xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้ามินบู ขุมทรัพย์ใหม่ "สแกนอินเตอร์"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN
คุยกับ ดร.ฤทธี กิจพิพิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCN

มากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา บริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) ได้เริ่มต้นขึ้นมาจากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างระบบพลังงาน มีการสร้างบางส่วนของโรงกลั่น ปั๊มน้ำมัน ถังน้ำมันฯลฯ กระทั่งก๊าซ NGV ได้เข้ามามีบทบาทที่ดีในประเทศไทย และด้วยความโชคดีประกอบกับการเป็นมืออาชีพจึงได้เข้ามาเป็นคนแรกที่สร้างสถานี NGV ให้กับบริษัท ปตท. จำกัด ในประเทศไทย เกิดเป็นโรงงาน และกลายมาเป็นผู้ที่สร้างสถานีและเป็นผู้ซ่อมบำรุงมากที่สุดในประเทศไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านจนถึงวันนี้ บริษัทสแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) ถือได้ว่าเป็นผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่สร้างธุรกิจบริการด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งยังมีความปลอดภัยสูงและราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ครอบคุลมอย่างครบวงจร ซึ่งธุรกิจของ SCN นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับก๊าซ 2.ธุรกิจยานยนต์ 3.ธุรกิจพลังงานทดแทน
 
โดยปัจจุบัน ดร.ฤทธี กิจพิพิจ เป็นผู้นั่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน)
 
เป็นผู้นำด้าน NGV

“เราเล็งเห็นว่าก๊าซ NGV เริ่มเข้ามามีบทบาทที่ดีในประเทศไทยจึงตัดสินใจสร้างโรงงานโดยออกแบบ รับเหมา ติดตั้งและซ่อมบำรุงสถานีบริการ NGV โดยการออกแบบระบบการเติม NGV ผลิตและจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อนำไปติดตั้งที่สถานีบริการ NGV ซึ่งชุดอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติประกอบด้วย เครื่องอัดก๊าซธรรมชาติ (Compressor) อุปกรณ์ระบายความร้อน (Heat Exchanger) มอเตอร์ ถังก๊าซ ตู้จ่ายก๊าซ (Dispenser) เป็นต้น นอกจากนั้นบริษัทฯ ให้บริการทดสอบถังก๊าซธรรมชาติ ให้บริการซ่อมบำรุงสถานีบริการ NGV ซ่อมแซมและบำรุงรักษาอุปกรณ์ในสถานีบริการ NGV ให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยังคงรักษาประสิทธิภาพตามระยะเวลาดำเนินงาน ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ให้บริการตามสัญญารับเหมาก่อสร้าง และติดตั้งระบบอุปกรณ์การเติม NGV แก่สถานีบริการ NGV เป็นจำนวน 250 สถานี จากทั้งหมด 503 สถานีในประเทศไทย และรับเหมา ก่อสร้างสถานีหลัก (Mother Station) ให้กับ ปตท. จำนวน 12 สถานี จาก 17 สถานีทั่วประเทศไทย

“หลังจากมีการสร้างสถานีบริการ NGV และซ่อมบำรุงแล้ว เรายังได้รับสัมปทานจากบริษัท ปตท. จำกัด ในการผลิตก๊าซ NGV จากสถานีบริการก๊าซธรรมชาติหลักเอกชน (พีเอ็มเอส) อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ไปยังสถานีบริการลูกในพื้นที่ต่างๆ ตามที่บริษัทฯ และปตท. ตกลงร่วมกันภายใต้สัญญาจ้างขนส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ทางรถยนต์ระหว่างบริษัทฯ กับปตท. ซึ่งทุกวันนี้บริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) ผลิตก๊าซและขนส่งก๊าซให้กับสถานี NGV 70-80 สถานีในบริเวณภาคกลางทั้งหมดโดยมีสัญญาขั้นต่ำ 350 ตันต่อวัน หรือว่า 350,000 กิโลกรัมต่อวัน

“จากเรื่องของก๊าซทำให้เรามีความเชี่ยวชาญในการนำก๊าซจากท่อไปสู่การใช้งานนอกแนวท่อ นั่นหมายความว่าสถานี NGV ต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่บนแนวท่อจะสามารถใช้แก๊สได้จากการอัดแก๊สและขนส่งไปยังสถานีต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งเราก็ได้นำไปประยุกต์ให้เข้ากับโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เรามีโครงการที่เรียกว่า ICNG ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกแนวท่อจะชอบมาก เพราะโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้จะได้มีโอกาสใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด บริสุทธิ์ ไม่ก่อให้เกิด PM 2.5 และเป็นเชื้อเพลิงที่ประหยัดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ ในตลาด อีกทั้งวิธีการขายของเราจะเป็นการขายอิงกับราคาน้ำมันเตา พูดง่ายๆ คือรวมกับค่าขนส่งไปแล้วยังประหยัดเมื่อเทียบกับน้ำมันเตาอยู่ ประกอบกับประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่ได้สูงขึ้นเวลาที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่นอกแนวท่อก๊าซธรรมชาติและลูกค้าที่อยู่บนแนวท่อที่ต้องการเชื้อเพลิงสำรองในกรณีฉุกเฉิน (Energy Security) กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างรอการดำเนินการเดินแนวท่อก๊าซ และรวมถึงกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นรักษาสิ่งแวดล้อม”

ขยายฐานสู่ยานยนต์

“นอกจากนี้ด้วยความที่เราทำก๊าซ NGV ทำให้เราได้มาเป็นผู้ติดตั้งก๊าซในรถยนต์ด้วย เราได้เป็นผู้ติดตั้งก๊าซให้กับผู้ผลิตรถรายใหญ่หลายราย หลังจากนั้นเราจึงได้รับโอกาสทำธุรกิจยานยนต์ และเริ่มให้บริการจำหน่ายรถยนต์ และศูนย์บริการซ่อมมาตรฐานรถยนต์มิตซูบิชิอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2555 โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์มิตซูบิชิ สแกน อินเตอร์ 2 สาขา ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีและสาขา 2 ที่ถนนซ่อมสร้าง ตำบลบางพูน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

“อีกทั้งยังได้ลงนามในสัญญาศูนย์ซ่อมสีและตัวถังกับ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (“มิตซูบิชิ”) โดยบริษัทฯ มีศูนย์บริการซ่อมสีและตัวถัง จำนวน 2 สาขา ที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และถนนซ่อมสร้าง ตำบลบางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี ด้วย แต่ทั้งนี้เราไม่ได้หยุดอยู่แค่แบรนด์มิตซูบิชิอย่างเดียว ซึ่งล่าสุดเราก็ทำสำเร็จด้วยการขายและส่งมอบรถเมล์ NGV 489 คัน ที่เราร่วมทำกับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ด้วยครับ”

สยายปีกสู่พลังงานไฟฟ้า

“บริษัท สแกน อินเตอร์ (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนและสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร โดยได้เลือกใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากผู้ผลิตนานาประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เพื่อตอบรับนโยบายความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ

“หลายๆ คนอาจจะคิดว่าบริษัททำธุรกิจเกี่ยวข้องกับก๊าซ และธุรกิจยานยนต์ ไม่ได้ทำเกี่ยวกับด้านพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนมากขนาดนั้น แต่จริงๆ แล้ว เราเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ทำพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งเรามีโรงไฟฟ้าโรงแรก 1.25 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ Adder 8 บาท ที่เราได้มาเมื่อสมัยสิบปีที่แล้ว ก่อนที่สแกน อินเตอร์ จะลิสต์เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ เราก็ได้ขายหุ้นในโรงไฟฟ้า 2 โรงนั้นไป ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทย เรายังมีโรงไฟฟ้าอยู่ 2 โรง รวมทั้งหมด 6 เมกะวัตต์ 5 เมกะวัตต์ อยู่ที่ จ.นครปฐม อีก 1 เมกะวัตต์ อยู่ที่ จ. กาฬสินธุ์

“ล่าสุด เราก็ได้ร่วมมือกับบริษัทเมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) เข้าไปร่วมก่อสร้างโรงไฟฟ้ามินบู ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 220 เมกะวัตต์ ที่ ณ วันนี้ถือว่าใหญ่เป็นเบอร์ต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เราได้เป็นกลุ่มนักธุรกิจคนไทยที่เข้าไป Develop โรงไฟฟ้าที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้าน”

โรงไฟฟ้ามินบู เมียนมาร์ ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ได้เปิดตัวเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกกะวัตต์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“โรงไฟฟ้ามินบู ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ถือเป็นโรงไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นธุรกิจที่บริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) ร่วมมือกับบริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน)

“ถ้าพูดถึงเมืองมินบู ตั้งอยู่ที่รัฐแมกเวย์ ซึ่งอยู่ติดกับเนปิดอร์เมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ผมได้ลงพื้นที่ไปยังเมืองนั้น และสิ่งที่ผมประทับใจนอกเหนือจากธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพรที่สวยงาม ความผจญภัย ความแปลกใหม่ของการเดินทางไปที่นั่นแล้ว ก็คือ ‘เหตุผล’ ของการไปทำโรงไฟฟ้าที่นั่น

“ถ้าหลายคนเคยไปประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จะเห็นได้ว่านั่งอยู่ดีๆ ไฟก็ดับตลอด ไฟฟ้ามีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยเฉพาะตอนกลางวัน ซึ่งเราทราบมาว่าไฟฟ้าที่นั่นสามารถเข้าถึงประชาชนได้เพียง 30 เปอร์เซ็นเท่านั้น

“โดยจุดประสงค์ที่เราเข้าไปทำโรงไฟฟ้าที่ประเทศนั้นไม่ใช่เพื่อโลกสวย ไม่ใช่เพื่อเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นความจำเป็นของประเทศเขาด้วย เราได้ช่วยพัฒนาประเทศเขา ได้ผลิตไฟฟ้าให้สำหรับคนที่ต้องการใช้งานและตอบโจทย์ความต้องการจริง เหตุนี้ทำให้ผมเล็งเห็นความสำคัญที่จะเข้าไปลงทุน ภูมิใจนะครับที่เราได้เป็นกลุ่มนักธุรกิจคนไทยที่ได้เข้าไปพัฒนาโรงไฟฟ้ามูลค่าหลักหมื่นล้าน ได้เป็นคนผลิตไฟฟ้าให้กับ โรงพยาบาล โรงเรียน หน่วยงานราชการต่างๆ ฯลฯ”


“ผมมองว่าโครงการมินบูเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดี มีศักยภาพ โดยจะมุ่งมั่นพัฒนาให้โครงการมีความแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จ โดยโครงการเริ่ม COD เฟส 1 ขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ แล้ว และจะทยอยก่อสร้างเฟสที่ 2, 3 และ 4 ให้แล้วเสร็จตามลำดับต่อไป โดยจากความสำเร็จในเฟสแรกนี้แม้เป็นเพียงก้าวแรกของโครงการ แต่เราเชื่อมั่นว่าการก่อสร้างเฟสต่อๆ ไปจะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีเช่นกัน อีกทั้งหลังจากโครงการ COD แล้ว SCN จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน GEPT เป็น ร้อยละ 40 ซึ่งจะส่งผลให้การรับรู้กำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วยครับ

“อนาคตการลงทุนในต่างประเทศ เราไม่ได้มองแค่ที่เมียนมาร์แต่ยังมีประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่วนขยายเราต้องมาดูกันว่าในโครงการต่อไปจะเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างพิจารณาศึกษาการลงทุนในประเทศเวียดนามและใกล้เคียง ล่าสุดผมได้ลงพื้นที่ไปดูความเป็นอยู่ ไปดูธรรมชาติ และความเป็นไปได้ในการลงทุน และประเทศอินโดนีเซียที่เราไปดูงานที่เกี่ยวกับก๊าซ ซึ่งก็มีแผนที่จะขยายไปประเทศอื่นๆ ต่อไปแต่ตรงนี้ต้องดูเรื่องความเป็นไปได้ เรื่องการเงิน เรื่องกฎหมาย หลังจากนั้นถึงค่อยตัดสินใจว่าเราจะไปลงทุนประเทศอะไรเพิ่มเติมครับ”

กุญแจสำคัญไขสู่การลงทุนทำธุรกิจ ณ ต่างแดน

หากมองหาโอกาสในการลงทุน การคำนึงถึงความเสี่ยงในด้านต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญ “ต้องดูความเสี่ยงเป็นอันดับแรกครับ เพราะความเสี่ยงมาจากหลายทางมากเลย โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายและสัญญาต่างๆ เพราะเป็นไปได้ยากมากที่คนไทยคนหนึ่งจะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศที่ไม่เคยไปมาก่อน และต้องหาสัญญา สัมปทาน หางานเข้ามาได้ ซึ่งตรงนี้ต้องมีคนพาไปหรือแนะนำเราเข้าไป ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก

“อย่างโครงการโรงไฟฟ้ามินบู กว่าจะผ่านมาได้ก็มีอุปสรรคปัญหาเยอะมากครับ หนึ่งเลยคือไม่ได้อยู่ในประเทศไทย และประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ไม่ได้เปิดประเทศมานาน ทำให้เวลาที่เข้าไปติดต่องานต่างๆ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ เราต้องไปติดต่อหน่วยงานระดับใหญ่ ซึ่งโรงไฟฟ้ามินบูเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่มากๆ และต้องทำเพื่อเมืองหลวงเขาด้วย กว่าจะได้ใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า มาก็ยากพอสมควรครับ

“นอกจากนี้ต้องดูความเป็นไปได้ของธุรกิจ เพราะการหาเงินก็สำคัญ แน่นอนว่าการทำธุรกิจต้องใช้เงินเราบางส่วน ใช้เงินกู้บางส่วน ถ้าธุรกิจไม่ดีจริงหรืออยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงมากๆ การหาเงินจะยากตามไปด้วย เพราะอาจทำให้ธนาคารปล่อยกู้ยากขึ้นด้วยครับ”
 
หลักการบริหารแบบ CEO บริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน)

เน้นโฟกัสไปที่ HR ก่อน โฟกัสไปที่บุคคลก่อน
“ผมจะโฟกัสไปที่ HR ก่อน โฟกัสไปที่บุคคลก่อน ซึ่งอาจจะแตกต่างจากภาพลักษณ์ของบริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) สมัยก่อนที่คุณพ่อเป็นคนบริหาร ซึ่งอาจด้วยเพราะเป็นคนละฐานะกันด้วย จากเมื่อก่อนทางคุณพ่อจะเน้นเรื่องการลงรายละเอียดเอง ลงไปเรียนรู้แม้กระทั่งว่าน็อตตัวไหนจะต้องใส่ไปในเครื่องจักรตัวไหน เรื่องการวางแผน การก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ คุณพ่อจะทำได้อย่างเป็นมืออาชีพมาก แต่เวลาที่บริษัทเริ่มเติบโตขึ้น เริ่มเป็นบริษัทมหาชน เริ่มเป็นบริษัทที่แทนที่เราจะทำแค่ 1 โครงการต่อครั้ง เราก็ทำหลายโครงการ ประกอบกับที่เราเข้าไปทำธุรกิจหลักหมื่นล้านแล้ว ถ้าเกิดเราจะเข้าไปลงรายละเอียดในทุกอย่างในฐานะ CEO คงคิดว่าน่าจะมีเวลาไม่เพียงพอ

“ดังนั้นเราเลยต้องใช้วิธีการสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพให้มากขึ้น โดยสวัสดิการต่างๆ เราก็ต้องคำนึงและมองว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่พนักงานมีความสุข เขาก็จะทำงานได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายคนที่เป็นนายจ้างก็จะมีความสุขไปด้วย ฉะนั้นการบริหารที่ดีคือต้องทำให้ทุกคนมีความสุขทั้งหมด เพราะจะได้ทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”


กำลังโหลดความคิดเห็น