“บีทีเอส” โชว์ศักยภาพ ผลดำเนินงานเตรียมเติบก้าวกระโดด25%ต่อปี แต่รายได้และกำไรจากธุรกิจรถไฟฟ้าและโฆษณาเติบโตอย่างโดดเด่น ตามเส้นทางที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดรุกเพิ่มทุนหวังระดมเม็ดเงินรองรับการขยายธุรกิจ พร้อมตั้งเป้าอีก 4 ปี ยอดผู้โดยสารแตะ 1.5 ล้านคน
เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS รายงานผลประกอบการงวดปี 2561/62 (สิ้นสุด 31 มี.ค.62) โดยบริษัทมีกำไร 2.87 พันล้านบาท ลดลง 34.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของกำไรจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการโอนกิจการทั้งหมด (EBT) ของอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทไปยังบมจ. ยู ซิตี้ (U) ลดลง หลังจากที่เคยบันทึกไปแล้วในปีก่อน
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 4.79 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 239.8% หรือ 33,821 ล้านบาท จากปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณาและธุรกิจบริการ **สิ่งที่น่าสนใจคือรายได้รวมจากระบบขนส่งมวลชน เติบโตอย่างโดดเด่น จากการรับรู้รายได้งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ตามการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ทั้งสาย
ขณะที่ธุรกิจสื่อโฆษณาสร้างรายได้สูงสุดนับตั้งแต่เปิดดำเนินการที่ 5.12 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% หรือ 1,221 ล้านบาท จากปีก่อน เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน
ทำให้ คณะกรรมการมีมติจ่ายปันผลเป็นเงินสด งวดดำเนินงานวันที่ 1 เมษายน 2561-31 มีนาคม 2562 อัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.25 บาทต่อหุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) วันที่ 30 กรกฎาคม 2562 วันที่จ่ายปันผล 15 สิงหาคม 2562
รุกระดมทุน: เพิ่มทุน-ออกวอร์แรนต์
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริษัทมีมติ ให้ลดทุนจดทะเบียน โดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่าย หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 6.26 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 5.28 หมื่นล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุน 2.46 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 4 บาท แบ่งเป็นการเพิ่มทุนแบบกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้เงินทุน ไม่เกิน 1.36 พันล้านหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) ครั้งที่ 5 (BTS-W5) ที่บริษัทจะออกจำนวนไม่เกิน 1.32 พันล้านหน่วยให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) โดยไม่คิดมูลค่า ในอัตราการจัดสรร 10 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หน่วย
ขณะที่วอร์แรนต์ดังกล่าวมีอายุ 1 ปี อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วย ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาการใช้สิทธิ 14 บาทต่อหุ้น ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือจะใช้รองรับการปรับสิทธิ BTS-W4 และการใช้สิทธิตาม BTS-WE ที่จะจัดสรรให้แก่พนักงานของบริษัท
นอกจากนี้จะการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ไม่เกิน 1.1 พันล้านหุ้น เพื่อเสนอขายบุคคลในวงจำกัด (PP) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริษัท และ/หรือ คณะกรรมการบริหารมีอำนาจดำเนินการต่างๆ ในการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อไป
ทั้งนี้ BTS ให้เหตุผลต่อการเพิ่มทุนครั้งนี้ว่า เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงินของบริษัท เพื่อให้มีความยืดหยุ่นทางการเงินในการดำเนินโครงการในอนาคต ซึ่งรวมถึงการลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง และเพื่อสำรองไว้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทเมื่อมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทตามใบสำคัญแสดงสิทธิ BTS-W5
ขณะที่การเพิ่มทุนแบบ General Mandate จะช่วยให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่สามารถใช้ในการรองรับแผนการลงทุนเพื่อขยายกิจการในอนาคตได้อย่างทันการณ์ ทั้งนี้บริษัทกำหนดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ ** BTS กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานปี 2562/2563 (เม.ย. 2562-มี.ค. 2563) รายได้ค่าโดยสารจะเติบโต 4-6% จากปีก่อน ซึ่งจำนวนผู้โดยสารก็จะเติบโตใกล้เคียงกัน โดยประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยทั้งปี 2562/2563 ที่ 7.9-8 แสนเที่ยวคนต่อวัน อีกทั้งจะมีรายได้จากงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่ 2 - 2.5 หมื่นล้านบาท
เนื่องจาก BTS มีแผนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 1 สถานี จากสถานีหมอชิตไปยังเซ็นทรัลลาดพร้าว ในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นช่วงปลายปี 2562 จะเปิดเดินรถต่อจนถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะที่ปัจจุบัน BTS มีผู้โดยสารวันธรรมดาเฉลี่ยที่ 7.7 แสนเที่ยวคนต่อวันแล้ว และวันศุกร์ผู้โดยสารเคยสูงถึง 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน โดยช่วงปลายปี 2563 จะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือได้ตลอดเส้นทาง และนั่นทำให้ในระยะเวลา 5 ปี (61-65) BTS ตั้งเป้ากำไรสุทธิเฉลี่ยเติบโต 25-30% ต่อปี
ส่วนความคืบหน้าการเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 สายทาง คือ สายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ และสีเขียวเหนือนั้น ล่าสุดกทม.อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาเจรจากับ BTS ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562
โดยหลักการเบื้องต้นที่กทม.ต้องการคือ อัตราค่าโดยสารสูงสุดทั้งสายสีเขียวหลักและส่วนต่อขยายรวมแล้วต้องไม่เกิน 65 บาทต่อคน ซึ่ง BTS ต้องขอเจรจากับกทม.ก่อนว่ามีเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ขณะที่ปัจจุบันผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยที่ 28 บาทต่อคน
มั่นใจอีก4ปียอดผู้ใช้บริการ 1.5ล้านราย
จากแผนงานดังกล่าว บริษัทคาดว่าในอีก 4 ปีจากนี้ ซึ่ง BTS เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ สีเขียวเหนือ สายสีชมพู และสายสีเหลือง (ที่จะเปิดให้บริการปี 2564) BTS จะมีผู้โดยสารรวมทั้งระบบที่ 1.5 ล้านคนต่อวัน และจะมีรายได้จากเงินอุดหนุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง (ตามสัญญาสัมปทานที่รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้ BTS) ตั้งแต่ปีแรกที่เปิดบริการอีกปีละ 4.7 พันล้านบาท
เดินรุกประมูลเพิ่มเส้นทางใหม่
นอกจากนี้ BTS ยังพร้อมเข้าแข่งขันรับงานรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 1.26 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงานก่อสร้าง 9.6 หมื่นล้านบาท และการจัดหาขบวนรถ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาครัฐกำลังจะเปิดประกวดราคา โดยจะเข้าแข่งขันโดยร่วมกับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เช่นเดิม และอาจหาผู้ร่วมทุนเพิ่มเติม
ส่วนการเข้าประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้นคาดว่าจะประกาศผลเดือนมิ.ย.นี้ โดยกลุ่มบริษัทมั่นใจว่าจะชนะการประมูล เนื่องจากได้ว่าจ้างผู้บริหารสนามบินนะริตะ ที่ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นผู้บริหารสนามบินให้แล้ว
โดยรวมจากแผนธุรกิจดังกล่าวของบริษัท ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าผลดำเนินงานปี 2562/63 ของ BTS จะมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากเส้นทางให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายใหม่ และส่วนต่อขยายที่เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยังรับรู้รายได้จากธุรกิจโฆษณาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้BTS จะเป็นอีกหนึ่งบริษัททีมีผลดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และเป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการประมูลรถไฟฟ้าสายใหม่ซึ่งมีพันธมิตรร่วมลงทุน มองว่าเรื่องดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัท อีกทั้งช่วยลดเม็ดเงินลงทุนจากการเปิดรับพันธมิตร ถือได้ว่ายิ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจลงทุนให้แก่บริษัทมากยิ่งขึ้น