xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯเผยKR-ECIดีขึ้นเล็กน้อย-อานิสงส์มาตรการพยุงศก.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI)เดือนพ.ค. 2562 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดิมที่ระดับ 43.5 ในเดือนเม.ย. 2562 มาอยู่ที่ระดับ 43.7 ในเดือนพ.ค. 2562 จากความกังวลที่ลดลงต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สินเป็นสำคัญ โดยการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือน พบว่า ร้อยละ 16.7 ของครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจมีค่างวด (หนี้) ที่ต้องชำระลดลงในเดือนพ.ค. 2562 ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. 2562 ที่อยู่ที่ร้อยละ 10.6 ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนที่มีค่างวดที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ค. 2562 ก็มีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อเดือนก่อนหน้า จากเดิมที่ร้อยละ 23.9 ในเดือนเม.ย. มาอยู่ที่ร้อยละ 21.5 ในเดือนพ.ค. 2562

โดยสาเหตุหลักๆ เป็นผลมาจากการชำระค่างวด (หนี้) จากการกู้ยืม จำนำ หรือกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดเพื่อนำมาชำระค่าเล่าเรียนบุตรหลานที่ทางโรงเรียนทยอยเรียกเก็บในช่วงเดือนเม.ย. 2562 ไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการขอสินเชื่อใหม่เพื่อซื้อบ้าน รถยนต์ หรือเพื่อการลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนพ.ค. 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองที่กระทรวงการคลังออกนโยบายมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 เม.ย. จนถึง 31 ธ.ค. 2562

นอกจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว มาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2562 อื่น ๆ ก็มีส่วนช่วยประคับประคองการบริโภคภายในประเทศ จากการสำรวจเพิ่มเติมพบว่า ร้อยละ 57.6 ของครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจมองว่า มาตรการภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของตนเองในเดือนพ.ค. 2562 ได้จริง โดยมาตรการภาษีที่มีผลกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนมากที่สุด ได้แก่ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยและมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬาซึ่งช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับค่าซื้อสินค้าหมวดดังกล่าวในทางอ้อมด้วย

ส่วนดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI)ทรงตัวที่ระดับ 45.7 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการสำรวจในช่วงเดือนเม.ย. 2562 โดยในระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนมิ.ย. -ส.ค. 2562) ครัวเรือนมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ลดลง แต่มีความกังวลเรื่องภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลจากมาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2562 ที่มีส่วนช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้พิการ รวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในขณะเดียวกัน มาตรการภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 โดยเฉพาะมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองก็มีส่วนเร่งรัดให้ครัวเรือนตัดสินใจวางแผนขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยภายในปี 2562 เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี

โดยสรุปแล้วดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย(KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนพ.ค. 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ของกระทรวงการคลัง ประกอบกับได้ผ่านพ้นช่วงเดือนเม.ย. ที่มีการใช้จ่ายมากเป็นพิเศษไปแล้ว เช่น ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ค่าใช้จ่ายช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าจากอานิสงส์ของมาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2562 เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2562 ยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระดับราคาสินค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะอาหารสด ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากสภาวะฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนซึ่งเป็นผลของภาวะเอลนีโญที่มีโอกาสจะลากยาวไปจนถึงช่วงต้นปี 2563 นอกจากนี้ การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจจะยังผลเป็นลูกโซ่มายังสภาพคล่องของภาคธุรกิจและการจ้างงานภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง เช่น การเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม รวมไปถึงมาตรการเกี่ยวกับภาษี เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศช่วงครึ่งหลังของปี 2562
กำลังโหลดความคิดเห็น