มองแนวโน้มธุรกิจ AOT โบรกฯ เชื่อขยายตัวได้อีกในระยะยาวจากหลายโครงการที่ทยอยแล้วเสร็จ คาดเติบโต 17% ในช่วง 2 ปีจากนี้ และขยับขึ้นเป็น 39% ตั้งแต่ปี 2564 ผลภาพรวมธุรกิจขนส่งทางอากาศฟื้นตัวอย่างชัดเจน อีกทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสธุรกิจ e-commerce โลก
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มธุรกิจ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ว่า ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 86 บาท หลังจากราคาหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจากผลตอบแทนการประมูลดิวตี้ฟรี-เชิงพาณิชย์ที่สูงกว่าคาด ทำให้ยังชอบ AOT จากการเติบโตระยะยาวที่น่าสนใจ และยังมี upside เพิ่มจากโครงการใหม่ๆ ที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนในปลายปีนี้ เช่น โครงการ Pick Up Counter สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการ Airport City ที่จะมีความชัดเจนภายในปีนี้ รวมถึงโครงการดิวตี้ฟรี-เชิงพาณิชย์สนามบินดอนเมือง ที่จะสิ้นสุดสัญญาเดิมในปี 2565 คาดว่าการประมูลครั้งใหม่จะมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ส่วนในด้านการเติบโตของกำไรสุทธิระยะยาวยังน่าสนใจ โดยในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562 (ต.ค.2561-ก.ย. 2562) - 2564 (ต.ค. 2563-ก.ย. 2564) จะเติบโตเฉลี่ย 17% ต่อปี โดยเฉพาะในปี 2564 จะเติบโตก้าวกระโดด 39% เนื่องจากเริ่มรับรู้รายได้สัญญาใหม่จากคิงเพาเวอร์ 2.35 หมื่นล้านบาท รวมถึงจะได้ผลบวกจากการเปิดให้บริการอาคาร Satellite สนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะเริ่มเปิดใช้งานได้ในเดือน ต.ค.-พ.ย. ปีหน้า ทำให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคน/ปี
ปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite Terminal) สนามบินสุวรรณภูมิ มีจำนวน 28 หลุมจอด โดย AOT ประเมินว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2563 และจะมีการทดลองใช้อีก 6 เดือน ก่อนจะเปิดใช้งานจริงในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2563 ซึ่งการเปิดอาคารใหม่จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี และ AOT จะเริ่มรับรู้รายได้จากอาคารใหม่ในงบการเงินปี 2564 (ต.ค. 2563-ก.ย. 2564)
ขณะเดียวกัน มองว่า AOT ยังมีอีกหลายโครงการที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นในอนาคต โดยเฉพาะรายได้จาก Non-Aero ได้แก่ โครงการ Pick Up Counter สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในปีนี้, โครงการดิวตี้ฟรี-เชิงพาณิชย์สนามบินดอนเมือง ที่จะสิ้นสุดสัญญาเดิมในปี 2565 คาดว่าการประมูลครั้งใหม่จะมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น, โครงการ Airport City จำนวนที่ดินรวม 1,400 ไร่ แบ่งที่ดินแปลง 37 จำนวน 700 ไร่ อยู่ระหว่างการปรับสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ ที่จะขยายอายุสัญญาเช่าอีก 30 ปี เป็นสิ้นสุดปี 2055 ทำให้เอกชนมั่นใจที่จะลงทุนในระยะยาวได้ และที่ดิน 700 ไร่ของ AOT อยู่ระหว่างการขอปรับผังเมืองให้เป็นพื้นที่สีน้ำเงินเพื่อทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งคาดว่าพื้นที่ 2 แห่งจะมีความชัดเจนในปีนี้ และจะเริ่มสร้างรายได้ในปี 2564 สำหรับโครงการศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) คาดจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2563
สอดคล้องกับ บล.เคจีไอ ซึ่งเชื่อว่าประเด็นสำคัญก็คือ King Power จะจ่ายผลตอบแทนให้ AOT อย่างน้อย 2.35 หมื่นล้านต่อปีสำหรับสัญญาทั้งสามฉบับเป็นเวลา 10.5 ปี (28 กันยายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2574) คิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนรวมของสัญญาทั้งสามฉบับที่ 2.47 แสนล้านบาท นอกจากการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้ว บริษัทยังตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินอีกจากการขยายธุรกิจ cargo, การพัฒนาเมืองสนามบิน และการริเริ่มนำ platform ดิจิทัลมาใช้ นอกจากนี้ คาดว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าบริการผู้โดยสาร (PSC) อีก หลังจากที่เปิดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่ 2 ทำให้ยังคงคำแนะนำซื้อ และให้ราคาเป้าหมายที่ 88.00 บาท
ทั้งนี้ ผู้บริหารสูงสุดของ AOT ได้ตอบคำถามบางข้อเกี่ยวกับการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบริษัทประกาศว่า King Power ชนะการประมูลทั้งสามสัญญา (ร้านค้าปลอดภาษีที่สุวรรณภูมิ และสนามบินในต่างจังหวัดอีกสามแห่ง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ และพื้นที่ค้าปลีกที่สนามบินสุวรรณภูมิ) ประเด็นสำคัญก็คือ King Power จะจ่ายผลตอบแทนให้ AOT อย่างน้อย 2.35 หมื่นล้านต่อปีสำหรับสัญญาทั้งสามฉบับเป็นเวลา 10.5 ปี (28 กันยายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2574) คิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนรวมของสัญญาทั้งสามฉบับที่ 2.47 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินอีกจากการขยายธุรกิจ cargo รวมถึงการพัฒนาเมืองสนามบิน และการริเริ่มนำ platform ดิจิทัลมาใช้ ซึ่งจากการประเมินของ Boeing ธุรกิจขนส่งทางอากาศ (air cargo) ของโลกในช่วงปี 2561-2580 พบว่าปริมาณการขนส่งทางอากาศฟื้นตัวอย่างเต็มที่แล้วเมื่อปี 2560 หลังจากที่อุปสงค์อ่อนแอมาหลายปี และการฟื้นตัวก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยปริมาณการขนส่งในปี 2561 กลับมาโตถึง 10.1% สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยระยะยาวที่ 4.2% ถึงกว่าเท่าตัว ส่วนในปี 2561 การขนส่งทางอากาศที่วัดโดย รายได้/ตัน/กม. (revenue ton-kilometers หรือ RTK) ก็คาดว่าจะโต 4% และรายได้จากการขนส่งทางอากาศก็คาดว่าจะสูงกว่า 1 แสนล้านเหรียญ
ไม่เพียงเท่านี้ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็ทำให้ธุรกิจ e-commerce เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา โดย e-commerce ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่กระจายไปทั่วโลก นำโดยจีน ทั้งนี้ การที่จีนยังคงเคลื่อนเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคทำให้ยอดขายธุรกิจ e-commerce ของจีนโตถึงเกือบ 40% ใน 5 ปีหลังมานี้ และในปัจจุบันก็มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.1 ล้านล้านเหรียญ ตลาด e-commerce ที่ใหญ่รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมียอดขาย e-commerce ในปี 2560 อยู่ที่ 4.50 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2559 และเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 โดยรวมแล้วคิดว่า AOT กำลังขยับไปในทิศทางที่สอดคล้องกับกระแสโลก
ขณะเดียวกัน เมื่อดูที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบิน คาดว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าบริการผู้โดยสาร (PSC) อีก ทั้งในส่วนของผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศ เนื่องจากคาดว่า AOT จะยื่นขออนุญาตขึ้นค่า PSC กับรัฐบาลหลังจากที่เปิดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่สอง โดยปัจจัยสนับสนุนหลักคือ PSC ที่สนามบิน Changi ของสิงคโปร์อยู่ที่ 845 บาท (SGD34) สูงกว่าของ AOT 20%