xs
xsm
sm
md
lg

แจง“จ๊ะ อาร์สยาม-ลูกบ้าน”เดอะวิลล่า ซื้อ-ขายบ้านไม่ได้ เพียงติดกระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ ย้ำกรรมสิทธิ์ยังเป็นของลูกบ้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“เรสซิเด้นท์ฯ” แจงกรณี “จ๊ะ อาร์สยาม” และลูกบ้าน1,495หลังคาเรือนในโครงการเดอะวิลล่า โวยซื้อบ้านถูกต้อง แต่ไม่สามารถทำธุรกิจซื้อ-ขายได้ เพียงแค่ขั้นตอนพิทักษ์ทรัพย์ ตามกระบวนการตรวจสอบการซื้อขายที่ดินในอดีต วอนกรมบังคับคดีเร่งดำเนินการ ลูกบ้านอย่าพึ่งตกใจเกินเหตุ ชี้กรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของลูกค้า มั่นใจการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน 164 ไร่ กฎหมายถูกต้อง ระบุคำวินิจฉัยไม่มีผลต่อผลการทำนิติกรรมหลังจากปี 2552 พร้อมตั้งทีมรับคำร้องช่วยเหลือลูกบ้านใน 3 โครงการที่ได้รับผลกระทบ
พรชัย เกตุเล็ก
จากกรณี ที่นางสาวนงผณี มหาดไทย หรือ “จ๊ะ อาร์สยาม” นักร้องลูกทุ่งชื่อดังและลูกบ้านใน 3 โครงการ โครงการเดอะวิลล่า โครงการเพอร์เฟคพาร์ค และโครงการโมดิวิลล่า ได้ออกมาเปิดเผยถึงความเดือดร้อนจากกรณีการซื้อบ้านเดี่ยวในโครงการเดอะวิลล่า บางบัวทอง ของบริษัท เรสซิเด้นท์ นัมเบอร์ ไนน์ จำกัด แล้วไม่สามารถขายต่อ ไม่สามารถทำธุรกรรมซื้อ-ขายได้ เนื่องจากที่ดินในโครงการดัง อยู่ในขั้นตอนการถูกพิทักษ์ทรัพย์จากกรมบังคับคดี

ล่าสุด นายพรชัย เกตูเล็ก กรรมการ บริษัท เรสซิเด้นท์ นัมเบอร์ ไนน์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการเดอะวิลล่า บางบัวทอง ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา กรมบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองล้มละลายกลางที่ 3 ได้ทำหนังสือแจ้งต่อกรมที่ดินว่า ที่ดิน จำนวน164 ไร่ ซึ่งมีการนำมาพัฒนาหมู่บ้านจัดสรร 3โครงการ ประกอบด้วย โครงการเดอะวิลล่า โครงการเพอร์เฟคพาร์ค และโครงการโมดิวิลล่านั้น อยู่ในข่ายถูกเพิกถอน พร้อมกันนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้มีการขอทราบราคาประเมินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าว ภายหลังจากที่ลูกบ้านเดิมของโครงการแสงอรุณจำนวน 13 ราย ได้ยื่นเรื่องของให้กรมบังคับคดีดำเนินการยื่นฟ้องศาล เนื่องจากยังไม่ได้รับการเยียวยาจากเจ้าของโครงการเดิมหลังจากที่ถูกฟ้องล้มละลาย

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี2539 ซึ่ง บริษัท สมประสงค์แลนด์ จำกัด นำที่ดินแปลงดังกล่าวมาพัฒนาหมู่บ้านจัดสรร ภายใต้ชื่อ หมู่บ้านแสงอรุณ และต่อมาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2544 บริษัท สมประสงค์แลนด์ จำกัด ถูกฟ้องล้มละลายและยึดทรัพย์ที่ดินไปอยู่ใน บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เพื่อทำการขายทอดตลาดที่ดิน ซึ่งต่อมาบริษัท วินเซอร์ เฮ้าส์ จำกัด ได้เข้าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวไป และมีการขายต่อให้กับ บริษัทวินเซอร์ จำกัด ซึ่งในวันเดียวกันคือ 30 ก.ย.2551 บริษัท วินเซอร์จำกัด ได้มีการขายต่อให้กับบริษัท เรสซิเด้นท์ นัมเบอร์ไนน์ จำกัด และได้นำที่ดินแปลงนี้มาขออนุญาตจัดสรรและพัฒนาโครงการจัดสรร3โครงการดังกล่าวข้างต้น

แต่ต่อมาในปี 2554 ลูกบ้านที่ซื้อหมู่บ้านแสงอรุณ จำนวน13 รายได้ยื่นฟ้อง บริษัท สมประสงค์แลนด์ เพราะยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากการล้มละลาย และถูกยึดทรัพย์ไป แต่เนื่องจากการดำเนินการฟ้องร้องดังกล่าว ลูกบ้านของบริษัทแสงอรุณทั้ง13รายนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขั้นตอนดังกล่าว ต้องเป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดีที่ต้องเข้ามาทำหน้าที่แทนผู้เสียหาย ดังนั้น กองล้มละลายกลางที่ 3 ซึ่งรับหน้าที่จึงได้มีการส่งหนังสือแจ้งต่อกรมที่ดิน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา

นายพรชัย กล่าว่า หลังจากกรมบังคับคดี ได้ยื่นหนังสือถึงกรมที่ดิน ให้พิทักษ์ทรัพย์ 164 ไร่ ซึ่งมีการพัฒนาหมูบ้านจัดสรร3โครงการ จำนวน1,495ยูนิต ซึ่งขณะนี้มีการขายไปแล้วกว่า90% ทำให้ที่ดินทั้งหมดใน3โครงการดังกล่าวไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ ได้ตามกฎหมาย เพื่อรอกระบวนการตรวจสอบจากกรมบังคับคดี

ดังนั้น บริษัทในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้กรมบังคับคดีเร่งดำเนินการพิสูจน์ และตรวจสอบกรณีดังกล่าวให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าวจำนวนมาก


ขณะเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือลูกบ้านใน3โครงการที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น บริษัท ได้ตั้งทีมรับเรื่องร้องเรียนเพื่อเยียวยาลูกบ้านที่ได้รับผลกระทบและความเสียหาย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งบริษัทยินดีชดเชยค่าเสียหาย จากกรณีที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีของการถือกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของลูกค้านั้น ของให้ลูกบ้านมั่นใจได้ว่า ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านเหมือนเดิม เนื่องจากการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนั้น จะเป็นการตรวจสอบการทำนิติกรรมในกรอบของกฎหมายใน3เรื่องหลัก คือ การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นว่า นิติกรรมที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ นิติกรรมทีเกิดขึ้นสุจริตหรือไม่ และนิติกรรมซื้อ-ขายที่ดินที่เกิดขึ้นในช่วงปี2551-2552นั้น มีผลให้เจ้าหนี้ และลูกหนี้ มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการย้อนไปวินิจฉัยนิติกรรมในปี 2551-2552 นั้น กระทำโดยชอบหรือมิชอบอย่างไรนั้น ก็ไม่มีผลต่อผลการทำนิติกรรมหลังจากปี 2552 เพราะการทำนิติกรรมหลังปี 2552 นั้น ไม่ได้ถูกรื้อฟื้นนำมาพิจารณาใหม่ด้วย ดังนั้น ผลจากการตรวจสอบและพิจารณาของเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีในกรณีดังกล่าว จะไม่มีผลต่อกรรมสิทธิการครอบครองของลูกบ้านใน 3 โครงการ หรือถูกยึดทรัพย์แต่อย่างใด.
กำลังโหลดความคิดเห็น