกรณีที่ให้ กฟผ.เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้มากกว่า 51% ต่อกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ มองว่าทางหน่วยงานจะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมอย่างน้อย 6.3-11.8 GW ด้วยประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ติดตั้งแล้วทั้งหมดที่ 43.3 GW ในปี 2561 และมีแผนเพิ่มเป็น 60.3 GW ในปี 2572 ขณะที่มี กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วน 36% ต่อกำลังการผลิตทั้งหมด นั่นทำให้โอกาสการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากแผนพีดีพี ปี 2561 สำหรับภาคเอกชนจะหายไปทั้งหมด ได้แก่ 1. โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ภายในประเทศ (1.4 GW ในปี 2566-2567) ที่อยู่ระหว่างการอนุมัติให้กับ RATCH 2. กำลังการผลิตส่วนนำเข้าที่ไม่มีการจัดสรร (1.4 GW ในปี 2569-2571) และกำลังการผลิตพลังงานทดแทน (3.9 GW) ทำให้แนะเลือกหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และกลุ่มรับเหมาครบวงจร (EPC) ที่มีการขยายกิจการในต่างประเทศ โดยเลือก BGRIM (ราคาเป้าหมาย 36.25 บาท) และ GUNKUL (ราคาเป้าหมาย 3.36 บาท) เป็นหุ้นเด่น ทั้งนี้ ด้วยการที่ SPP ได้ประโยชน์จากแผนการแทนที่กำลังการผลิตเก่า กำลังอยู่ระหว่างการรออนุมัติ PPA

ทั้งนี้ รายงานจากตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ที่ผ่านมาภาพรวมการเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2562 พบว่ายังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีปัจจัยลบจากกรณีดังกล่าวเข้ามากดดันทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง แต่โดยรวมเป็นการปรับตัวลงที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการทะยานขึ้นของราคาหุ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี

เริ่มที่ EGCO ต้นปีอยู่ที่ระดับ 246 บาท/หุ้น ปัจจุบัน (9 ก.ค.) อยู่ที่ 330 บาท/หุ้น สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยลบดังกล่าวกดดันราคาหุ้นได้เพียงเล็กน้อย ขณะที่ RATCH ต้นปีอยู่ที่ระดับ 50.75 บาท/หุ้น ปัจจุบัน (9 ก.ค.) อยู่ที่ 65.25 บาท/หุ้น จากจุดสูงสุดที่ทำได้ 67.00 บาท/หุ้น ด้าน GPSC ต้นปีอยู่ที่ระดับ 58.75 บาท/หุ้น ปัจจุบัน (9 ก.ค.) อยู่ที่ 70.50 บาท/หุ้น จากจุดสูงสุด 74.25 บาท/หุ้น ด้าน GULF ต้นปีอยู่ที่ 83.50 บาท/หุ้น ปัจจุบัน (9 ก.ค.)อยู่ที่ 124.50 บาท/หุ้น จากจุดสูงสุด 130.00 บาท/หุ้น และ BGRIM ต้นปีอยู่ที่ 26.50 บาท/หุ้น ปัจจุบัน (9 ก.ค.) อยู่ที่ 36.50 บาท/หุ้น จากจุดสูงสุด 36.75 บาท/หุ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น