ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DCORP รายงานผลการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,174.81 ล้านหุ้น ปรากฏว่า มีผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองซื้อทั้งสิ้น 843.00 ล้านหุ้น หรือประมาณ 75% ของหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขาย ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ถือหุ้นกลุ่มใดใจถึง ใส่เงินเพิ่มทุนหุ้นตัวนี้ ซึ่งผลประกอบการขาดทุนติดต่อหลายปี
คณะกรรมการ DCORP มีมติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 เพิ่มทุน จำนวน 1,174.81 ล้านหุ้น โดนเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ (พาร์ 1 บาท) กำหนดชำระค่าหุ้นระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคมที่ผ่านมา
DCORP เป็นหุ้นที่มีประวัติอันโชกโชน เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2522 แต่โซเซมาตลอด สร้างความเสียหายให้นักลงทุนหลายรอบ เปลี่ยนชื่อมาแล้ว 4 ครั้ง เปลี่ยนเจ้ามือมานับไม่ถ้วน
ชื่อเดิมของ DCORP คือ บริษัท อ่าวขามไทย หุ้นร้อนที่เปรียบเหมือนคู่แฝดกับหุ้นบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ โดยมีการปล่อยข่าวจุดพลุเก็งกำไรเป็นระยะ แต่ผลประกอบการย่ำแย่ จนเกิดการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อปี 2539 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซิโน-ไทย รีซอร์เซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ STRD ซึ่งกลุ่มชาญวีรกูลถือหุ้นใหญ่
ปลายปี 2555 ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่อีก และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเซีย จอยท์ พาโนราม่า จำกัด (มหาชน) หรือ AJP ซึ่งนักลงทุนตั้งสมญา หุ้นอาจารย์เพชร พระที่มีชื่อเสียงในแวดวงนักเล่นหุ้น และมีความสนิทสนมกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง
และหลังจากแก้ปัญหาฐานะของบริษัทได้สำเร็จ AJP ได้กลับเข้ามาซื้อขายใหม่ หุ้นอาจารย์เพชรได้สร้างปาฏิหาริย์ ราคาพุ่งทะยานอย่างร้อนแรง แต่หลังจากนั้นกก็รูดลงมาอีก ผลประกอบการก็ยังฟุบเหมือนเดิม ส่วนอาจารย์เพชร สึกโดยไม่มีสาเหตุ และมีข่าวว่า ย่องไปหลบอยู่ต่างประเทศ
ปี 2558 มีการเปลี่ยนบริษัทอีกครั้ง มาเป็น DCORP โดยกลุ่มเกษมวิลาศ และกลุ่มธนาวุฒวัฒนา ถือหุ้นใหญ่ โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 2,998 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 75.45% ของทุนจดทะเบียน
เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนแซ่ เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ใหม่แล้ว แต่พฤติกรรมหุ้น DCORP ยังคงไม่เปลี่ยน เป็นหุ้นร้อน มีข่าวลือเยอะ แต่ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง และมียอดขาดทุนสะสม 1,715.49 ล้านบาท
ปี 2561 DCORP มีรายได้รวมเพียง 13.75 ล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิ 419.61 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกปีนี้มีรายได้รวม 12.41 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 25.36 ล้านบาท
แม้ผลประกอบการจะขาดทุนยับ แต่ราคาหุ้นกลับหวือหวา โดยในรอบ 12 เดือน ราคาเคยถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 3.55 บาท ก่อนถูกทุบลงมาต่ำสุดที่ 35 สตางค์ ล่าสุด เคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 49 สตางค์ ต่ำกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม
หุ้น DCORP ระหว่างช่วงเวลาที่ต้องชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 50 สตางค์ จึงไม่น่าจะมีใครกล้าเสี่ยง ควักกระเป๋าเพิ่มทุน แต่กลับมีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิจองซื้อถึง 75% ซึ่งเป็นตัวเลขเท่ากับสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหมด
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้ถือหุ้นเดิมที่ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน มีเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่านั้น ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันมติเพิ่มทุน ไม่ยอมใช้สิทธิชำระค่าหุ้น โดยปล่อยให้รายย่อยเป็นเจ้าภาพใส่เงินเข้ามาในบริษัท ซึ่งเจ๊งไม่เป็นท่ามาหลายปี
การเพิ่มทุนของ DCORP น่าจะล้มไม่เป็นท่า เพราะไม่มีแรงจูงใจใดที่จะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวในกระดานก็ใกล้เคียงกับราคาหุ้นเพิ่มทุน ผลประกอบการที่ทรุดหนักต่อเนื่อง และไม่เห็นสัญญาณฟื้น
แต่ผู้ถือหุ้นกลับใส่เงินเพิ่มทุนใหม่กว่า 400 ล้านบาทเข้าไป ทำให้ให้ฝ่ายบริหาร DCORP มีเงินก้อนโตที่จะนำไปจับจ่ายอย่างสบายๆ
โจทย์ของ DCORP คือ ใครเป็นผู้ควักเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน ถ้าผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นผู้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นใหม่ทั้งหมด บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้มีปัญหาแน่
เพราะผู้ที่ผลักดันมติเพิ่มทุนกลับสละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มแมลงเม่าเป็นเจ้าภาพถมเงินเข้าบริษัทฝ่ายเดียว
และจะหมายความเป็นอื่นไม่ได้ นอกจาก ผู้ถือหุ้นใหญ่ DCORP จงใจวางแผนสูบเงินจากผู้ถือหุ้นรายย่อย