นักเก็งกำไรทองคำกำลังยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะราคาทองคำทะยานขึ้นอย่างร้อนแรง ทะลุ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สร้างสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปี แต่บริษัทนายหน้าหรือโบรกเกอร์ซื้อขายทองคำล่วงหน้า โกลด์ฟิวเจอร์ส หรือทองคำกระดาษ กลับหน้าเศร้า เพราะแบกภาระขาดทุน จนต้องทยอยเลิกกิจการ
บริษัทโบรกเกอร์ซื้อขายทองคำล่วงหน้า (GOLD FUTURE) มีจำนวนทั้งสิ้น 7 ราย แต่หยุดกิจการไปแล้ว 1 ราย ควบรวมกิจการไปอีก 1 ราย จึงเหลือโบรกเกอร์ซื้อขายทำคำล่วงหน้าเพียง 5 ราย แต่กำลังจะหยุดกิจการเพิ่มอีก 1 ราย คือ บริษัท จีทีเวลธ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ของนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ
ทองคำล่วงหน้า เปิดซื้อขายครั้งแรกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 ในตลาดอนุพันธ์ โดยเริ่มต้นด้วยสัญญาซื้อขายทองคำน้ำหนัก 50 บาท อายุ 3 เดือน แต่ละสัญญามีมูลค่า 70,000 บาท และมีค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้าสัญญาละ 500 บาทต่อการซื้อหรือขาย 1 ครั้ง
ต่อมามีการแตกสัญญา เพื่อให้นักลงทุนรายย่อย มีโอกาสเข้ามาเล่นทองคำกระดาษได้มากขึ้น เป็นความพยายามขยายผู้เล่น เพื่อให้โบรกเกอร์ค้าทองคำกระดาษมีรายได้เลี้ยงตัวเอง โดยแตกสัญญาซื้อขายทองคำน้ำหนัก 10 บาท มูลค่าสัญญาเหลือ 14,000 บาท ค่าธรรมเนียมซื้อขายต่อสัญญาเหลือประมาณ 100 บาท
การซื้อขายทองคำกระดาษ ไม่ใช่เพื่อการลงทุน แต่เป็นการเก็งกำไรล้วนๆ เป็นการเดิมพันระหว่างคนสองคนที่มีทัศนะหรือมุมมองต่อทิศทางทองคำแตกต่างกัน โดยคนหนึ่งอาจมองว่า ทองคำมีแนวโน้มขึ้น ขณะที่อีกคนมองว่า ทองคำมีแนวโน้มลง จึงเดิมพันกันผ่านสัญญาซื้อขายทองคำกระดาษ
เมื่อคนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งต้องเสีย แต่ที่ได้แน่นอนคือ บริษัทโบรกเกอร์ซื้อขายทองคำล่วงหน้า เพราะมีลักษณะเป็นเสือนอนกิน ใครได้ใครเสีย โบรกเกอร์ไม่เกี่ยว คิดค่านายหน้าลูกเดียว
นักเล่นทองคำกระดาษ เล่นกันไปเล่นกันมา สุดท้ายเสียทุกคน เพราะค่าต๋งกินหมด แบ่งกันกินระหว่างบริษัทโบรกเกอร์และตลาดอนุพันธ์
ปัจจุบันมีรายการซื้อขายทองคำกระดาษล่วงหน้าเฉลี่ยวันละประมาณ 2 หมื่นสัญญา ซึ่งเท่ากับบริษัทโบรกเกอร์ทั้งระบบจะมีรายได้รวมประมาณวันละเกือบ 4 ล้านบาท โดยคิดค่าธรรมเนียมทั้งจากฝั่งซื้อและฝั่งขาย
แต่รายได้จากค่านายหน้าซื้อขายทองคำล่วงหน้าก็ยังไม่เพียงพอค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทโบรกเกอร์ และทำให้บริษัทโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ขาดทุน
มีเพียงโบรกเกอร์ซื้อขายทองคำล่วงหน้าเพียงบางรายเท่านั้นที่อยู่ได้ และพอเหลือกำไร นอกนั้นเจ๊งหมด เพราะสู้ต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่ไหว จะรอซื้ออนาคต โดยยอมทนเจ็บตัวต่อไปก็ไม่เห็นโอกาสฟื้น
เพราะการเพิ่มจำนวนนักเล่นทองคำกระดาษเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาทองคำปรับตัวลงหรือย่ำฐานแถว 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์
เว้นแต่ทองคำจะกลับสู่ช่วงขาขึ้น เช่น ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคนเฮโลกลับมาเล่นทองคำกระดาษกันอีก แต่ถ้าราคาทองดิ่งลง นักเก็งกำไรทองก็หายจากตลาดอนุพันธ์เหมือนเก่า
อนาคตทองคำกระดาษของตลาดอนุพันธ์ คงไม่สดใสนัก และไม่รู้ว่า โบรกเกอร์จะทยอยล้มตายไปอีกกี่ราย ส่วนความพยายามในการขยาย “เหยื่อ” รายใหม่ เป็นเรื่องแล้วแต่เวรแต่กรรม หรือแล้วแต่ทิศทางราคาทองคำ
ถ้าราคาตกต่ำ การซื้อขายจะซบเซา และนักเก็งกำไรคงหนีหาย ปล่อยให้โบรกเกอร์นั่งตบยุง แบกต้นทุนค่าใช้จ่าย จนกว่าจะทนไม่ไหว ต้องยอมเลิกราไป เช่นเดียวกับ จีทีเวลธ์ แมเนจเม้นท์ ของเสี่ยจิตติ
การซื้อขายทองคำกระดาษล่วงหน้า เป็นการเก็งกำไรที่ไม่จีรังยั่งยืน โอกาส “ได้” มีน้อยกว่าโอกาส “เสีย” เพราะการซื้อไปขายมา ต้องมีค่านายหน้า และการซื้อไปขายมาแต่ละครั้ง ไม่ได้หมายความว่าจะทำกำไรได้ทุกครั้ง แต่ต้องเสียค่านายหน้าทุกครั้ง
และการเก็งกำไรทองคำกระดาษ แตกต่างจากการเก็งกำไรทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณ เพราะทองคำกระดาษมีเงื่อนเวลาจำกัด เมื่อครบสัญญาต้องชำระส่วนต่างราคา ถ้าขาดทุนต้องตัดขาดทุน ขณะที่ทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณ สามารถซื้อเพื่อการลงทุนระยะยาวได้
ความจริงแล้ว ทองคำกระดาษล่วงหน้า ไม่ควรอุบัติขึ้นในประเทศไทยด้วยซ้ำ เพราะไม่มีประโยชน์ใดกับนักลงทุน ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดต่อระบบเศรษฐกิจ นอกจากยั่วยุให้ประชาชนหมกมุ่นเก็งกำไรกันเท่านั้น
ธุรกิจค้าขายทองคำกระดาษล่วงหน้า คงไม่มีโอกาสโต เพราะไม่สามารถขยาย “เหยื่อ” รายใหม่ได้มากนัก เพราะนักเก็งกำไรส่วนใหญ่เล่นแล้วเจ็บ จนเข็ดกันเป็นแถว