xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มก่อกวน IFEC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC จะมีคณะกรรมการชุดใหม่เข้าไปบริหารงานกว่า 2 เดือนแล้ว แต่การแก้ปัญหาภายในบริษัทมีความคืบหน้าน้อยมาก เนื่องจากมีความพยายามต่อต้านการทำงานของผู้บริหารชุดใหม่ในทุกรูปแบบ

นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ IFEC ซึ่งถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวโทษในความผิดทุจริต จนต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ยังกุมอำนาจการบริหารบริษัทลูก IFEC นับสิบแห่ง เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟู IFEC

และกังวลกันว่า หากกลุ่มนายวิชัย ยังบริหารบริษัทลูกอยู่ อาจสร้างความเสียหายให้ IFEC ซึ่งถือหุ้นบริษัทลูกอยู่ประมาณ 99% ของทุนจดทะเบียน คณะกรรมการชุดใหม่ จึงเร่งจัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทลูก เพื่อเลือกคณะกรรมการชุดใหม่แทนกลุ่มนายวิชัย

ผู้ถือหุ้น IFEC จำนวนกว่า 3 หมื่นคน ต่างตั้งความหวังว่า เมื่อกลุ่มนายทวิช เตชะนาวากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เข้ามาบริหาร การแก้ปัญหาจะราบรื่น แต่ทุกคนคิดผิด

เพราะเมื่อเข้าไปบริหาร IFEC มีสภาพเป็นกิจการที่เหลือแต่ซาก ไม่มีเงิน ไม่มีพนักงาน ไม่มีเอกสาร น้ำไฟถูกตัด เพราะค้างชำระ และมีคดีฟ้องร้องกว่า 200 คดี โดยรายได้จะต้องพึ่งจากบริษัทลูก แต่บริษัทลูกกลับอยู่ภายใต้การครอบงำของนายวิชัย

นอกจากนั้น การบริหารงานของคณะกรรมการชุดใหม่ ยังถูกจับตาทุกฝีก้าว โดยมีการจัดตั้งกลุ่มคนที่คอยเคลื่อนไหว ร้องเรียนการบริหารงานตลอดเวลา ทำให้การแก้ปัญหาต้องสะดุด

นายวิชัย แม้จะมีคดีท่วมหัว และบางคดีศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้ว เช่น คดีแจ้งความเท็จ ซึ่งถูกสั่งลงโทษจำคุกรวม 4 ปี แต่นายวิชัย ยังสู้หัวชนฝา ไม่ยอมเลิกราจาก IFEC ง่ายๆ บริหารบริษัทแม่ไม่ได้ แต่ยึดบริษัทลูกกว่าสิบแห่งไว้เป็นฐานที่มั่นแทน

คณะกรรมการชุดใหม่ ถ้าถอดใจ แผนฟื้นฟู IFEC ล่มทันที เพราะมีคดีฟ้องร้องนับไม่ถ้วน มีการจัดตั้งกลุ่มคนพยายามตีรวนการบริหาร แต่คณะผู้บริหารชุดใหม่ไม่ยอมท้อ และกรรมการหลายคนอยู่ในฐานะผู้ที่ได้รับความเสียหายจาก IFEC ในยุคที่นายวิชัย บริหาร จึงยืนหยัดที่จะแก้ปัญหาทีละเปลาะ แม้จะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใดก็ตาม

ภารกิจสำคัญของคณะกรรมการชุดใหม่คือ การเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทลูก IFEC ปลดกลุ่มนายวิชัย ออกพ้นจากบริษัทในเครือทุกแห่ง และนำผลกำไรบริษัทลูกส่งให้ IFEC เพื่อให้มีรายได้เพื่อฟื้นฟูการดำเนินงาน และเริ่มกระบวนการจัดทำงบการเงิน นำส่งตลาดหลักทรัพย์ ก่อนนำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขาย

การเปลี่ยนแปลงการบริหารบริษัทลูก IFEC ตามหลักการไม่น่าจะยุ่งยาก เพราะถือหุ้นใหญ่อยู่ประมาณ 99% แต่ในทางปฏิบัติกลับมีปัญหา เพราะนายวิชัย สู้ยิบตา ไม่ยอมทิ้งขุมทรัพย์ไปง่ายๆ และใช้ทุกช่องโหว่และทุกประเด็นข้อกฎหมายเพื่อประวิงเวลาให้นานที่สุด

ทั้งที่นายวิชัย ควรแสดงความรับผิดชอบ ถอนตัวจากเครือ IFEC ทั้งหมด ตั้งแต่ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ หรือถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกคดีแจ้งความเท็จแล้ว

ผู้ถือหุ้นกว่า 3 หมื่นคน รอการฟื้นคืนชีพของ IFEC มากว่า 2 ปีแล้ว และคงต้องก้มหน้ารอต่อไป แต่ไม่ใช่การรอคอยอย่างสิ้นหวังเหมือนก่อนหน้า

เพราะคณะกรรมการชุดใหม่กำลังเร่งเก็บกวาดขยะใน IFEC อยู่ เพียงแต่ถูกกลุ่มที่ซุกขยะไว้พยายามตีรวน ทำให้กระบวนการฟื้นฟูเป็นไปอย่างล่าช้าเท่านั้น

วาระเร่งด่วนของ IFEC คือ การยึดคืนบริษัทลูกจากกลุ่มนายวิชัย เพราะถ้ายึดคืนมาได้ การฟื้นฟูบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้จะเดินหน้าได้รวดเร็ว

และเมื่อยึดคืนได้แล้ว น่าจะมีคดีฟ้องร้องอาญากับกลุ่มที่สร้างความเสียหายใน IFEC ตามมาอีกชุดใหญ่ จนอาจมีคนที่ต้องติดคุกหัวโต



กำลังโหลดความคิดเห็น