ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - ภาพรวม 3 โครงสร้างธุรกิจ TWZ แม้ปัจจุบันยังมีรายได้หลักจากโทรคมนาคม แต่ก็ไม่วายหืดขึ้นคอ เพราะเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นต่ำ และยังต้องแข่งขันสูงกับแบรนด์คู่แข่งรายใหญ่จากจีนที่พัฒนาสินค้าจาก เฮ้าส์แบรนด์ เป็นโกลบอล แบรนด์ การกระจายลงทุนใน 3 ขาธุรกิจ จึงเป็นกลยุทธ์ที่จะการันตีความเสี่ยง
สถานการณ์ราคาหุ้นของ บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ ที่เคลื่อนใหวอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่ระดับราคา 0.10 บาท/หุ้น ยังถือว่าปรับตัวลดลงอย่างมาก หากเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับราคา 0.39 บาท/หุ้น หรือปรับตัวลดลงมากว่า -62.50% หากเทียบกับราคา ณ ปัจจุบัน ซึ่งหากมองถึงผลตอบแทนในการลงทุนรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ติดลบมากถึง -40%
ปัจจัยสำคัญที่กดดันทำให้ราคาหุ้นของ TWZ ปรับตัวลดลงนั้น มาจากการที่บริษัทยังคงพึ่งพารายได้หลักกว่า 90% ที่มาจากธุรกิจเทเลคอม ซึ่งถึงแม้จะปิดยอดขายกว่า 3,520.82 ล้านบาทในปี 2561 และ 869.95 ล้านบาทในไตรมาส 1 / 2562 แต่กลับพบว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นต่ำ เนื่องจากเป็นสินค้าที่เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกำลังซื้อระดับกลางและระดับล่าง แต่จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ต่อเนื่องและรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ส่งผลทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างมาก เช่นหากแบรนด์สินค้าในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน หรือ เฮ้าส์แบรนด์ ที่มีการยกเลิกการทำตลาด ในอดีตได้แก่กรณี G-Net หรือ Samart I-mobile ที่มีการยกเลิกการทำตลาดและระบายสินค้ารุ่นเก่า ก็จะมีการปรับลดราคาสินค้าที่จำหน่าย ทำให้เกิดกระแสการถล่มราคา เพื่อเคลียร์สินค้าในสต็อก ถึงแม้ว่าแบรนด์สินค้า TWZ ที่จำหน่ายในท้องตลาด จะมีราคาถูกกว่าสินค้าในกลุ่มตลาดระดับล่างมากถึง 30% แต่ก็ยังต้องแข่งขันกับแบรนด์สินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในประเทศไทย
ขณะที่สินค้าที่มาจากประเทศจีน จากเดิมที่เคยเป็นสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ในประเทศจีน ก็ได้มีการพัฒนาส่งเสริมการตลาดเช่น OPPO, VIVO, ZTE, One+ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบรนด์สินค้าที่ติดระดับโลกแล้ว ก็เป็นสินค้าที่มีทางเลือกให้กับทางผู้บริโภคมากขึ้น จากจำนวนรุ่นและราคาที่จำหน่าย ส่วนแบรนด์สินค้าที่เป็นระดับกลางและล่างหากเทียบกับสินค้ากลุ่มโทรคมนาคมที่อยู่ในระดับเดียวกัน ก็ถือได้ว่าแทบไม่มีคู่แข่งในตลาดในปัจจุบัน นอกจากสินค้าที่มีผู้นำเข้าจำหน่ายอิสระ ไม่มีศูนย์บริการในประเทศ ไม่มีใบอนุญาติรับรองจาก กสทช. ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากมองในส่วนของมาร์จิ้นจะอยู่ที่ 5-10% และยิ่งหากเป็น เน็ตมาร์จิ้นด้วยแล้ว จะเหลือเพีย 3-5% เท่านั้น
ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจพลังงานที่ TWZ ขายโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มออกไป เพราะต้องการเงินไปลงทุนในธุรกิจพลังงานประเภทอื่น เนื่องจากว่ากำไรที่ได้กลับมานั้นอยู่ในอัตราคงที่ ไม่มีโอกาสเพิ่มขึ้นถึงแม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นจะทำให้ต้นทุนถูกลง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงจากภาระค่าซ่อมบำรุงในการเปลี่ยนแผงเซลส์รับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งหากเทียบกับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่มีรายได้จากการรับจ้างกำจัดขยะ และราคารับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าที่สูงกว่ามาก โดยโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้มากกว่า เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงใน 1 วัน ต่างจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ไม่ถึงวันละ 10 ชั่วโมง ขณะที่การศึกษาผลตอบแทนของโครงการ (Project IRR) โรงไฟฟ้าขยะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 18-20% ซึ่งสูงกว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งได้ผลตอบแทนประมาณ 10-12% โดยโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรมจะเริ่มการขายไฟฟ้าได้เร็วที่สุดในปลายปี 2562 นี้
ปัจจัยบวกนอกจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมแล้ว TWZ ยังจะมีรายได้จากโรงงานคัดแยกขยะและรายได้จากการกำจัดขยะมีพิษและขยะอุตสาหกรรมเข้ามาอีก เนื่องจากโรงผลิตไฟฟ้านี้ใช้เทคโนโลยีพลาสม่า ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าหลายแห่งในรัสเซียและเยอรมนี ที่มีค่าความร้อนสูงและประสิทธิภาพในการจำจัดขยะในปริมาณมาก สามารถกำจัดขยะอุตสาหกรรมและขยะมีพิษจนไม่เหลือเศษซากที่จะกลับมาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากการฝังกลบซึ่งเป็นระบบกำจัดขยะแบบในอดีต โดยโรงไฟฟ้าขยะนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 3 MW และมีสัญญาขายไฟที่ 2.5 MW เหลือเป็นไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานคัดแยกและอัดแท่งเชื้อเพลิงที่จะนำเข้าสู่โรงไฟฟ้า ซึ่งประเมินว่าโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้จะสร้างรายได้ประมาณ 180 ล้านบาท/ปี โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Feed in Tariff หรือ FIT) ที่ 7.78 บาท/หน่วย ซึ่งสูงกว่าโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์ม
โดยที่ก่อนหน้านี้ TWZ มติให้ บริษัท เกียร์ ทู คอร์ปอเรชั่น (GEAR 2) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าลงทุนด้วยการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 52.63% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว ในบริษัท มิตรา คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MITRA) หรือคิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,368,304 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท จากบริษัท สุธี โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม โดยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 291 ล้านบาท และเข้าทำรายการภายในวันที่ 31 พ.ค.2562
"ธุรกิจเดิมคือการจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมยังคงมีการเติบโตได้แม้ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อย ซึ่งนั่นจึงเป็นเหตุผลให้บริษัทฯ พยายามหาธุรกิจอื่นเข้ามาเสริม โดยมุ่งเน้นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ในอัตราที่สูงโดยในปี 2561 TWZ มีรายได้จากธุรกิจสื่อสารประมาณ 3,300 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 97% ของรายได้ทั้งหมด ที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และพลังงานทดแทน ซึ่งการที่เราให้บริษัทลูกเข้าไปถือหุ้น บริษัท มิตรา คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด (PGC) จำกัดในสัดส่วน 99% ซึ่งดำเนินโครงการบริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด (PG&C) ที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จังหวัดอยุธยา โดยเป็นโรงไฟฟ้าระบบพาสม่าในการเผาและผลิตไฟฟ้าที่มีความสามารถในการกำจัดขยะจากกากอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 60 ตัน/วัน "นายพุทธชาติ รังคศิริ กล่าว
สำหรับการลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ TWZ ซึ่งมีโครงการพร้อมขายในปัจจุบัน 2 โครงการคือ เดอะ เพเซอร์ พัทยา มูลค่าโครงการกว่า 300 ล้านบาท โดยอยู่ในช่วงของการพิจารณาขายยกโครงการ และโครงการ The Wiz รัชดา ซึ่งโครงการนี้มีทั้งหมด 55 ห้อง ปัจจุบันเหลือที่ไม่มีสัญญาเช่าเพียง 19 ห้อง แต่เดิมเป็นโครงการที่ TWZ ให้เช่าระยะยาว แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน ทำให้คนตัดสินใจลงทุนได้ยากขึ้น ส่งผลให้ TWZ ปรับเปลี่ยนนโยบายจากขายขาด มาเป็นให้เช่าระยะสั้นระยะเวลา 3 ปี ส่วนโครงการที่ดินเขาใหญ่มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ก็อยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะขายให้กับผู้สนใจ
ส่วนธุรกิจอื่นๆ ของ TWZ ที่เตรียมจะเข้าไปลงทุนโดยอยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่า ยังถือว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม นั่นคือธุรกิจ Application เพราะได้มีการลงทุนใน บริษัท เมอริท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ในการพัฒนาและจำหน่าย Application ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาแนวโน้มการพัฒนาด้านซอร์ฟแวร์แอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ถือว่ายังมีช่องทางที่จะประกอบธุรกิจที่จะทำให้เกิดรายได้และกำไรได้อีกมาก
สิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของ TWZ คือการเข้าไปเจรจากับผู้ประกอบการรถจักรยานยนและรถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศจีน ที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งความได้เปรียบนั้นอยู่ที่แนวโน้มการตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และยังประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงมากกว่าหากเทียบกันกับยานยนต์ในรูปแบบเดิมๆ และค่าบำรุงรักษาหลังการขายที่ยังที่น้อยกว่ามาก
“เราไม่ได้มองว่ารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นแค่ยานพาหนะ แต่เรามองว่าเป็นเหมือนสมาร์ทโฟนเคลื่อนที่ เพราะสามารถที่จะใส่แอพพลิเคชั่นต่างๆ เข้าไปให้ทำงานได้เหมือนสมาร์ทโฟน ธุรกิจนี้จึงเชื่อมโยงกับธุรกิจของเราได้เป็นอย่างดี” นายนายพุทธชาติ กล่าว
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าราคาหุ้น TWZ ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันจะไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง จนทำให้บริษัทฯ ต้องทุ่มเม็ดเงินกว่า 120 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นคืน โดยจะเริ่มทยอยรับซื้อหุ้นคืนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระหว่างวันที่ 6 - 26 มิถุนายน 2562 นี้ แต่จาก 3 โครงสร้างธุรกิจ ทั้งโทรคมนาคม พลังงาน และอสังหาฯ ของ TWZ ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มทิศทางในอนาคตจะสามารถต่อยอด สร้างการเติบโตทั้งรายได้และกำไรให้กับบริษัท ถึงแม้ว่าเทรนเทคโนโลยีจะมีการแข่งขันกันสูงทั้งด้านคุณภาพและราคาตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา และวิกฤติความผันผวนของธุรกิจอสังหาฯ แต่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประชาชนในประเทศที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน จะเป็นกระจกสะท้อนความมั่นคงด้านรายได้ของ TWZ อย่างยั่งยืนในธุรกิจพลังงานได้อย่างไม่ยากเย็นนัก