xs
xsm
sm
md
lg

บล.เคทีบีหวังครึ่งปีหลังตลาดทุนดีขึ้น ลุ้นยุติปัญหาสงครามการค้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บล.เคทีบี มองครึ่งปีหลังดีขึ้น ลุ้นสงครามการค้าไม่ยืดเยื้อ ประเมินว่าการประชุม G20 ปลายเดือนนี้ คาดว่าจีนจะหาทางออกที่ลงตัว ยุติประเด็นความขัดแย้งให้เร็วที่สุด หวังลดความเสียหายจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มจะกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 62 ว่า ช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูง จากภาวะสงครามการค้าที่กดดันเศรษฐกิจไปทั่วทั้งโลก ซึ่งคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไป และอาจขยายไปยังคู่เจรจาอื่นนอกจากสหรัฐและจีนด้วย

อย่างไรก็ดี KTBST ประเมินว่าสงครามการค้าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และอาจสามารถหาข้อสรุปได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของประเทศคู่เจรจา รวมถึงเศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวจะกดดันให้คณะผู้เจรจาการค้าจำเป็นต้องหาหนทางยุติสงครามการค้าโดยเร็ว การเจรจากันที่สำคัญคาดว่าจะเริ่มในรอบการประชุม G20 ช่วงวันที่ 28 มิถุนายน 62 นี้ โดยคาดว่าจีนต้องการที่จะจบประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มจะกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใกล้จะหมดวาระ จำเป็นต้องมีผลงานเชิงประจักษ์อย่างการเจรจาต่อรองทางการค้ากับจีนให้เป็นผลสำเร็จและเป็นชาติแรกของโลก เพื่อใช้ในการหาเสียงในการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ช่วงปี 63 ต่อไป

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มองว่าการปรับตัวลดลงของสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น เป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นที่แนวโน้มการเติบโตในระยะยาว มีความมั่นคงทางการเมือง และมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่ต่ำ เช่น จีนและอินเดีย เป็นต้น

เนื่องจากประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 6 - 6.5% ต่อปี ในระยะยาวประเทศจีนตั้งเป้าจะเติบโตปีละ 5.5% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจและสูงกว่าประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวที่ 3% ซึ่งหากอัตราการเจริญเติบโตของจีนยังอยู่ในระดับดังกล่าว ภายในระยะเวลา 3 - 5 ปี ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าชาติมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน จีนยังดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายด้านภาษี การสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน ซึ่งสถานะทางการคลังของจีนยังอยู่ในระดับที่ดีมาก ด้วยปริมาณเงินทุนสำรองที่สูงถึง 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในโลก

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์การเติบโตของกำไรของตลาดหุ้นจีนในปี 62 อยู่ที่ประมาณ 17% ในขณะที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่ออัตราการเติบโต (PE to Growth ratio) อยู่ในระดับเพียง 0.78 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ถูกกว่าตลาดเกิดใหม่ที่ระดับ 2.8 เท่า และตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ที่ 1.6 เท่า

สำหรับอินเดีย ยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7% ต่อปี และมีเสถียรภาพทางการเมืองที่สูงขึ้น หลังจากการเลือกตั้งจบลงในช่วงวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นายนเรนทระ โมที ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน โดยภาพรวมของเศรษฐกิจอินเดียนั้น มีลักษณะเป็นกลุ่มประเทศ และเป็นรัฐศาสนา ซึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจจะมาจากภาคการบริโภคในประเทศ (Private Consumption)

ขณะที่ปัจจัยรองลงมาจะเป็นการลงทุนในประเทศจากภาคเอกชน (Private Investment) ซึ่งประเทศอินเดียมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำ โดยพบว่าดุลการค้าเมื่อเทียบกับ GDP คิดเป็นเพียง 10% ของ GDP ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของนายโมที จะช่วยหนุนให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพิ่มเติมไปจนถึงปี 66 ผ่านการสร้างถนนไฮเวย์ใหม่ ระบบประปาทั่วประเทศ การสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลสำหรับชุมชน ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจอินเดียสามารถเติบโตได้จากปัจจัยในประเทศเป็นหลักคล้ายกับประเทศจีนในช่วงปี 50 - 52 (Closed Economy) นอกจากนี้นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ PE ratio to Growth ของอินเดียอยู่ที่ 0.6 เท่า ซึ่งต่ำกว่าทั้งในตลาดโลกและตลาดเกิดใหม่

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นโอกาสในการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ อย่างจีนและอินเดียในช่วงที่ตลาดหุ้น ทั้งสองปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดีการลงทุนในต่างประเทศย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มเติม ทั้งในแง่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการลงทุนที่มีจำกัดกว่าการลงทุนในประเทศ และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาด้านความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น