โบรกเกอร์เสียงแตกกรณีสงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน ปะทุรอบใหม่ ฝ่ายประเมินส่อยืดเยื้อ-ลากยาว ดัชนีตลาดหุ้นอาจปรับตัวลดลงแตะ 1,500 จุด แนะนักลงทุนทยอยเก็บหุ้นพื้นฐานดี ราคาต่ำ ด้านสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เชื่อไม่ยืดเยื้อ ลุ้นโฉมหน้ารัฐบาล- ครม.ชุดใหม่ หวังเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน-ต่างชาติ หนุนดัชนีตลาดหุ้นทะลุ 1,750-1,8000 จุดภายในสิ้นปีนี้
หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 25% จากระดับ 10% เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าที่สูงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน สองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ขณะที่จีนออกมาตอบโต้ทันควันด้วยด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในอัตรา 25% โดยจะมีผลวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ส่งผลทำให้บรรยากาศการลงทุนในภูมิภาคในเชิงลบทันที
จากการประกาศตอบโต้สงครามทางการค้าสหรัฐฯ-จีน ต่างทำให้ทั่วโลกกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ ดัชนีตลาดหุ้น ตัววัดดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญอันหนึ่ง ได้ขานรับด้วยการปรับตัวลดลงอย่างหนักและต่อเนื่อง ไม่เว้นไม่แต่ตลาดหุ้นไทย พลอยได้รับผลกระทบและปรับตัวลงต่อต่อกันหลายวันเช่นเดียวกัน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวอยู่ในกรอบแคบๆ ตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา โดยมีราคาปิดต่ำสุดที่ 1,560.03 จุด เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 62 และจุดสูงสุดที่ 1,679.17 จุด เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะเจอมรสุมสงครามการค้า กดดันให้ดัชนีปรับตัวลดลงทั่วทั้งภูมิภาค โดยดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิด ณ วันที่ 16 พ.ค. 62 ที่ระดับ 1,614.75 จุด ลดลงจากวันก่อนหน้า 6.52 จุด หรือคิดเป็น 0.40% มูลค่าการซื้อขาย 60,378.41 ล้านบาท
หากเปรียบเทียบดัชนีตลาดหุ้นล่าสุด (16 พ.ค.) เทียบกับราคาปิด ณ วันสิ้นปี 2561 (28 ธ.ค. 61) ดัชนีตลาดหุ้นปิดที่ 1,563.88 จุด พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 50.87 จุด หรือคิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.25% เท่านั้น โดยนักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิรวมทั้งสิ้น 24,240.63 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 42,352.61 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 6,622.52 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย ขายสุทธิ 27,734.51 ล้านบาท
เทรดวอร์ 'ลากยาว' 'หุ้นไทย' หลุด 1,500 จุด
นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนคราวนี้คงไม่จบลงง่ายๆ เพราะสหรัฐต้องการประกาศให้รู้ว่าตัวเองยังเป็นประเทศมหาอำนาจ หลังจากที่จีนเริ่มผงาดขึ้นมามากขึ้น และกำลังจะแซงขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจในอนาคต
ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยนั้น น่าจะสามารถทนทานกับผลกระทบจาก "เทรดวอร์" ได้ เพราะไม่ใช่ประเทศหลัก ที่โดนผลกระทบทางการค้า แต่คงไม่ฟื้นตัวกลับมาสดใสในเร็วๆ นี้ รวมถึงการที่จะเห็นดัชนีทำสถิติสูงสุดใหม่ หรือ "นิวไฮ" รอบใหม่อาจต้องรอถึง 5 ปี จากสถิติสูงสุดปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1,850 จุด หรือจนกว่าสงครามการค้าจะมีข้อยุติ
"ในระยะสั้นๆ ภายในไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ปีนี้ ดัชนีมีโอกาสปรับตัวลงต่ำ โดยอาจเห็นระดับต่ำสุดที่ 1,500 จุด หรือ P/Eที่ 13.2 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 10 ปีได้ เพราะภาวะกดดันจากสงครามการค้า ที่จะฉุดภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกให้แย่ลง จะเป็นตัวฉุดให้ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ "ขาลง" เช่นเดียวกัน"
อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทย อาจจะไม่ได้รับตัวลงมากนัก เพราะที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไปเยอะแล้ว บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสำหรับนักลงทุน หรือ Safe Heaven ที่สามารถนำเงินมาพักไว้ ขณะเดียวกันในช่วงที่ตลาดหุ้นได้รรับปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้า ก็อาจจะเป็นช่วงจังหวะเข้าซื้อหุ้น หากราคาปรับตัวลง จนอยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือราคาหุ้น ต่ำกว่าราคาพื้นฐาน แต่ต้องดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวด้วย
ลุ้นสหรัฐฯ-จีนบรรลุข้อตกลงร่วม
นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า มุมมองต่อสงครามการค้าสหรัฐฯ จีน แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีแรก โอกาส 80% คือกรณี "No Pain No Deal" คือ จีนใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษี แต่มีโอกาสเจรจา ซึ่งกรณีนี้จะทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั้งจีนและสหรัฐฯ จะได้ผลกระทบในเชิงลบปานกลาง ก่อนที่จะเจรจาอีกรอบ โดยกรณีนี้ หากการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย ยังไม่บรรลุผล การรีบาวด์ของตลาดหุ้นจะไม่มีเสถียรภาพ ตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมทั้งไทยอาจมีการถูกขายทำกำไรระยะสั้นก่อนที่จะปรับตัวขึ้นอีกครั้ง
"หากเกิดกรณีนี้ขึ้น กลุ่มที่จะน่าสนใจคือกลุ่มที่เป็น การบริโภคภายใน แต่นักเก็งกำไรอาจจะซื้อกลุ่ม Cyclical เมื่อราคาอ่อนตัวอย่างมาก เพื่อหวังผลของการรีบาวด์แรง ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาได้สำเร็จ"
ส่วนกรณีที่ 2 โอกาส 20% คือ การเข้าสู่สงครามการค้าที่สมบูรณ์แบบหรือ Full Trade War จุดที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปอีก คือการที่สหรัฐอาจจะเพิ่มจำนวนสินค้าอีกจำนวน 3.25 แสนล้านดอลลาร์ จากสินค้านำเข้าจากจีนบนฐานภาษี 25% นอกเหนือจากสินค้าจำนวน 2 แสนล้านดอลลาร์ก่อนหน้านี้ และอาจนำไปสู่การเก็บภาษี 25% บนสินค้ากลุ่มยานยนต์ทั่วโลกนอกเหนือจากประเทศจีน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น สงครามการค้าชนิด Full Trade War จะนำไปสู่สถานการณ์ที่แพ้ทั้งคู่
"ถ้าการพัฒนาของสงครามทางการค้า พัฒนาถึงขั้น Full Trade War เศรษฐกิจโลกจะสุ่มเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession ในปี 2020 ค่าเงินหยวนของจีนจะอ่อนลง แต่ค่าเงินดอลลาร์จะไม่แข็งค่าขึ้น ค่าเงินเยนญี่ปุ่นจะแข็งค่าขึ้น และกลายเป็น Safe Haven Currency ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันจะปรับตัวลดลงอย่างมาก คาดว่าจีนจะออกมาตรการเศรษฐกิจชุดใหญ่ รวมทั้งมาตรการให้พักชำระภาษีชั่วคราว รวมทั้งมาตรการอุดหนุนทางภาษี จีนอาจออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย มุมมองคือ หุ้นที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวหรือหุ้นที่มีค่าอัลฟ่าสูง และหุ้นที่ Turnaround จะ Outperform" นายวิศิษฐ์ กล่าว
หวังโฉมหน้าครม.ใหม่เรียกความเชื่อมั่น
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า ยังมีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง เนื่องจากเชื่อว่าสงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะมีการเจรจาต่อรองกัน เพราะทั้งสหรัฐและจีนต่างไม่ได้ประโยชน์จากการขึ้นภาษีในครั้งนี้ จึงเชื่อว่าสงครามการค้าจะไม่ยืดเยื้อ
ส่วนการเมืองในประเทศ เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่น่าจะลงตัวแล้ว โดยขอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นบุคคลที่มีฝีมือและเป็นที่ยอมรับ จึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและต่างประเทศได้ เพราะขณะนี้สภาพคล่องทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูงจากอัตราดอกเบี้ยยังต่ำ แต่ต่างชาติไปพักเงินไว้ในตลาดเงินระยะสั้น ดังนั้น ถ้าสงครามการค้าคลี่คลายและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ลงตัว เงินทุนต่างชาติจะไหลกลับมาตลาดหุ้นไทย มองดัชนีหุ้นไทยปี 2562 อยู่ที่ 1,750 - 1,800 จุด
“สิ่งที่นักลงทุนเป็นห่วง คือ เรื่องเสถียรภาพและความต่อเนื่องของนโยบายหากรัฐบาลชุดใหม่อยู่ได้ไม่นาน นักลงทุนก็จะลงทุนแค่ระยะสั้น ดังนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้แค่ไหน” นายไพบูลย์ กล่าว
ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วง 1-2 เดือน ยังมีความผันผวน นักลงทุนติดตามความคืบหน้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวระยะสั้นอยู่ระหว่างแนวต้าน 1,680 จุด และ แนวรับ 1,600 จุด โดยเชื่อหุ้นไทยจะไม่ต่ำกว่า 1,600 จุด
ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ชะลอลงจากปีที่ผ่านมา คาดว่าเติบโตร้อยละ 3.4 การส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 หากสงครามการค้ายืดเยื้อจะกระทบการส่งออกไทยมากขึ้น ถ้าการส่งออกลดลงทุกร้อยละ 0.5 จะกระทบทำให้จีดีพีลดลงร้อยละ 0.04
ส่วนกำไรสุทธิของตลาดหุ้นอยู่ที่ 106.58 บาท คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 7.4 ขณะที่เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,705 จุด ระดับราคาต่อกำไรสุทธิที่ 16 เท่า
"ระยะสั้นการปรับฐานของตลาดหุ้นไทย เชื่อดัชนีจะไม่หลุดแนวรับ 1,580 จุด เนื่องจากเป็นระดับ P/E ที่ 15 เท่า ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจเข้าไปทยอยสะสมหุ้น แต่ระยะสั้นแนะหลีกเลี่ยงหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และสะสมหุ้นที่อิงกับการฟื้นตัวบริโภคและลงทุนในประเทศเป็นหลัก"