xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯเผยสินเชื่อเม.ย.ยังขยับเพิ่้ม-อสังหาฯส่อแววชะลอ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยยอดสินเชื่อแบงก์เดือนเมษาฯขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อีก 2.67 หมื่นล้าน รับแรงหนุนจากการเบิกใช้สินเชื่อภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่ออสังหาฯเริ่มมีสัญญาณชะลอจากมาตรการ LTV จับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 โดยสินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน เม.ย. 2562 แม้เป็นเดือนแรกที่มาตรการ LTV ของธปท. เริ่มมีผลบังคับใช้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยสินเชื่อสุทธิยังคงขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อีก 2.67 หมื่นล้านบาทซึ่งทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อสุทธิพลิกเป็นบวกเล็กน้อย 0.12% YTD เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561

ทั้งนี้ สถานการณ์สินเชื่อในเดือนเม.ย. 2562 กลับมาได้รับแรงหนุนเพิ่มขึ้นจากสัญญาณการเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน ประกอบกับสินเชื่อรายย่อยบางประเภท มีแรงหนุนจากปัจจัยเชิงฤดูกาล เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ยังคงขยับขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของยอดขายรถยนต์ในประเทศที่มีแรงหนุนจากงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ช่วงปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา

ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มีสัญญาณชะลอลงในเดือนเม.ย. 2562 หลังจากที่ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 5.4 หมื่นล้านบาทโดยเฉลี่ยต่อไตรมาสในช่วงไตรมาสที่ 4/2561-ไตรมาสที่ 1/2562 ที่ผ่านมา ตามการเร่งตัวของกิจกรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อนมาตรการ LTV ของธปท. จะเริ่มบังคับใช้ ส่วนสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ภาพรวมสินเชื่อสุทธิ ชะลอการขยายตัวลงมาที่ 4.58% YoY ในเดือนเม.ย. 2562 จาก 4.98% ในเดือนมี.ค. 2562

ด้านเงินฝากในเดือน เม.ย. 2562 เร่งขึ้นมากกว่าสินเชื่อ ซึ่งมีผลทำให้ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ผ่อนคลาย โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืม (Loan to Deposit+Borrowing: L/D+BE) ณ เม.ย. 2562 ปรับตัวลงมาที่ 91.59% จากระดับ 92.29% ในเดือน มี.ค. 2562 และ 92.71% ณ สิ้นปี 2561 โดยยอดคงค้างเงินรับฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.39 แสนล้านบาทในเดือน เม.ย. 2562 ทั้งบัญชีกระแสรายวัน ออมทรัพย์ และประจำ จากทั้งบัญชีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และเงินฝากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม เงินฝากที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดมาจากธนาคารหลักเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากโอกาสการขยายสินเชื่อ และปัจจัยพิเศษที่ทำให้แต่ละธนาคารมีความเคลื่อนไหวต่อการระดมเงินฝากแตกต่างกัน อาทิ การทำตลาดเงินฝากออนไลน์ แต่การแข่งขันด้านราคาไม่ใช่ปัจจัยที่เกิดขึ้นในระยะนี้ เพราะขึ้นอยู่กับสัญญาณอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. และความชัดเจนในการฟื้นตัวของภาพรวมสินเชื่อและเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไป ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปีนี้ ยังมีโอกาสขยายตัวใกล้เคียงตัวเลขคาดการณ์ที่ 5.0% แต่จะติดตามปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแรงส่งการฟื้นตัวของภาพรวมสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมและกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ตลอดจนการปรับตัวของตลาดสินเชื่อรายย่อย หลังธปท. ยังส่งสัญญาณว่า อาจต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย (ทั้งดอกเบี้ย มาตรการ Microprudential และมาตรการ Macroprudential) เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเฉพาะรายละเอียดของเกณฑ์ที่เตรียมจะออกมาเพื่อช่วยดูแลความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น