xs
xsm
sm
md
lg

CIMBTคาดQ1ศก.โต3.1%-จับตาการเมือง-สงครามการค้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบีไทยคาดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกโต 3.1% ระบุส่งออกยังติดลบ-การบริโภคเอกชนยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง จับตาช่วงที่เหลือของปีรอการเมืองชัดหนุนลงทุน-สงครามการค้ายืดเยื้อ พร้อมทบทวนเป้าจีดีพีหลังสภาพัฒน์ประกาศจีพีดีไตรมาสแรก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหาร สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ธนาคารคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2562 ขยายตัวได้ราว 3.1%เทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน หรือราว 1.3% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อการเติบโตยังเป็นด้านการบริโภคภาคเอกชน ที่น่าจะมาจากกลุ่มรถยนต์เป็นหลัก รองลงมาก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มท่องเที่ยวและสื่อสารเช่นเดิม คือการบริโภคกลุ่ม โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งและเครื่องมือสื่อสารขณะที่กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศคงชะลอหรือติดลบต่อเนื่อง เช่น กลุ่มอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ยาสูบ และเสื้อผ้ารองเท้า ซึ่งสะท้อนภาพกำลังซื้อที่ดีเพียงระดับกลาง-บน ขณะที่ระดับล่างอ่อนแอ เป็นผลมาจากรายได้ภาคเกษตรที่มีความเสี่ยงโตน้อยตามผลผลิตที่น้อย ภาวะภัยแล้งและราคายังต่ำ ส่วนรายได้นอกภาคเกษตรยังอ่อนแอจากชั่วโมงทำงานที่ไม่ได้ขยับมากนัก ซึ่งสะท้อนภาพการลงทุนที่เปลี่ยนไปแบบ automation มากขึ้น แต่แม้การลงทุนจะเกิดได้ ก็เน้นการลงทุนเครื่องจักรมากกว่าก่อสร้าง เห็นได้จากยอดเปิดขายที่อยู่อาศัยที่ชะลอ ส่วนการลงทุนภาครัฐยังล่าช้า มีตัวประคองคือการใช้จ่ายของรัฐบาลที่น่าจะเร่งขึ้นตามงบโอนด้านสวัสดิการ ขณะที่การส่งออกไม่ค่อยดีนักคาดว่าติดลบในช่วงไตรมาสแรก และการท่องเที่ยวก็แผ่วลงมาก

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนั้น ประเด็นความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลอาจกดดันภาคการลงทุนในช่วงไตรมาสที่สอง นักลงทุนอาจชะลอการลงทุนไปจนมีรัฐบาลใหม่ และถึงแม้เราจะได้รัฐบาลเสียงข้างมากในที่สุด ซึ่งถือว่าสบายใจได้ส่วนนึง แต่ถ้าเสียงปริ่มน้ำ อาจทำให้การออกกฏหมายสำคัญๆ ผ่านสภาฯยาก ซึ่งนักลงทุนคงให้น้ำหนักกับกฏหมายงบประมาณ ซึ่งหากผ่านงบปี 63 ได้ ไม่น่ากระทบเศรษฐกิจไทยปีนี้ อีกประเด็นคือความต่อเนื่องของนโยบาย พวก EEC รถไฟต่างๆ ซึ่งเชื่อทางรัฐบาลใหม่น่าจะดำเนินการต่อ และเมื่อรัฐบาลใหม่สร้างความชัดเจนและความเชื่อมั่นได้ การลงทุนน่าจะเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือต่างประเทศจากสงครามการค้าทำให้การส่งออกอาจติดลบยาวกระทบการลงทุนและการบริโภคเป็นลูกโซ่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนคงยากที่จะยุติ ตราบใดที่สหรัฐยังกลัวว่าจีนจะเป็นใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลก และภายในไม่เกิน 10 ปีนี้ขนาดเศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจสหรัฐ ดังนั้น การขึ้นภาษีคงเกิดในไม่ช้า และจะส่งผลให้การส่งออกของจีนมีปัญหา เศรษฐกิจจีนชะลอ การส่งออกอาเซียนรวมทั้งไทยไปจีนคงลำบาก ซึ่งจากเดิมธนาคารมองการส่งออกน่าจะโตได้ราว 3-4% แต่ตอนนี้การส่งออกติดลบในช่วงไตรมาสแรกและอาจติดลบลากยาวในช่วงไตรมาสที่สอง ซึ่งอาจทำให้การส่งออกไทยยากที่จะโตได้ตามที่คาดไว้ก่อนหน้า

ด้านอัตราดอกเบี้ยน่าจะคงไว้ที่ 1.75% ตลอดปี และด้วยสภาพคล่องที่มีมาก ธนาคารพาณิชย์ไม่น่าเร่งขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนทางกนง. จะส่งสัญญาณอย่างไรนั้นยังเชื่อว่าจะเป็นเชิงห่วงด้านเสถียรภาพตลาดเงิน นั่นคือยังไม่เปิดประตูดอกเบี้ยขาลง รวมถึงต้องดูถึงแรงกดดันจากธนาคารกลางรอบบ้านที่ต่างพากันลดดอกเบี้ยไปแล้วด้วย ขณะที่ค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าช่วงนี้มาจากความกังวลสงครามการค้า บาทแข็งเพราะเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง รายได้ท่องเที่ยวมีมาก ยิ่งหากราคาน้ำมันลดลง ไทยจะเกินดุลการค้ามากขึ้น เป็นผลบวกกับเงินบาทที่แข็ง มองต่อไป หากรัฐบาลมีเสถียรภาพ บาทอาจแข็งต่อได้จากเงินไหลเข้ามาลงทุน แต่อาจไม่ใช่แข็งค่าขาเดียว ผมยังมองว่าบาทมีโอกาสกลับไปอ่อนได้ที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหากมีความชัดเจนในตลาดโลก

โดยสรุป เศรษฐกิจไทยอาจโตช้ากว่าที่ธนาคารคาดว่าทั้งปีจะโต 3.7%เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จากความเสี่ยงที่มีมากขึ้น แต่มาจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก และอาจกดดันให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลงไปอีก ซึ่งหากสภาพัฒน์รายงานตัวเลขก่อนแล้ว ธนาคารจะทบทวนอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น