เปิดเบื้องหลัง 16 บจ.ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย “SP ห้ามซื้อขาย” ก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กลับเข้ามาซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน ระบุสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไม่สามารถนำส่งงบการเงิน - ผู้สอบบัญชีไม่รับรอบงบการเงิน รวมถึงส่วนของผู้ถือหุ้นลดเหลือไม่ถึง 50% พร้อมเตือนให้นักลงทุนตัดสินใจอย่างรอบคอบก่อนลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผุดไอเดียเด็ดในการให้ความช่วยเหลือนักลงทุน ที่ติดค้างอยู่ในหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ถูกขึ้น SP : SUSPENSION ห้ามการซื้อขายกลับมาซื้อขายเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่ 1 -31 ก.ค. 62 หลังจากนั้นจะถูก SP ต่อไปจนกว่าบจ.จะแก้ไขให้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะกลับมาซื้อขายตามปกติได้ โดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้าข่ายรวม 16 หลักทรัพย์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ไม่ส่งงบการเงินเกินกำหนดระยะเวลานาน และ กลุ่มที่ฐานะการเงินไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ ตลท.กำหนด ประกอบด้วย บมจ. แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป (A5), บมจ.บลิส-เทล (BLISS), บมจ.บางกอกสหประกันภัย (BUI), บมจ.ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) (CHUO), บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH), บมจ.จี สตีล (GSTEL) บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC), บมจ.เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ (KC), บมจ.เคเทค คอนสตรัคชั่น (KTECH), บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC), บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG),บมจ.โพลาริส แคปปิตัล (POLAR), บมจ. โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) (PRO) และ บมจ.ซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง (STHAI)
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ บมจ.ทรีซิกตี้ไฟว์ (TSF) และ บมจ.วีรีเทล (WR) ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ถูกหยุดพักการซื้อขาย (SP) ต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 เดือน และยังไม่เคยได้รับอนุญาตให้เปิดซื้อขายนับตั้งแต่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP โดยเมื่อครบระยะเวลาการเปิดซื้อขายดังกล่าว (ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ตลท. ได้วางหลักเกณฑ์ในการซื้อขายหุ้นชั่วคราวที่ติดเครื่องหมาย "SP" เพื่อให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการซื้อขายโดยกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องซื้อด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) และขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-Compliance) กำกับตลอดระยะเวลาที่ให้มีการซื้อขาย หลังจากวันที่ 31 ก.ค. 62 หลักทรัพย์จะถูก SP ต่อไปจนกว่า บจ.จะแก้ไขให้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะกลับมาซื้อขายตามปกติได้
อย่างไรก็ตาม 16 บจ. ที่ได้รับอนุญาตซื้อขายชั่วคราว ในอดีตต่างเป็นหนึ่งในหุ้นที่เก็งกำไรร้อนแรง บางบจ.มีการเสนอข่าวเพื่อกระตุ้นราคาหุ้นอยู่เป็นระยะ แต่ถึงที่สุดแล้วบริษัทเหล่านั้น ต่างประสบปัญหาทางการเงินทั้งสิ้น ถูกพักการซื้อขายหุ้น จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และมีความเสี่ยงที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
1.บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ A5 (ชื่อเดิมคือบริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ADAM) ได้เปลี่ยนชื่อเมื่อ 17 พ.ค.62 ที่ผ่านมา เข้าซื้อขายครั้งแรก 17 พ.ย. 46 ราคาไอพีโอ 3.50 บาท/หุ้น ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่15 พ.ย.59 และแม้ว่า A5 จะถูกปลดเครื่องหมาย SP จากการนำส่งงบการเงินดังกล่าวแล้วออกในวันที่ 18 พ.ย.59 แต่ทาง ตลท.ก็ยังคงสั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ A5 ต่อไปโดยคงเครื่องหมาย SP ไปจนกว่า A5 จะแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด
2.บริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) หรือ BLISS เข้าเทรดเมื่อ 13 ธ.ค.47 ราคาหุ้น IPO ที่ 6.20 บาท/หุ้น ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.55 เนื่องจากไม่สามารถนำส่งงบการเงินได้ภายในเวลากำหนด ราคาหุ้นก่อนขึ้น SP อยู่ที่ 0.04 บาท/หุ้น
3.บริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BUI เข้าเทรดเมื่อ 22 ธ.ค.31 แต่กลับถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.60 จากการที่บริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด
4.บริษัท ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CHUO เข้าเทรด 31 ม.ค. 45 ราคาหุ้น IPO ที่ 8.25 บาท/หุ้น ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.61 จากการไม่สามารถส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดราคาหุ้นปิดการซื้อขายก่อนหน้าที่ 4.42 บาท/หุ้น
5.บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH เข้าเทรด 15 ม.ค.39 ราคาหุ้น IPO ที่ 42.00 บาท/หุ้น ถูกขึ้น SP ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.61 เนื่องจากไม่นำส่งงบการเงินตามภายในระยะเวลาที่กำหนด ราคาหุ้นปิดการซื้อขายก่อนถูกขึ้น SP ที่ 1.46 บาท/หุ้น ขณะนี้ EARTH อยู่ในช่วงของการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อศาลล้มละลายกลาง
6.บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GSTEL เข้าเทรด 25 ม.ค.49 ราคาหุ้น IPO ที่ 1.60 บาท/หุ้น ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่ 15 พ.ย.61 เนื่องจากบริษัทไม่นำส่งงบการเงินและอาจเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ โดยมีราคาหุ้นปิดการซื้อขายก่อนหน้าที่ 0.13 บาท/หุ้น
7.บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เข้าเทรด 6 พ.ค.31 ราคา IPO ที่ 40.00 บาท/หุ้น บริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย SP กว่า 10 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 61 โดยมีราคาหุ้นปิดการซื้อขายก่อนหน้าที่ 3.10 บาท/หุ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังประสบปัญหากิจการภายในจนทำให้บริษัทอาจเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์
8.บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC เข้าเทรด 5 ต.ค.37 ราคา IPO ที่ 78.00 บาท/หุ้น บริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย SP มากกว่า 10 ครั้งตั้งแต่ปี 58 และครั้งล่าสุดถูกจัดให้เป็น บจ. ที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์เนื่องจากไม่สามารถนำส่งงบการเงินในเวลาที่กำหนดไว้ ขณะที่ราคาหุ้นปิดการซื้อขายก่อนหน้าที่ 1.00 บาท/หุ้น
9.บริษัท เคเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTECH เข้าเทรด 1 ก.ย.47 ราคา IPO ที่ 7.00 บาท/หุ้น ถูกขึ้น SP ล่าสุด 1 เม.ย.53 จากการไม่ส่งงบการเงินในเวลาที่กำหนด ราคาหุ้นก่อนถูกขึ้น SP ที่ 1.16 บาท/หุ้น
10.บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC เข้าเทรด 11 พ.ย.52 ราคา IPO ที่ 2.90 บาท/หุ้น ล่าสุดถูกขึ้น SP เนื่องจากไม่นำส่งงบการเงินปี 2561 และมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% และยังอาจเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน โดยราคาปิดก่อนขึ้น SP อยู่ที่ 0.54 บาท/หุ้น
11.บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เข้าเทรด 9 มิ.ย.31 ราคา IPO ที่ 165.00 บาท/หุ้น ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.61 และมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ทำให้อาจเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน โดยราคาปิดก่อนขึ้น SP อยู่ที่ 0.20 บาท/หุ้น
12.บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR (เปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง คือ บมจ.นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ (HTX) บมจ.ลิฟวิ่งแลนด์ (LL) บมจ.วธน แคปปิตัล (WAT) ก่อนจะเป็น POLAR เมื่อวันที่ 21 ม.ค.58) เข้าเทรด 16 ส.ค.33 ราคา IPO ที่ 66.00 บาท/หุ้น ถูกขึ้น SP ล่าสุด 16 พ.ค. 61 จากไม่นำส่งงบการเงิน และอาจถูกเพิกถอนออก โดยราคาหุ้นปิดก่อนถูกขึ้น SP ที่ 0.15 บาท/หุ้น
13.บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) หรือ PRO เข้าเทรด 23 ก.ค.47 ราคา IPO ที่ 2.00 บาท/หุ้น ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา PRO ไม่สามารถส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 17 ส.ค. 2558 ตลท.ได้ประกาศขึ้นเครื่องหมาย SP อีกทั้งบริษัทยังเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน โดยราคาหุ้นก่อนถูกขึ้น SP อยู่ที่ 0.20 บาท/หุ้น
14. บริษัท ซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง จำกัด (มหาชน) หรือ STHAI เข้าเทรด 1 ส.ค.45 ราคาIPO ที่ 1.80 บาท/หุ้น ถูกขึ้น SP ล่าสุด 4 ก.ย.61 เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน รวมทั้งยังเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน โดยราคาหุ้นก่อนถูกขึ้น SP ที่ 0.91 บาท/หุ้น
15.บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSF เข้าเทรด 8 ธ.ค.48 ราคา IPO ที่ 7.10 บาท/หุ้น ถูกขึ้น SP ล่าสุด 1 มี.ค. 62 จากการที่บริษัทมีปัญหาด้านการดำเนินงาน จนไม่สามารถส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ TSF ถูกพักการซื้อขายต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 เดือน หากครบกำหนดกรอบเวลาแล้ว TSF ยังไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาซื้อขายเป็นปกติได้ ก็อาจเข้าข่ายถูกเพิกถอน โดยราคาหุ้นก่อน SP อยู่ที่ 0.02 บาท/หุ้น
16.บริษัท วีรีเทล จำกัด (มหาชน) หรือ WR เข้าเทรด 30 ก.ค.45 ราคา IPO ที่ 21.00 บาท/หุ้น ปัจจุบันจัดอยู่ในหุ้นกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงานเนื่องจากไม่สามารถส่งงบการเงินตามเวลาที่กำหนด และเป็นหลักทรัพย์ที่ถูกหยุดพักการซื้อขายต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 เดือนอาจทำให้ถูกเพิกถอนได้ในอนาคตหากไม่สามารถแก้ไขเหตุให้กลับมาซื้อขายหุ้นได้โดยปกติ
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้คำแนะนำสำหรับนักลงทุนทิ้งท้ายว่าเพื่อให้กระบวนการซื้อขายหุ้นเป็นไปตามกลไกตลาดและสภาพความเป็นจริง ตลท.จะไม่มีการกำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดของหลักทรัพย์ดังกล่าวในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 หรือวันแรกที่มีการซื้อขาย อีกทั้งจะไม่นำหลักทรัพย์เหล่านี้มารวมคำนวณในข้อมูลสถิติของตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจาก 16 หลักทรัพย์ข้างต้นถูก SP มานาน จึงขอให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังพิจารณาความเสี่ยงในการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวโดยละเอียดก่อนการตัดสินใจซื้อขาย ทั้งจากฐานะการเงิน ,ผลการดำเนินงาน, ความเห็นผู้สอบบัญชี, ผู้ถือหุ้นรายใหญ่, คณะกรรมการ, ข่าวย้อนหลัง เป็นต้น ตลอดจนความเสี่ยงและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน